Type to search

“ถ้าฉันทำได้ คุณก็ทำได้” เข้าใจด้านมืดของประโยคสร้างแรงบันดาลใจ ที่ทำให้เราเจ็บปวดมากกว่าที่คิด

September 13, 2022 By Chompoonut Suwannochin
i-can-do-it-you-can-do-it-too-culture

“ถ้าฉันทำได้ ทุกคนเองก็ทำได้”
“If I can do it, You can do it too.”

ไม่รู้ว่า ใครเป็นคนเริ่ม แต่ตั้งแต่จำความได้ เราก็ได้ยินประโยคเท่ๆ สร้างแรงบันดาลใจทำนองนี้ผลิตซ้ำผ่านสื่อต่างๆ อยู่ตลอด ทั้ง Life Coach คนดัง หนังสือขายดี หรือแม้กระทั่งนางงามคนแล้วคนเล่าก็ด้วย

ประโยคที่เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ชั้นดี หยั่งรากลึก จุดไฟในตัวคนฟังให้ลุกโชน สร้างความมุ่งมั่น Growth Mindset ที่ไม่รู้จบ คอยตอกย้ำซ้ำๆ ว่า ทุกสิ่งเป็นไปได้ ในโลกใบนี้ หากเรามี Can-do Attitude ซะอย่าง ก็ไม่มีอะไรยากเกินที่จะทำไม่ได้

แม้อานุภาพของ Can-do Attitude นั้นจะทรงพลังอย่างมาก สามารถเปลี่ยนชะตาชีวิต และผลักดันให้คนคนหนึ่งก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้สำเร็จ แต่ในความเป็นจริง ประโยคสร้างแรงบันดาลใจนี้ก็ทำให้คนฟังเจ็บปวดอยู่ไม่น้อย

i-can-do-it-you-can-do-it-too-culture 1
Image by DCStudio on Freepik

บทความเรื่อง “If I Can Do It, You Can Do It.” Oh, Really? บนเว็บไซต์ Psychologytoday ได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า จริงๆ แล้ว แรงจูงใจ แรงบันดาลใจ และการแสดงออกเหล่านี้สามารถทำให้เราบอบช้ำมากกว่าที่จะช่วยด้วยซ้ำ

ลีออน เอฟ เซลเซอร์ (Leon F. Seltzer) ผู้เขียนบทความอธิบายว่า ลึกๆ แล้ว ประโยคสร้างแรงบันดาลใจดังกล่าวนั้นดูเหมือนจะไปลดทอนความสามารถ หรือทักษะบางอย่างลงว่า นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ แถมอีกมุมหนึ่ง ก็ยังเป็นการท้าทายคนฟังไปพร้อมๆ กัน อย่างเช่น “ถ้าฉันทำได้ เธอจะทำไม่ได้ด้วยเหรอ?” หรือ “ถ้าเธอทำไม่ได้ ก็แปลว่า มีบางอย่างผิดปกติ” รวมไปถึงนี่ก็ยังเป็นดาบสองคมที่ Force คนฟังลูกเดียวด้วย

มีกระทู้หนึ่งบนเว็บไซต์ Quora ตั้งคำถามถึงประเด็นดังกล่าวว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ชอบคิดว่า ถ้าฉันทำได้ คุณก็ทำได้? ประโยคพวกนี้ทำให้ตนรู้สึกไม่ปลอดภัย เดวิด ดอนเนอร์ (Devin Doner) ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นว่า คำพูดแบบนี้เกินจริงไป ถึงมันอาจจะเสริม Self-confidence ในตัวคนคนหนึ่ง แต่ก็เป็นอะไรที่ผิด และอันตรายอยู่ดี เพราะสามารถดลใจให้บางคนพยายามทำบางอย่างที่เกินความสามารถของตัวเอง ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติจนล้มลงครืนไปต่อหน้าต่อตาได้

เนต ไวท์ (Nate White) ผู้ใช้งานอีกรายแนะนำว่า การแสดงออกนี้เป็นวิธีการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นที่ถูกเข้าใจผิดมาตลอด อีกทั้ง อาจสร้างความสับสน และทำให้เชื่อว่าทำได้ด้วยการบอกตัวเองว่าทำได้ แต่ว่ากันตามตรง มันไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับการยอมรับตัวเองโดยปราศจากความผิดพลาดในสิ่งที่ไม่ควรไล่ตามตั้งแต่แรกเลยสักนิด 

