ไม่มั่นใจในตัวเอง เราจะเป็นหัวหน้าที่ดีได้หรือเปล่า? ลองใช้ ‘Ikigai’ เทคนิคเสริมความมั่นใจที่ We Forum แนะนำ
“เราจะเป็นหัวหน้าที่ดีได้หรือเปล่า?”
คงเป็นคำถามที่หัวหน้ามือใหม่ถามกับตัวเองอยู่บ่อยๆ ยิ่งคนที่จู่ๆ ได้รับการปรับตำแหน่ง จากพนักงานธรรมดามาเป็นหัวหน้าหรือเมเนเจอร์แบบปุบปับ ยิ่งรู้สึกกลัวและไม่มั่นใจมากขึ้นไปอีก เพราะนี่คือ ‘ครั้งแรก’ ที่เราได้เป็นหัวหน้าในสนามของความเป็นผู้ใหญ่ ที่มีโอกาสให้ลองผิดลองถูกน้อยเหลือเกิน
คำว่า ‘ครั้งแรก’ มาพร้อมความตื่นเต้น ความกลัว และความกังวลเสมอ เพราะเป็นการเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ยิ่งการเป็นหัวหน้าที่ต้องดูแลคนในทีม และบริหารงานให้บรรลุเป้าหมายตามตัวเลข KPI หรือ OKR ที่วางไว้ด้วยแล้ว ยิ่งสร้างความกังวลมากกว่าเดิม
อีกทั้งตอนที่เป็นเพียงพนักงานธรรมดา เราก็ทำงานเฉพาะส่วนที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนว่า งานในส่วนอื่นๆ เขาทำกันอย่างไร การขึ้นมาเป็นหัวหน้า แล้วไม่เข้าใจงานทั้งหมดที่ทีมทำ เราจะกลายเป็นตัวถ่วงของทีมหรือเปล่า และคนในทีมจะเชื่อมั่นในตัวเราไหม ความกังวลที่ถาโถมเข้ามาเรื่อยๆ ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นความไม่มั่นใจไปในที่สุด
และสิ่งที่กล่าวมา ก็เป็นเพียงความไม่มั่นใจที่เกิดจากความคิดของหัวหน้าเอง ยังไม่รวมปัจจัยภายนอกอย่างการที่ต้องทำงานกับลูกทีมที่เป็น ‘ทาเลนต์’ (talent) หรือดาวเด่นมากความสามารถที่หยิบจับทำงานอะไรก็ดีไปหมด แต่เชื่อมั่นในตัวเองสูง ไม่ฟังใคร และลูกทีมที่มีอายุมากกว่า ก็ทำให้รู้สึกว่า เราเหมือนติดอยู่ในกับดักของ ‘ระบบอาวุโส’ (Seniority) จนทำอะไรไม่ได้
แล้วหัวหน้ามือใหม่จะหลุดพ้นจากกับดักของความกดดันที่เกิดขึ้น และเสริมความมั่นใจให้ตัวเองกลายเป็นหัวหน้ามากความสามารถอย่างไรได้บ้าง?
วันนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับศาสตร์การพัฒนาตัวเอง และการเสริมสร้างความมั่นใจที่สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) แนะนำว่า เป็นศาสตร์ที่ทำแล้วได้ผลจริง และมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ ซึ่งเป็นศาสตร์จากญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ‘อิคิไก’ (Ikigai) นั่นเอง
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘อิคิไก’ จากหนังสือหรือสื่อต่างๆ กันมาบ้างแล้ว โดยหัวใจหลักที่เป็นความหมายของอิคิไก ก็คือ ‘ความหมายของการมีชีวิตอยู่’ หรือสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า การมีชีวิตอยู่นั้นมีคุณค่า ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ เพียงแค่เกิดจากความสมดุลระหว่างความหลงใหลและหน้าที่การงาน ก็นับว่าเป็นอิคิไกแล้ว
ถึงแม้ว่า หลักการของอิคิไกจะมีความเป็นนามธรรมมากๆ และยากต่อการอธิบายให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังนำไปใช้ในการอธิบายเกี่ยวกับแก่นแท้ หรือความยั่งยืนของชีวิตที่อาจจะมีความไกลตัวมากเกินไป แต่จริงๆ แล้ว อิคิไกสามารถนำมาปรับใช้กับการสร้างความมั่นใจในตัวเอง และสร้างสมดุลของการทำงานอย่างมีความสุขได้ดังนี้
1. เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ
ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้า หลายๆ คนอาจจะติดภาพว่า คนเป็นหัวหน้าต้องทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ต้องบรรลุเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ แต่การที่คิดเช่นนี้ มีแต่จะสร้างความกดดันให้ตัวเองเปล่าๆ ซึ่งสิ่งแรกที่หัวหน้ามือใหม่ควรโฟกัส ไม่ใช่ตัวเลข KPI หรือ OKR ที่ต้องพิชิตให้ได้ แต่เป็นการปรับจูนการทำงานให้เข้ากับคนในทีม อะไรที่ไม่รู้ ก็ค่อยๆ เรียนรู้กับคนในทีมไป เมื่อการทำงานในทีมราบรื่น การพิชิตเป้าหมายใหญ่ๆ หรือการเอาชนะตัวเลข KPI หรือ OKR จะไม่ใช่เรื่องยากอย่างแน่นอน
2. ปลดปล่อยความเป็นตัวเองออกมา
บางครั้ง ความไม่มั่นใจของหัวหน้าก็เกิดจากการที่ต้องรักษาภาพลักษณ์เอาไว้ เพื่อให้คนในทีมเชื่อมั่นในตัวเอง แต่ถ้าความมั่นใจที่มีไม่ได้มาจากตัวตนที่แท้จริง คนในทีมก็รู้สึกได้อยู่ดี จริงๆ แล้ว หัวหน้าทีมไม่จำเป็นต้องวางตัวให้เป็นที่พึ่งพิงขนาดนั้น แค่วางตัวเป็นที่ปรึกษา และสนับสนุนการทำงานของคนในทีมแบบที่เป็นตัวเองก็พอ
3. การประสานงานและความยั่งยืน
การประสานงานและความยั่งยืน เป็นสิ่งที่สำคัญมากกับการเป็นหัวหน้า เพราะหัวหน้าไม่ใช่คนที่ต้องลงมือทำ แต่เป็นคนที่คอยเชื่อมโยงการทำงานของคนในทีมให้ประสบความสำเร็จ ทำให้หัวหน้าต้องคำนึงถึงการประสานงานอย่างชัดเจนมากกว่าสิ่งใด และในส่วนของความยั่งยืน ก็คือการรักษาบรรยากาศการทำงานให้ดีอยู่เสมอ หากมีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุงหรือแก้ไข ก็ให้หาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว
4. มีความสุขกับเป้าหมายเล็กๆ ที่สำเร็จ
การมีความสุขกับเป้าหมายเล็กๆ จะช่วยให้หัวหน้ามีกำลังใจในการทำงาน เพราะหากรอให้เป้าหมายใหญ่ของทีมสำเร็จ จะไม่มีแรงผลักดันระหว่างทางในการทำงานเลย และกว่าที่เป้าหมายใหญ่จะสำเร็จ เราอาจจะรู้สึกหมดไฟไปก่อนแล้ว ซึ่งหัวหน้าก็สามารถแบ่งปันความสุขจากเป้าหมายเล็กๆ ให้คนในทีมรู้สึกถึงความสำเร็จไปพร้อมๆ กันได้ด้วย
5. โฟกัสกับปัจจุบัน
จริงๆ แล้ว การโฟกัสกับอนาคตที่เป็นเป้าหมายใหญ่ไม่ใช่เรื่องที่ผิด และเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำที่มีเป้าหมายชัดเจน แต่การโฟกัสกับอนาคตมากเกินไปจนลืมโฟกัสกับปัจจุบัน ก็เหมือนกับการสร้างบ้านที่มีรากฐานไม่แข็งแรง และสักวันบ้านก็จะพังลงมา ซึ่งการทำงานในปัจจุบันให้ดี จะช่วยฝึกทักษะการทำงานของคนในทีมและตัวหัวหน้าเอง ให้มีความพร้อมกับการทำงานในอนาคตที่มีความท้าทายมากขึ้น
อิคิไกเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว และจะมีประโยชน์ยิ่งขึ้น หากเรานำไปใช้ในการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหัวหน้ามือใหม่ที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงมากมายที่ถาโถมเข้ามา ถึงแม้ว่า จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องรับมือกับทุกอย่างในระยะเวลาสั้นๆ แต่อย่างน้อยให้คิดไว้เสมอว่า ทุกคนมีฤดูกาลที่ต้องผลิบานเป็นของตัวเอง ซึ่งวันนั้นของเรามาถึงแล้ว และเราก็เป็นคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้จริงๆ ขอให้มั่นใจในตัวเองเข้าไว้ แล้วทำให้เต็มที่สมกับความสามารถของเรา
Sources: https://bit.ly/3OzUVLQ
https://bit.ly/3QVmh0C
https://bit.ly/3QZkHe7