Type to search

‘ขึ้นเงินเดือนสูงสุด 30%’ ส่องทิศทาง – ความหวังคนทำงานปี 2023

December 19, 2022 By Future Trends

หลังฝ่าฟันสู้มาทั้งปี 2565 (ค.ศ.2022) สถานการณ์ของผู้ประกอบการและคนทำงานในภาพรวมคงดีขึ้น หลายธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้ปกติ หลังจากทั้งโลกต้องสะดุดเนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา

กระนั้นบางส่วนของการทำงานได้เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น รูปแบบการทำงานที่หลายองค์กรได้ปรับนโยบายให้มีการทำงานแบบไฮบริด โดยให้พนักงานทำงานที่บ้าน (work from home) สลับกับการเข้าทำงานที่ออฟฟิศ หรือกระทั่งเป็นการทำงานผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายองค์กรเรียกร้องให้พนักงานเข้าทำงานที่ออฟฟิศ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่นที่เคยเป็นก่อนเกิดวิกฤตโควิด

การกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติของหลายธุรกิจ หมายถึงการกลับเข้ามาทำงานอย่างเต็มเวลาและรับเงินเดือนเต็มอัตราของเหล่าคนทำงานด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ หลายคนได้ประสบปัญหาถูกลดงานและลดเงินไป

ปี 2566 ทิศทางและความคาดหวังของคนทำงานจะเป็นอย่างไรต่อไป ?

ข้อมูลจาก โรเบิร์ต วอลเตอร์ส (Robert Walters) ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก เผยผลสำรวจอัตราเงินเดือนประจำปี 2566 รวมถึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตลาดการจ้างงานในประเทศไทย ระหว่างปี 2565 โดยระบุถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

1. ในปี 2566 คนจบใหม่หรือผู้ที่มีศักยภาพโดดเด่น อาจคาดหวังเงินเดือนปรับสูงขึ้นได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ โดยพนักงานปัจจุบัน สามารถคาดหวังการขึ้นเงินเดือนสูงขึ้น 2 – 5 เปอร์เซ็นต์ พนักงานที่เลื่อนตำแหน่ง สามารถคาดหวังสูงสุด 15 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับผู้ย้ายงานด้วยชุดทักษะพร้อมใช้งาน สามารถคาดหวังได้สูงสุด 30 เปอร์เซ็นต์

2. พนักงาน 50 เปอร์เซ็นต์ คาดหวังว่า เงินเดือนจะขึ้น 6 – 10 เปอร์เซ็นต์ โดยพนักงานมากกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่า การขึ้นเงินเดือนมีแนวโน้มเป็นไปได้สูง

3. อัตราเงินเฟ้อกดดันให้บริษัทต้องจัดแพ็คเกจเงินเดือนให้สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างในตลาดปี 2566 ซึ่งแรงกดดันจากเงินเฟ้อกำลังมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจขึ้นค่าจ้างของนายจ้างกว่า 72 เปอร์เซ็นต์ โดยค่าครองชีพเป็นประเด็นสำคัญอย่างมากสำหรับปี 2566

4. พนักงานกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ คาดหวังว่า นายจ้างจะพิจารณาถึงค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น พนักเกือบ 73 เปอร์เซ็นต์ พร้อมจะหางานใหม่ หากการขึ้นเงินเดือนไม่สูงกว่าระดับเงินเฟ้อ

5. บริษัทกว่า 92 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระดับผู้จัดการและผู้บริหาร คาดว่า การเพิ่มเงินเดือนจะอยู่ระหว่าง 1 – 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ 27 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงานระดับผู้จัดการ มีแนวโน้มได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนในอัตราระหว่าง 6 – 10 เปอร์เซ็นต์

6. บริษัทกว่า 84 เปอร์เซ็นต์ กังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนทักษะและความสามารถเฉพาะในกลุ่มธุรกิจของตน ซึ่ง 77 เปอร์เซ็นต์ มองว่า การขาดแคลนนี้ อยู่ในระดับตำแหน่งงานอาวุโส หัวหน้าทีม และระดับผู้จัดการ

7. ขณะที่ บริษัท 9 ใน 10 กำลังเน้นเพิ่มทักษะของพนักงานภายในที่มีอยู่ โดยส่วนใหญ่จะเน้นการฝึกอบรมภายในบริษัท

8. บริษัท 79 เปอร์เซ็นต์ มีกลยุทธ์ในการรักษาพนักงานไว้ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงการเรียนรู้และการพัฒนาที่ดีขึ้น และมีนโยบายการทำงานแบบไฮบริด ควบคู่กับการปรับสวัสดิการและการดูแลด้านความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงทบทวนอัตราค่าตอบแทนและการเลื่อนตำแหน่งนอกเหนือจากช่วงเวลาปกติ

9. พนักงานที่มีทักษะเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังในการขึ้นเงินเดือนที่สูงเกินไปนั้น ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดในการหาพนักงานของบริษัทกว่า 62 เปอร์เซ็นต์

10 .พนักงานให้ความสำคัญกับเป้าหมายงานที่ชัดเจน ความพึงพอใจในเนื้องาน และความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่ง 3 อันดับแรกที่พนักงานให้ความสำคัญต่อนายจ้างมากที่สุด ได้แก่ ค่าตอบแทนและผลประโยชน์ที่แข่งขันได้ (59%) เพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทำงานได้ดีที่สุด (47%) และการทำงานที่ยืดหยุ่น (40%)

ขณะที่ ข้อมูลผลสำรวจ Total Remuneration (TRS) ประจำปี 2565 จาก เมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล คาดการณ์ว่า ปี 2566 แนวโน้มการปรับขึ้นค่าตอบแทนของไทยอยู่ที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมอินเดีย) ที่มีอัตราปรับขึ้น 4.4 เปอร์เซ็นต์

ผลสำรวจยังคาดว่า การจ่ายโบนัสจะอยู่ที่ 1.3 – 2.5 เดือน โดยการจ่ายโบนัสสูงสุดอยู่ที่ 2.4 เดือน จากอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เติบโตดีในช่วงโควิด

นอกจากนี้ บริษัทในไทยกว่า 53 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีนโยบายการปรับเปลี่ยนกรอบอัตรากำลังพนักงาน และ 22 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนพนักงาน ขณะที่ 4 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า จะลดจำนวนพนักงานลง

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่า ทิศทางการทำงานไทยในปี 2566 โดยรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถประเมินความเป็นไปได้ต่างๆ เพื่อชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีบางธุรกิจได้ปรับขนาดองค์กรให้เล็กลง หนึ่งในการปรับคือการลดจำนวนพนักงาน เช่น กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งที่มีการลดพนักงานเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2565 ดังนั้น คนทำงานต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม

เขียนโดย Phoothit Arunphoon

Sources: https://bit.ly/3UYuZMn
https://bit.ly/3PsyFoo
https://bit.ly/3FxkLga
https://bit.ly/3uQ1zW6