LOADING

Type to search

ทำยังไงเมื่องานที่เคยรักมากๆ กลายเป็นงานที่ไม่ชอบ 3 เทคนิคทวงคืน ‘งานที่รัก’ จากคอลัมนิสต์ของ HBR

ทำยังไงเมื่องานที่เคยรักมากๆ กลายเป็นงานที่ไม่ชอบ 3 เทคนิคทวงคืน ‘งานที่รัก’ จากคอลัมนิสต์ของ HBR
Share

‘งานที่รัก’ มีอยู่จริงหรือเปล่า?

คำถามนี้เคยเป็นที่ถกเถียงบนโลกออนไลน์อยู่พักหนึ่ง หลายๆ คนพยายามแสดงความคิดเห็นของตัวเอง เพื่อร่วมกันหาคำตอบ และนี่คือตัวอย่างความคิดเห็นจากผู้คนที่มีมุมมองต่างกันออกไป

“ไม่มีงานที่รักตั้งแต่แรก เพราะเรามาทำงานหาเงิน และความรักหรือแพชชัน (Passion) ไม่สามารถขับเคลื่อนชีวิตในโลกทุนนิยมได้”

“มีงานที่รักอยู่จริงๆ และทุกวันนี้ยังทำอยู่ด้วย”

“งานที่รักมีอยู่จริงแต่สุดท้ายความรักจะถูกกลืนไปจนหมดสิ้น”

ไม่ว่าใครจะมีความคิดเห็นอย่างไร แต่ความคิดเห็นในตัวอย่างสุดท้ายมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ หลายๆ คนน่าจะเกิดความรู้สึกในลักษณะนี้ จากงานที่เคยรักและทุ่มเทแพสชันลงไปมากๆ กลายเป็นงานที่ไม่ชอบอีกต่อไป และที่สำคัญภาพในอดีตที่ตั้งใจมาสมัครงาน เพื่อทำงานตำแหน่งนี้โดยเฉพาะค่อยๆ เลือนหายจนไม่เหลืออยู่ในความทรงจำอีกแล้ว

หากพูดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกในลักษณะนี้ คงมีปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพอเข้ามาทำงานจริงๆ ทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ หรือทำงานไปสักพักแล้วถึงจุดอิ่มตัว ไม่เห็นภาพในอนาคตของตัวเองกับงานที่ทำอยู่ และไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร

พอความสัมพันธ์ระหว่าง ‘งานที่รัก’ และ ‘คนทำงาน’ มาอยู่ในรูปแบบนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับความสัมพันธ์ในรูปแบบ ‘แฟน’ คนสองคนเริ่มต้นความสัมพันธ์ด้วยความรัก แต่ระหว่างทางมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย จนทำให้ความสัมพันธ์มาถึงทางตันและต้องแยกย้ายกันไป

Work and Love
Image by 8photo on Freepik

คอร์รี ชานาฮัน (Corrie Shanahan) หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารของบริษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation หรือ IFC) สังกัดธนาคารโลก เป็นตัวอย่างของคนที่ยิ่งทำงานไปนานไร ความตื่นเต้นกับงานยิ่งน้อยลงไปทุกที เธอยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “ฉันทำงานมาสักพักแล้ว และพบว่าตัวเองสนใจงานที่ทำน้อยลง”

หลายๆ คนที่กำลังเผชิญกับความรู้สึกในลักษณะนี้ อาจจะเริ่มคิดถึงมีวิธีการที่ทำให้กลับมา ‘ตกหลุมรัก’ งานที่ทำได้อีกครั้ง

Future Trends จึงนำเทคนิคทวงคืนงานที่รักจาก ‘แคโรลิน โอฮารา’ คอลัมนิสต์ของเว็บไซต์ Harvard Business Review มาฝากทุกคนที่ต้องการสร้างความรักครั้งใหม่กับงานของตัวเองด้วยกันทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้

1. ออกแบบบทบาทของตัวเองใหม่

บางครั้งสาเหตุที่ทำให้งานที่รักกลายเป็นงานที่ไม่ชอบก็มาจาก ‘ความจำเจ’ การทำงานซ้ำๆ เดิมๆ ในแต่ละวันได้เช่นกัน เพราะคนทำงานจะรู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้ทำสิ่งใหม่ๆ อย่างที่คาดหวัง และไม่ได้พัฒนาทักษะการทำงานให้เก่งขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น การออกแบบบทบาทของตัวเองใหม่ จะช่วยให้คนทำงานมองเห็นทิศทางการทำงานของตัวเองว่า ปัจจุบันกำลังทำอะไรอยู่ และจะเติมเต็มสิ่งที่ทำให้สนุกกับงานมากขึ้นอย่างไร อาจจะเป็นการใช้เวลาว่างในการสร้างทักษะใหม่ๆ หรือลองทำงานเสริมที่ต่างจากงานประจำ

2. ทำงานกับ ‘คนไฟแรง’

หากจะกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนมี ‘ฟองน้ำ’ แฝงอยู่ในตัวก็คงไม่ผิดนัก ลองสังเกตจากเวลาที่คุณใช้ชีวิตกับใครสักคนบ่อยๆ คุณจะเริ่มซึมซับนิสัยหรือลักษณะบางอย่างมาจากคนๆ นั้น บางทีการสนิทกับคนไฟแรงก็ช่วยให้คุณกลับมามีไฟในการทำงานได้เช่นกัน เพราะพวกเขาจะคอยชวนคุณไปทำสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้พบวิธีการทำงานต่างไปจากเดิม

3. เฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้รู้สึกรักงานที่ทำน้อยลง อาจจะเกิดมาจากความสำเร็จที่ได้รับมาไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางทีคนเรามองข้ามความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ เพราะตั้งความหวังไว้กับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า จนกลายเป็นว่า ทำงานเท่าไรก็ไม่พอใจสักที

หลังจากนี้ ขอให้คุณลองปรับความคิดและยินดีกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป ความรักที่มีต่องานจะค่อยๆ กลับมาอย่างช้าๆ นั่นเอง

จริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คน’ กับ ‘งาน’ ไม่ต่างอะไรกับการเป็น ‘Love-Hate Relationship’ ที่มีความรักและความเกลียดผสมอยู่ด้วยกัน ทุกคนมีโอกาสไม่ชอบงานที่ตัวเองรักเข้าสักวัน อยู่ที่ว่าเมื่อวันนั้นมาถึง คุณจะรับมืออย่างไรต่อไป

Source: https://bit.ly/3fhCIXi

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like