Type to search

สรุปโครงการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ KBTG ในยุคที่หัวใจต้องมีสองดวง? เจาะลึกวิธีการทำงานของทีม KBTG ในการพัฒนาระบบ ‘Double Core Banking’ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการเงินในอนาคต

February 05, 2025 By Phoothit Arunphoon

หากเปรียบเทียบ ‘KBank’ เป็นร่างกายที่แข็งแรง ระบบ Core Banking ก็เปรียบดั่งหัวใจของธนาคาร เป็นระบบที่ทำให้ธนาคารสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ทุกธุรกรรมการเงิน ไม่ว่าจะฝาก ถอน โอน จ่าย ล้วนเกิดขึ้นผ่านหัวใจดวงนี้

ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2568 KBTG หรือ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ได้จัดงานแถลงข่าว ‘KBTG Horizontal Core Banking’ เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับความสำเร็จในการสร้างหัวใจให้กับธนาคารอีกหนึ่งดวง หรือ ความสำเร็จในการพัฒนาระบบ Core Banking

โดยงานแถลงข่าวครั้งนี้ประกอบไปด้วยผู้บริหารของ KBTG ที่พร้อมจะแสดงวิสัยทัศน์และแบ่งปันประสบการณ์แห่งความสำเร็จของโครงการนี้ โดยเริ่มต้นที่คุณวรนุช เดชะไกศยะ (Executive Chairman, KBTG) ที่ได้เล่าถึงเป้าหมายของ KBTG ในแต่ละ Phase ตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นมาในปี 2016 ครอบคลุมไปถึง ‘KBTG’s Strategic Triangle 2025: Unleashing the Power’

ตั้งแต่การก่อตั้ง KBTG ในปี 2016 บริษัทก็มีเป้าหมายในแต่ละ Phase ที่แตกต่างกัน

  • ในช่วงปี 2016-2018 ถือเป็นช่วงการสร้างรากฐานเพื่อเดินหน้าต่อ
  • ในปี 2019-2023 KBTG ได้มุ่งเน้นสู่การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อการหยุดชะงักทั่วโลก
  • ในช่วง 2024-ปัจจุบัน นิยามได้ว่า KBTG 3.0 มุ่งเน้นสู่การเปลี่ยนแปลง Human-First x AI-First และอีกหนึ่งโครงการที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อย่าง Double Core Banking

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา KBank เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยมีตัวเลขผู้ใช้งานบริการ K PLUS อยู่ที่ 23 ล้านราย และ 24.3 ล้านสำหรับจำนวนลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นการเติบโตกว่า 37% พร้อมจำนวนการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนแอปพลิเคชัน K PLUS มากกว่า 11.6 พันล้านรายการ

ดูเหมือนว่าการเติบโตระดับนี้อาจดูเหมือนความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง มันคือ ความท้าทาย เพราะแต่เดิมการทำธุรกิจกรรมประจำวันนั้นไม่ได้เยอะมากมายเท่ากับยุคสมัยนี้ ที่ทุกคนสามารถทำธุรกรรมการเงินที่ไหน ช่วงเวลาไหนก็ได้

ด้วยเหตุผลนี้ KBTG จึงตัดสินใจ พลิกโฉมระบบ Core Banking ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ผ่านแนวคิด ‘Horizontal Core Banking’ หรือที่เรียกว่า ‘Double Core Banking’ เพื่อรองรับอนาคตของอุตสาหกรรมการเงินที่เปลี่ยนไปแน่นอนในอนาคต

[ KBTG’s Strategic Triangle 2025 – หัวใจหลักของการสร้างระบบที่แข็งแกร่งคือ ‘People’ ]

KBTG ไม่ได้มอง Horizontal Core Banking เป็นเพียงแค่โครงการ IT แต่มองเป็นการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ โดยเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมการเงินไทย ซึ่งขับเคลื่อนด้วย ‘KBTG’s Strategic Triangle 2025: Unleashing the Power’ ที่แสดงถึง 4 แกนกลยุทธ์หลัก Sustainable Innovation, Delivering Value Productively, World-Class AI & Tech Capabilities, และ Brilliant Basic Trust ที่ช่วยเสริมศักยภาพและสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจธนาคารได้

โดยหัวใจสำคัญของกลยุทธ์นี้คือ บุคลากร (People) เพราะการสร้างระบบที่แข็งแกร่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยทักษะและความสามารถของบุคลากรอีกด้วย

อีกทั้ง บุคลากร ยังเป็นกุญแจสำคัญของการดำเนินโครงการพัฒนาระบบ Core Banking ของ KBTG อีกด้วย

[ Doubling Core Banking – ‘หัวใจดวงที่สอง’ ที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรม ]

คุณจรุง เกียรติสุภาพงศ์ (Vice Chairman, KBTG) เล่าให้พวกเราฟังว่าก่อนหน้านี้ KBank ใช้ระบบ Core Banking แบบ ‘Single Core’ ซึ่งรองรับการทำธุรกรรมได้สูงมาก แต่ด้วยการเปลี่ยนไปของพฤติกรรมผู้ใช้งาน การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้ความกังวลว่าระบบแบบเดิมจะไม่สามารถรองรับการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไปได้

จึงเกิดมาเป็น ‘Doubling Core Banking’ โครงการที่ยิ่งใหญ่และท้าทายที่สุดของ KBTG เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการลูกค้ากว่า 60 ล้านบัญชี ในอนาคต

🔹 เป้าหมายของ Doubling Core Banking
คือ ขยายขีดความสามารถของระบบธนาคารให้สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น และเติบโตควบคู่ไปกับความต้องการของลูกค้า โดยมุ่งเน้นไปที่

✅ การเพิ่มความสามารถของระบบธุรกรรมทางการเงินขึ้นมากกว่า 50%
✅ การรองรับธุรกรรมของลูกค้าและการเติบโตของระบบไปจนถึงปี 2031
✅ การออกแบบระบบที่สามารถรองรับการขยายตัวได้ในระยะยาว

🔹 โครงการที่ต้องใช้ทรัพยากรและความร่วมมือมหาศาล
📌 183 Application ที่เกี่ยวข้องถูกปรับปรุงและพัฒนาให้รองรับการเปลี่ยนแปลง
📌 มีทีมงานมากกว่า 1,000 คน จากทั้ง KBank และ KBTG ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
📌 การดำเนินโครงการใช้เวลาทั้งหมด 22 เดือน

🔹 ความสำเร็จของโครงการ – ระบบไม่ล่มแม้แต่วินาทีเดียว ในช่วงเวลาพัฒนา
การเปลี่ยนแปลง Core Banking ครั้งนี้เกิดขึ้น โดยไม่มี Downtime หรือช่วงเวลาหยุดให้บริการแม้แต่วินาทีเดียว สิ่งนี้เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการวางแผน การทดสอบ และการประสานงานที่ยอดเยี่ยม ทำให้ลูกค้าของ KBank สามารถทำธุรกรรมได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงใดๆ

🔹 การลงทุนที่ยิ่งใหญ่เพื่ออนาคต
KBTG ทุ่มงบลงทุนกว่า 4,500 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงการนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างพื้นฐานของระบบธนาคารจะมีเสถียรภาพ และพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

🔹 Doubling Core Banking รากฐานของธนาคารแห่งอนาคต
โครงการนี้ไม่ใช่แค่การอัปเกรดระบบ แต่เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงเพื่อรองรับการเติบโตของ KBank ไปอีกหลายปี นี่คือ Core Banking แห่งอนาคต ที่จะทำให้ KBank ก้าวไปข้างหน้า อย่างมั่นคง ปลอดภัย และเติบโตอย่างยั่งยืน

[ 4 Insights จาก Working Team – อะไรที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จ? ]

คุณนพวรรณ ปฏิภาณจำรัส (Managing Director, KBTG) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำโครงการนี้ว่า เป็นโครงการที่ใช้เวลากว่า 22 เดือน และต้องอาศัยทีมงานมากกว่า 1,000 คน จากหลายแผนกเพื่อให้โครงการสำเร็จ ซึ่งภายใต้การทำงานร่วมกันของบุคลากรหลักพันคน คุณนพวรรณจำเป็นจะต้องอาศัยวิธีการสื่อสารและการทำงานที่แข็งแรง ซึ่งเปิดเผยให้เรารับรู้ผ่าน 4 Insights ว่าถ้าอยากจะทำโครงการใหญ่ให้สำเร็จจะต้องจัดการทีมทำงานอย่างไร!

1.Team Collaboration ทำอย่างไรให้ทีม Business และทีมของ Technology สามารถเข้าใจและทำงานร่วมกันได้ดี คำตอบคือต้องตั้งโดยต้องตั้งดรีมทีมขึ้นมาใหม่เพื่อสื่อสารกับทั้งสองฝั่ง โดยทีมคนกลางมีหน้าที่ช่วยย่อยข้อมูลให้ทีมธุรกิจเข้าใจ และสื่อสารกับทีมเทคโนโลยีได้ เพื่อเป้าหมายที่ตรงกัน ซึ่งอาจจะดูเหมือนระบบมดงาน

2.Change Management ธุรกิจต้องเดินหน้าควบคู่กับการขยายศักยภาพของระบบ โดยวิธีการคือขอความร่วมมือจาก Key Stakeholder ของฝั่ง Business มาเพื่อให้เห็นว่าการเพิ่มศักยภาพสามารถทำได้ควบคู่ไปกับการเดินหน้าธุรกิจ

  1. Test Strategy กลยุทธ์ของการทดสอบ KBTG ใช้เวลากว่า 10 เดือนในการทดสอบ โดยความสำเร็จมาจากการสร้างเครื่องมือวิเศษขึ้นมาเพื่อทดสอบโดยเฉพาะ

4.Deployment Strategy ซ้อมให้เหมือนจริงทำจริงให้เหมือนซ้อม โดย KBTG ซ้อมไปกว่า 21 รอบเพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ความเป็นไปได้ทั้งหมดของความน่าจะเป็น

[ Prepare for the Worst, Hope for the Best – การวางแผนรับมือเพื่อให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ]

คุณแก้วกานต์ ปิ่นจินดา (Deputy Managing Director – IT Service Availability, KBTG) ได้กล่าวถึงความท้าทายในการเปลี่ยน Core Banking ว่าไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะมันคือโครงสร้าง ที่เปรียบเหมือนหัวใจของระบบธนาคาร ถ้าเกิดข้อผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว มันสามารถส่งผลต่อระบบของธนาคารได้ทั้งหมด ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือลูกค้า จำนวนกว่าหลาย 10 ล้านคน

KBTG จึงเตรียมตัวด้วยหลักคิด ‘Prepare for the Worst, Hope for the Best’ หรือ เตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างจะออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

1.Incident & Problem Management – การบริหารปัญหาอย่างเป็นระบบ

KBTG รู้ว่าในการพัฒนาระบบครั้งใหญ่ ‘ปัญหาต้องเกิดขึ้นแน่นอน’ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องบริหารมันอย่างมีประสิทธิภาพ

📌 จาก Incident สู่ Problem Management

  • ปกติแล้ว Incident (เหตุการณ์ผิดปกติ) อาจถูกแก้ไขเป็นรายกรณี แต่ KBTG ใช้วิธี เปลี่ยนทุก Incident ให้กลายเป็น Problem ที่ต้องจัดการในเชิงลึก
  • ทำให้ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ป้องกันไม่ให้มันเกิดซ้ำ

📌 Problem Analysis & Initiatives – วิเคราะห์และหาทางออกเชิงรุก

  • ปัญหาทุกจุดถูกนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียด
  • มีการออกแบบ โซลูชันล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดิม
  • กระบวนการเหล่านี้ถูกฝังเข้าไปในทุกขั้นตอนของการพัฒนา เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อระบบเปิดใช้งานจริง จะไม่มีปัญหาตามมา

📌 Proactive Problem Handling – แก้ปัญหาเชิงรุก

  • ระบบถูกออกแบบให้สามารถระบุและแก้ไขปัญหาได้ก่อนที่จะส่งผลกระทบ
  • มี AI & Automation คอยมอนิเตอร์ความผิดปกติแบบเรียลไทม์
  • ถ้าพบว่าเกิดสิ่งผิดปกติ ระบบจะทำ Self-Healing หรือแจ้งเตือนให้ทีมงานแก้ไขทันที

2.Change Management – จัดการทุกการเปลี่ยนแปลงให้ไร้ปัญหา

📌 Project Plan & Freeze Schedule – วางแผนและกำหนดช่วง Freeze

  • ทุกการเปลี่ยนแปลงของระบบถูกกำหนด Freeze Period หรือช่วงเวลาที่ต้องมั่นใจว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม
  • แผน Freeze ถูกสื่อสารไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีใครทำการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่ระบบต้องเสถียรที่สุด
  • มีการอัปเดตตาราง Freeze ทุกเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าแผนงานเป็นไปตามที่วางไว้

📌 ITSM Tool Modification – ปรับแต่งเครื่องมือให้รองรับการเปลี่ยนแปลง

  • เครื่องมือ ITSM (IT Service Management) ถูกปรับแต่งให้สามารถแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีการร้องขอเปลี่ยนแปลงระบบ
  • มีการกำหนดขั้นตอนให้ Change Owner ต้องแจ้งให้ทีมที่เกี่ยวข้องทราบก่อนทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ

จากการวางแผนรับมือเพื่อให้การพัฒนาระบบออกมาสมบูรณ์แบบและไร้ปัญหา KBTG สามารถบรรลุเป้าหมาย ‘Zero Downtime’ และ ‘No Customer Impact’ ได้ นอกจากนั้นยังสามารถสำเร็จโครงการตามที่วางแผนไว้ได้ และระบบไม่หยุดทำงานแม้แต่นาทีเดียว

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้การบริหารโปรเจกต์ที่ยิ่งใหญ่นี้ได้สำเร็จ ต้องมีเบื้องหลังที่แข็งแรงอย่าง แนวคิด 3Cs

[ แนวคิด 3Cs ที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จ – หัวใจของการบริหารโปรเจกต์ระดับประเทศ ]

คุณภูวดล ทรงวุฒิชโลธร (Assistant Managing Director – Project Management, KBTG) ได้เปิดเผยเบื้องหลังความสำเร็จของ Horizontal Core Banking นั่นคือแนวคิด ‘3Cs’ ซึ่งเป็นหลักการบริหารโปรเจกต์ขนาดใหญ่ของ KBTG ประกอบไปด้วย

1.Communication หลักการสื่อสาร เพราะจำนวนบุคลากรกว่า 1,000 คน การประชุมกว่า 2,000 ครั้ง 183 แอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง และการทดสอบกว่า 30,000 เคส ทำให้ทุกคนต้องเข้าใจสถานการณ์เดียวกัน ห้ามมีการเข้าใจผิดเด็ดขาด

🔑 โดยหลักการสื่อสารจะสร้างความเชื่อมั่น

2.Collaboration หลักการความร่วมมือ ต้องพึ่งความร่วมมือกับ 50 แผนกขององค์กร และต้องได้รับความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เพื่อที่ทุกคนจะมุ่งไปยังเป้าหมายเดียวกัน

🔑 โดยหลักการความร่วมมือจะสร้างการลงมือทำ

3.Commitment หลักการความมุ่งมั่น ทุกคนมองเป้าหมายเดียวกัน โปรเจกต์นี้ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ KBTG เคยทำมา ทีมงานทุกฝ่ายต้องเตรียมตัวรับมือกับความท้าทาย ทุกคนต้องมี Ownership Mindset ที่มองว่าโปรเกจต์นี้เป็นภารกิจของตัวเอง
.
🔑 โดยหลักการความมุ่งมั่นจะสร้างผลลัพธ์

[ นี่ไม่ใช่แค่โปรเจกต์พันล้าน แต่นี่คือการวางรากฐานอนาคตของการเงินไทย ]

KBTG ไม่ได้แค่พัฒนาระบบ Core Banking แต่กำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมการเงินแห่งอนาคต โดย Horizontal Core Banking เป็นก้าวกระโดดของธนาคารไทย ที่จะรองรับการเติบโตของธุรกรรมดิจิทัลในอนาคตโดยไม่มีข้อจำกัด

ท้ายที่สุดนี้ ผู้ใช้งานอาจจะไม่ได้รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของระบบที่เรานำเสนอไป แต่สิ่งหนึ่งที่การันตีได้ คือหัวใจสองดวงของ KBank สามารถตอบโจทย์การทำงานด้านธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าทุกคนได้อย่างสะดวกสบาย และราบรื่นแน่นอน