Microsoft vs Google: ศึกชิงความเป็นผู้นำในสนาม AI ที่กลายเป็นศึกระหว่าง CEO ชาวอินเดีย
นอกจากความสามารถอันทรงพลังของ ‘ChatGPT’ จะสร้างแรงกระเพื่อมให้คนในสังคมตื่นตัวกับความเก่งกาจของ AI ที่พัฒนาขึ้นทุกวัน ยังส่งแรงสั่นสะเทือนให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวด้านการบริหารงานและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จนทำให้เกิดการปฏิวัติบทบาทของมนุษย์ครั้งใหญ่โดยมี AI เป็นศูนย์กลาง
หลายบริษัทมองว่า AI จะเป็นสิ่งที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเทคโนโลยี และเป็นกุญแจสำคัญในการพาธุรกิจไปสู่หอคอยงาช้างที่คู่แข่งรายอื่นๆ ยากจะปีนตามขึ้นไป ทำให้ในปัจจุบัน หลายบริษัทยอมลงทุนในเทคโนโลยี AI ด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล จนเกิดเป็นดีลใหญ่ที่หลายฝ่ายจับตาโดยเฉพาะการทุ่มเงินกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐของ Microsoft เพื่อลงทุนใน OpenAI ผู้สร้าง ChatGPT
แม้การรับบท ‘พ่อบุญทุ่ม’ จะทำให้ Microsoft ต้องเสียเงินหลักหมื่นล้านดอลลาร์ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือโอกาสในการทิ้งห่างคู่แข่ง (แบบไม่เห็นฝุ่น) ผ่านการใช้ AI เสริมทัพสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม เช่น ใช้ ChatGPT เป็นผู้ช่วยสำหรับการจดโน้ตใน ‘Microsoft Teams Premium’ และพัฒนา ‘New Bing’ เสิร์ชเอนจินเวอร์ชันใหม่ที่ทรงพลังกว่าเดิม เป็นต้น
การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาสั้นๆ ของ Microsoft ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่า คู่แข่งคนสำคัญอย่าง ‘Google’ ที่มีผลิตภัณฑ์คล้ายคลึงกันทั้ง Google Workspaces ศูนย์รวมเครื่องมือการทำงานออนไลน์ และเสิร์ชเอนจินเรือธงที่ครองตลาดมาอย่างยาวนาน จะเดินเกมต่อสู้กับ Microsoft ที่มี ChatGPT ในมืออย่างไร เพราะตั้งแต่ความสามารถของ ChatGPT เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก อนาคตของ Google ก็เริ่มแขวนอยู่บนเส้นด้าย
ตอนนี้ ศึกชิงความเป็นผู้นำในสนาม AI ระหว่าง Microsoft กับ Google กำลังดำเนินไปอย่างร้อนระอุ แต่ละฝ่ายต่างงัดความก้าวหน้าในบริษัทมาประชันกัน แม้ Google จะเพลี่ยงพล้ำจากการเปิดตัว ‘Bard’ แชตบอตตัวล่าสุดอยู่บ้าง แต่การแข่งขันในสนาม AI เป็นเกมที่ยาวนานและไม่มีทางจบลงง่ายๆ ดังนั้น สองผู้เล่นรายใหญ่จะต้องมี ‘ไม้เด็ด’ มาประชันกันมากกว่านี้แน่นอน
แต่สิ่งที่น่าสนใจจากการแข่งขันครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่การเล่นแร่แปรธาตุ AI ให้ตอบโจทย์การใช้งานทางธุรกิจอย่างเดียว เพราะเป็นศึกของสองบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่มีผู้กุมบังเหียนเป็นชาวอินเดียทั้งคู่ โดย Microsoft เป็น ‘สัตยา นาเดลลา’ (Satya Nadella) และ Google เป็น ‘ซันดาร์ พิชัย’ (Sundar Pichai) ทำให้ศึกชิงความเป็นผู้นำในสนาม AI ระหว่าง Microsoft กับ Google กลายเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการเป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทระดับโลกของชาวอินเดียอีกด้วย
และไม่ได้มีเพียง Microsoft กับ Google ที่ผู้บริหารระดับสูงเป็นชาวอินเดียเท่านั้น แต่ Starbucks, Adobe, Chanel และบริษัทชั้นนำอีกมากมายก็มีผู้บริหารฯ เป็นชาวอินเดียเช่นกัน
ทำไมผู้บริหารระดับสูงในบริษัทระดับโลกถึงเป็นชาวอินเดียโดยส่วนใหญ่? Future Trends จะพาไปสำรวจปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อประเด็นนี้พร้อมๆ กัน
1. สัญชาตญาณการเอาตัวรอด ไม่แพ้ใคร
‘อินเดีย’ คือหนึ่งในประเทศที่มีประชากรเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และกำลังจะแซงหน้าจีนเป็นชาติที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกในไม่ช้า ทำให้ทรัพยากรในประเทศไม่ได้รับการจัดสรรอย่างทั่วถึงและเพียงพอ สิ่งที่ตามมาคือผู้คนต้องคิดหาวิธีเอาตัวรอดตลอดเวลา จนมีคำกล่าวจาก ‘อาร์. โกภาลากฤษณันท์’ (R. Gopalakrishnan) นักธุรกิจและนักเขียนชาวอินเดียว่า “ไม่มีประเทศใดในโลกที่ปลูกฝังสายเลือดนักสู้ได้เท่ากับอินเดียอีกแล้ว”
ประสบการณ์การเอาตัวรอดและการมีสายเลือดนักสู้อยู่ในตัว หล่อหลอมให้คนอินเดียมีคาแรกเตอร์พิเศษกว่าคนชาติอื่น การปรับตัวอย่างรวดเร็วหรือการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เป็นสิ่งที่บริษัทระดับโลกต้องเผชิญอยู่ตลอด ทำให้คาแรกเตอร์ของคนอินเดียเหมาะกับการเป็นผู้บริหารระดับสูงมาก
2. นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีล้ำหน้ากว่าใคร
‘อินเดีย’ เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงมาก นวัตกรรมหลายอย่างล้ำหน้าไปไกลกว่าประเทศอื่น รวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) หรือหลักสูตรที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดียยังได้รับการยอมรับเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมี ‘ทาเลนต์’ หรือคนมีความสามารถด้านเทคโนโลยีจากอินเดียเป็นจำนวนมาก พิสูจน์ได้จากการมีสตาร์ตอัปยูนิคอร์นในประเทศกว่า 100 บริษัท
3. ‘H-1B’ วีซ่าแห่งการเริ่มต้นใหม่
การก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารฯ ของบริษัทระดับโลก ไม่สามารถอาศัยปัจจัยจากประเทศต้นทางได้อย่างเดียว แต่ต้องอาศัย ‘การโอบรับ’ จากประเทศปลายทางด้วย
คุณสมบัติเลือดนักสู้ที่ไหลเวียนอยู่ในตัว และความสามารถที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ทำให้สหรัฐฯ ตัดสินใจดึงคนเก่งจากอินเดียด้วยวีซ่าทำงานประเภท ‘H-1B’ โดยแต่ละปีจะมีการอนุมัติวีซ่าประเภทนี้ให้คนอินเดียถึง 75 เปอร์เซ็นต์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนอินเดียเข้าไปทำงานในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก และการที่คนอินเดียก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารฯ ของบริษัทระดับโลกก็เป็นผลมาจากการที่ประเทศปลายทางเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ
3 ปัจจัยที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ทำให้ผู้บริหารฯ ของบริษัทระดับโลกเป็นชาวอินเดียไม่ได้มีแค่เรื่องความสามารถและโอกาสเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องสภาพสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย รวมถึงสื่อหลายสำนักยังคาดการณ์ว่า ในปี 2023 อินเดียจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบนเวทีโลกมากขึ้น และอาจเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ชาวอินเดียรุ่นใหม่ก้าวสู่การเป็นผู้บริหารฯ ของบริษัทระดับโลกได้เช่นกัน
Sources: http://bit.ly/3Ijl5BO