Type to search

ก้าวข้ามความอัจฉริยะของ AI ด้วย ‘พลังแห่งจินตนาการ’ ของมนุษย์

January 14, 2023 By Chompoonut Suwannochin
imagination-human-superpower

‘Future Trends: Forward’ ซีรีส์บทความรับปีใหม่ มองไปข้างหน้าในปี 2023 ทั้งทางธุรกิจ เทคโนโลยี การทำงาน และเหตุการณ์รอบโลก เพื่อคาดการณ์เทรนด์สำคัญที่รออยู่ในอนาคต

ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) มีความก้าวล้ำขึ้นทุกวัน จน AI กลายเป็นเทรนด์ใหญ่ซึ่งคนทั่วโลกมองว่า อาจเข้ามาครองโลกและทดแทนแรงงานคนในหลากหลายธุรกิจและอุตสาหกรรมในไม่ช้า

บริษัทต่างๆ ล้วนใช้ AI วิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อช่วยแก้ปัญหาและค้นหาคำตอบทางธุรกิจ จนแทบไม่มีใครได้เปรียบใครในการแข่งขันอีกต่อไป ขณะที่ AI และ Big Data ก็ล้วนทำงานด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีต ท่ามกลางสมมติฐานที่ว่า พรุ่งนี้จะเหมือนกับเมื่อวาน

นั่นเป็นเหตุผลให้ เคนเนธ คุกกีเออร์ (Kenneth Cukier) เจ้าของหนังสือ Framers: Human Advantage in the Age of Technology and Turmoil และ วิกเตอร์ เมเยอร์-สโคนเบอร์เกอร์ (Viktor Meyer-Schonberger) อาจารย์ด้านการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ของสถาบันอินเทอร์เน็ตออกซฟอร์ด (Oxford Internet Institute) มองตรงกันว่า ปี 2023 จะเป็นปีที่องค์กรต่างๆ ก้าวข้าม AI เพราะไม่มีใครได้เปรียบจากสิ่งนี้อีกต่อไป แต่จะหันไปให้ความสำคัญกับ ‘จินตนาการ’ กันมากขึ้น

ทั้งคู่พูดถึงประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจในนิตยสาร The WIRED World in 2023 ว่า ‘ต่อให้ AI จะเก่งกาจสักแค่ไหน ก็ไม่มีวันแทนที่มนุษย์ได้’

เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร? Future Trends จะมาสรุปให้ฟังกัน

เก่งมาจากไหน AI ก็แพ้มนุษย์อยู่ดี

imagination-human-superpower 1

คุกกีเออร์ และเมเยอร์-สโคนเบอร์เกอร์ กล่าวว่า ความตื่นตัวเรื่องการใช้ Big Data มาขับเคลื่อนการตัดสินใจของผู้บริหาร (Data-driven decision-making) เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2011 เมื่อผลวิจัยพบว่า การตัดสินด้วย Big Data ช่วยให้บริษัทได้เปรียบคู่แข่ง และสามารถทำให้ผลลัพธ์ทางธุรกิจดีขึ้นได้ถึง 6 เปอร์เซ็นต์

หลังจากนั้น ทั่วโลกก็แห่มาใช้การวิเคราะห์ Big Data เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคของ AI ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการช่วยวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ล้วนอาศัยสถิติในอดีตเพื่อทำการวิเคราะห์

แต่ในปี 2023 โลกมีความไม่แน่นอนมากมาย ทั้งสงคราม โรคระบาด ภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย และความไม่มั่นคงทางอาหารและพลังงาน ทำให้ข้อมูลเก่าๆ อาจใช้วิเคราะห์อนาคตได้ยากขึ้น ประกอบกับทุกองค์กรล้วนมี AI และ Big Data ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเหมือนๆ กัน ทำให้แทบไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน

ดังนั้น ‘พลังแห่งจินตนาการ’ ของมนุษย์ ซึ่ง AI ยังทำไม่ได้ จึงมีความสำคัญ และจะเป็นพลังขับเคลื่อนองค์กรในยุคต่อไป 

ยุคนี้แก้ปัญหาจากข้อมูลอย่างเดียวไม่พอ

ถึงข้อมูลจะเป็นตัวช่วยที่ดี แต่เมื่อเผชิญกับปัญหาในสภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง เราไม่สามารถประมาณค่าวิธีแก้จากข้อมูลที่ผ่านมาได้ เพราะในความเป็นจริง การจินตนาการถึงความเป็นไปได้ ทางเลือกใหม่ๆ และผลที่จะตามมา ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผลลัพธ์ออกมาดี

ในยุคต่อไป บทบาทของข้อมูลจะลดลง คนจะหันมาใช้จินตนาการ และการกำหนดกรอบความคิดเพื่อบริหารจัดการสิ่งต่างๆ กันมากขึ้น ซึ่งความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ จะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ

คุกกีเออร์ และเมเยอร์-สโคนเบอร์เกอร์ ยกตัวอย่างเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้วในบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง Netflix หลังเจอปัญหาการเติบโตทางธุรกิจประสบภาวะชะงักงันกลางปี 2022 แทนที่ Netflix จะแก้ปัญหาด้วยการวิเคราะห์เดต้าเพื่อปรับระบบแนะนำคอนเทนต์ ปรับราคา หรือออกแบบรายการโชว์ใหม่ๆ เหมือนในอดีต แต่ผู้บริหารกลับเลือกใช้วิธีคลาสสิกอย่างการสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ ด้วยการเตรียมสั่งห้ามไม่ให้แชร์พาสเวิร์ดในการเข้าใช้งานแพลตฟอร์มของตน

รู้เท่าทัน AI และใช้เป็นเครื่องมือเสริมจินตนาการ

imagination-human-superpower 2

แม้ความสนใจในการใช้จินตนาการของมนุษย์มาขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจยุคใหม่จะเป็นเทรนด์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วไม่แพ้ความก้าวหน้าของ AI แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า AI จะหมดประโยชน์ หรือไร้ความสำคัญ

โลกยุคต่อไปในมุมมองของ คุกกีเออร์ และเมเยอร์-สโคนเบอร์เกอร์ คือ มนุษย์จะรู้เท่าทัน AI และใช้ AI เป็นเครื่องมือเพื่อต่อยอดจินตนาการของตน

เขายกตัวอย่างระบบ AI สร้างคอนเทนต์อย่าง GPT-3 และ DALL.E ซึ่งล้วนเกิดขึ้นจากมันสมองและจินตนาการของมนุษย์ในการเขียน ‘ระบบสั่งการ’ เพื่อให้มันทำงานได้อย่างชาญฉลาด หรือพูดอีกอย่างก็คือ มนุษย์คือคนคิดค้น ส่วน AI เป็นเพียงเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นมา

บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ยกตัวอย่าง Cognizant ก็ให้ความสำคัญกับมนุษย์เช่นกัน โดยมอบอำนาจให้พนักงานได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ยึดติดกับข้อมูลหรือตัวเลขเพียงอย่างเดียว

Cognizant ยังร่วมกับบริษัทให้บริการทางการเงินชั้นนำทำโครงการนำร่อง โดยให้พนักงานเข้าคอร์สฝึกทักษะทางสังคม (soft skills) อย่างการทำงานเป็นทีม และการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผลปรากฏว่า บริษัทที่ส่งพนักงานเข้าร่วมโครงการนี้มี productivity ดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และสามารถส่งมอบโค้ดซอฟต์แวร์ให้กับลูกค้าได้เร็วขึ้นจากเฉลี่ยใช้เวลา 3 เดือน เหลือไม่ถึง 2 สัปดาห์

ทั้งหมดนี้ คือ ตัวอย่างที่ตอกย้ำความสำคัญของจินตนาการ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 ในมุมมองของ คุกกีเออร์ และเมเยอร์-สโคนเบอร์เกอร์

ต่อให้การมาของ AI จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และนวัตกรรมที่ก้าวกระโดดแก่มวลมนุษยชาติมากแค่ไหน แต่ตอนนี้ ก็ยังเป็นแต้มต่อของมนุษย์ที่มีท่าไม้ตายอย่าง ‘พลังแห่งจินตนาการ’ ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกวิธี AI ก็จะยิ่งช่วยให้ชีวิตง่าย และสะดวกสบายกว่าเดิมหลายเท่าตัว

Source: นิตยสาร The WIRED World In 2023

Trending

Chompoonut Suwannochin

Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง