อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัญหาเศรษฐกิจใหญ่ระดับโลกที่ค่อยๆ ก่อตัวจนปะทุความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ สิ่งที่สามารถสร้างความปั่นป่วนให้กับคนทั้งโลกได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศธรรมดาๆ หรือผู้บริหารระดับสูง ทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบกันทั้งนั้น
โดยปกติแล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจะมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ นั่นก็คือความต้องการสินค้าของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น จนไม่สามารถผลิตสินค้ามารองรับความต้องการได้ทัน กับต้นทุนการผลิตดีดตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องตัดสินใจขึ้นราคาสินค้า เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
และหากจะกล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อที่มีความรุนแรงในช่วงนี้ เป็นผลที่เกิดจากปัจจัยทั้งสองอย่างรวมกันก็คงไม่ผิดนัก เพราะสถานการณ์โลกที่รุนแรงอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงดิสรัปต์ (disrupt) ภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความบอบช้ำที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ฝากรอยแผลไว้ ก็ทำให้การดำเนินงานของทุกภาคอุตสาหกรรมเกิดการชะลอตัว ส่งผลลุกลามไปถึงอัตราการจ้างงานที่ต่ำลงไปอีก
แต่ในวันนี้ เราคงไม่ได้พาไปเจาะลึกถึงกลไกการดำเนินไปของภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ เพราะสิ่งที่ทุกคนต้องการทราบมากที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด คงเป็นผลกระทบของมันที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และวิธีการรับมือในยามที่ยังต้องอยู่กันต่อไปเช่นนี้
ดังนั้น เราจะพาไปสำรวจภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก และเทรนด์การบริโภคของผู้คนที่เปลี่ยนไปในยามที่ ‘เงินในกระเป๋ามีเท่าเดิม แต่ของแพงมากจนซื้อไม่ไหว’ ว่ามีอะไรกันบ้าง?
กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)
ถึงแม้ว่า ช่วงแรกที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใครๆ ก็สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ กดของใส่ตะกร้าในแอปฯ กันยกใหญ่ จนมีพัสดุมาส่งถึงบ้านแทบทุกวัน พฤติกรรมของผู้บริโภคในลักษณะนี้ ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดด และข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ระบุว่า ในปี 2021 กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นจากปี 2020 ถึง 6 เปอร์เซ็นต์
แต่ในตอนนี้ สถานการณ์ของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซกลับตาลปัตรจากเดิมพอสมควร เนื่องจาก เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีวิถีชีวิตที่ผูกติดกับการซื้อของออนไลน์อีกต่อไป รวมถึงปัจจัยจากภาวะเงินเฟ้อ ก็ทำให้คนไม่มีกำลังซื้อเท่าเดิม ซึ่งความซบเซาของตลาดอีคอมเมิร์ซไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทยเท่านั้น แต่เจ้าตลาดอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง ‘แอมะซอน’ (Amazon) ก็ยังได้รับผลกระทบด้วย เพราะรายได้สุทธิในไตรมาสล่าสุดของแอมะซอนลดลงจากเดิมถึง 52 เปอร์เซ็นต์
เมื่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซยังมีทีท่าที่ชะลอตัวอยู่ อุตสาหกรรมที่ผูกติดไว้กับอีคอมเมิร์ซ อย่างอุตสาหกรรมค้าปลีกที่เป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งโลกก็พลอยชะลอตัวตาม มิหนำซ้ำ อุตสาหกรรมค้าปลีกยังได้รับผลกระทบในกระบวนการผลิตด้วย โดยเฉพาะปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน จนต้องมีการปรับราคาสูงขึ้น
กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และของแต่งบ้าน
จริงๆ แล้ว การที่กลุ่มธุรกิจนี้ ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อจนซบเซาลง เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจสักเท่าไร เพราะในมุมของผู้บริโภคยามที่ไม่มีกำลังซื้อเท่าเดิม อะไรที่ไม่จำเป็น ตัดออกได้ก็ตัดออกไปก่อนเพื่อความอยู่รอดในตอนนี้ ทำให้สินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และของแต่งบ้าน จะถูกลดสถานะจาก ‘สินค้าจำเป็น’ สู่การเป็น ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ ทันที อีกทั้งเมื่อมีการชำรุด คนก็ต้องเลือกที่จะซ่อมมากกว่าซื้อใหม่อยู่ดี เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย
กลุ่มธุรกิจการบริการอาหาร
ในตอนนี้ กลุ่มธุรกิจการบริการอาหารที่หมายถึงธุรกิจที่ดูแลเกี่ยวกับการจัดเลี้ยงตามงานต่างๆ กำลังประสบกับปัญหาที่เรียกว่า ‘Pent-up Demand’ หรือความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค หลังจากที่การบริโภคต้องหยุดชะงักเพราะสถานการณ์บางอย่าง
ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมควบคุมโรคได้มีการออกกฎจำกัดการรวมกลุ่ม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ไม่มีการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองมานาน และเมื่อมาตรการการควบคุมโรคผ่อนคลายลง งานเลี้ยงที่รอคอยมาอย่างเนิ่นนานก็ได้ถูกจัดขึ้นพร้อมๆ กัน เป็นจำนวนมาก
และสิ่งนี้ ก็สอดคล้องกับกลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ‘เมื่ออุปสงค์หรือความต้องการซื้อสูงขึ้น ราคาของสินค้าจะสูงตาม’ ดังนั้น กลุ่มธุรกิจการบริการอาหาร จึงเป็นเหมือนหนึ่งในตัวกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ อีกทั้งเมื่อปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องมีราคาสูงขึ้น ตัวธุรกิจเองก็ได้รับผลกระทบจากการที่ต้องแบกรับต้นทุนไปด้วย จนกลายเป็นวงจรของแพงซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นอกจากกลุ่มธุรกิจที่เรานำมายกตัวอย่างในวันนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจอีกมากมายที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ถึงแม้ว่า ในตอนนี้ ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะดูเหมือนผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในอัตราที่สูงกว่าปกติอยู่ดี อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ก็ยังคงมีความตึงเครียดสูง รวมถึงไทยเองด้วย
ดังนั้น หนทางรอดที่เราในฐานะคนธรรมดา สามารถทำได้ง่ายๆ คือการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และถือเงินสดไว้ในมือให้ได้มากที่สุด หากต้องการลงทุน ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง เพราะยามที่เกิดเหตุฉุกเฉิน จะสามารถไถ่ถอนเงินออกมาใช้ได้ในทันที และที่สำคัญ การติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด จะทำให้เราสามารถอยู่รอดปลอดภัยท่ามกลางวิกฤตได้อย่างแน่นอน
Sources: https://econ.st/3N1LCUr
https://bit.ly/3NLUFZm
https://bit.ly/3NIsxWZ
https://bit.ly/3a9nsc2
https://bit.ly/3t6XKv