ประโยคถ้าฉันทำได้ คุณก็ทำได้ ไม่ต่างอะไรจากคำกล่าวที่ว่า “ฉันชนะ และคุณแพ้” นอกจากนี้ ยังสร้างความอัปยศได้เช่นกัน อย่างเวลาที่อีกฝ่ายพูดว่า สามารถทำอะไรได้ เราก็สามารถทำได้อย่างง่ายดายเหมือนกัน เช่น บางคนเสนอสูตรอาหารง่ายๆ ฟังดูตรงๆ เรียบง่าย โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขาพูดถึงเครื่องปรุงที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน

i-can-do-it-you-can-do-it-too-culture 2

ไมเคิล ยัน (Michael Yundt) เสริมว่า “ฉันตอบไม่ได้ว่า คนอื่นคิดยังไง นี่เป็นเพียงการตีความ เวอร์ชันที่ฉันใช้ตั้งแต่ High School ในยุค 80’s ตอนต้น คือถ้าคนอื่นทำได้ ฉันก็ทำได้ ไม่ได้ตั้งใจจะโม้ว่า ฉันทำได้ทุกอย่าง แต่มันเป็นเครื่องเตือนใจตัวเองว่า ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มันเป็นได้อย่างมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง และเป็นแรงจูงใจส่วนตัวที่จะไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ

“บางคนสามารถผ่านการฝึกของหน่วยซีล (SEAL) ได้ แต่ที่แน่ๆ หนึ่งในนั้นไม่ใช่ฉัน บางคนสามารถแกะสลัก และระบายสีได้ แต่ฉันไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ดังนั้น มันไม่สำคัญว่า เราจะพยายามมากเท่าไร เพราะหลายอย่างก็เกินความสามารถที่มี ไม่ว่าคนอื่นจะให้กำลังใจด้วยการบอกว่า ถ้าฉันทำได้ คุณก็ทำได้ก็ตาม”

คริส แอชเวิร์ธ (Chris Ashworth) แสดงความคิดเห็นว่า มันไม่มีทางเป็นจริงในโลกที่เขาอยู่ แต่ประโยคนี้จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อเรามีต้นทุนชีวิตแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู, เรื่องราวชีวิต, จุดแข็ง-จุดอ่อน, ยีน และระบบประสาทเส้นเดียวกัน

รวมไปถึงอีกนัยหนึ่ง เขามองว่า ก็ยังเป็น ‘การตำหนิเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย’ ด้วย แม้ประโยคนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ แต่หลายครั้ง เราก็เผลอเอามันมาใช้ยึดโยงกับตัวเองว่า ต้องเป็นอย่างไร? ส่งผลให้มีการตั้งเป้าหมายที่ไม่สมจริง เมื่อไม่สามารถทำบางอย่างให้สำเร็จได้ ก็จะเริ่มเฆี่ยนตีตัวเอง

ลีออน ทิ้งท้ายบทความบนเว็บไซต์ Psychologytoday ว่า “แต่มีข้อแม้อย่างหนึ่งว่า หากเราไม่เชื่อว่าทำอะไรบางอย่างได้ นั่นเท่ากับว่ากำลังจำกัดโอกาสที่จะทำได้อยู่ ทัศนคติแง่ลบสามารถเอาชนะเราได้สำเร็จ เพราะในความเป็นจริง การทำนายเชิงลบ มีความเป็นไปได้ว่า เราจะไม่พยายามทำเลยนั่นเอง”

แม้เราจะมี 24 ชั่วโมง 1,440 นาทีในแต่ละวันเท่ากัน แต่ทุกคนมี Limit เป็นของตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือ ‘มันไม่เคยเท่ากัน และไม่มีวันเท่ากันในวันใดวันหนึ่ง’ ได้แน่ๆ คนอื่นทำได้ไม่ได้หมายความว่า เราจำเป็นต้องทำได้ด้วย เช่นเดียวกัน เราทำได้ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีสิทธิ์ไป Stereotype คนอื่นว่า ควรจะทำได้แบบเดียวกับเราทั้งหมด

ต่างคน ต่าง Background ต่าง Timing ต่างพัฒนาการ หยุดเอาไม้บรรทัดเดียวกันมากะเกณฑ์ การอยากเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรย้อนกลับมาตั้งต้นบนพื้นฐานของการใจดีกับตัวเองหรือที่เรียกว่า ‘Self-compassion’ ด้วย

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ เคยได้ยินประโยคทำนองนี้ไหม คิดว่า มันสร้างแรงบันดาลใจหรือทำให้เราเจ็บปวดมากกว่า? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: https://bit.ly/3RTsNoj

https://bit.ly/3RSGELA

Trending

Chompoonut Suwannochin

Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง