เมื่องานด่วน งานเร่ง คือสิ่งที่เรากังวลไปเอง ‘Urgency Culture’ วัฒนธรรมปั่นงานไฟลุก ที่อาจทำให้ทีมไฟมอดไปด้วย
ในช่วงชีวิตของการทำงาน เชื่อว่า อย่างน้อยที่สุดแล้ว มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ น่าจะต้องเคยเจอ เคยผ่านงานประเภทนี้กันสักครั้งแน่ๆ ซึ่งบางครั้งก็ด่วนจริงด่วนจัง ลูกค้าเร่งมา ต้องรีบส่งก่อนกำหนดอย่างที่ว่า
แต่ในขณะเดียวกัน บางครั้งความด่วนเหล่านี้ก็ต่อคิวมาเป็นขบวนเยอะเกินไป ด่วนทุกงาน เร่งทุกชิ้น ไฟลุกทุกวัน ไม่เว้นชั่วโมง ไม่เว้นนาทีให้ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานคนอื่นได้หายใจหายคอกันเลยทีเดียว แถมที่หนักที่สุดก็คือ หลายๆ ครั้งก็ด่วนจนแยกไม่ออกด้วยว่า อะไรคืองานปกติ งานที่ไม่ด่วน และถึงที่สุดแล้วที่บอกงานด่วนนั้นด่วนจริงรึเปล่า หรือจริงๆ แล้ว เป็นแค่งานด่วนแบบทิพย์ๆ กันแน่?
ลิซาน เดอซูซ่า (Lizanne Dsouza) ผู้คร่ำหวอดในวงการ HR และเอเจนซี่จัดหางาน เคยอธิบายถึง Urgency Culture วัฒนธรรมการทำงานที่เต็มไปด้วยงานด่วนไว้ว่า เกิดจากแรงดันของการพิสูจน์ตัวเอง ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จอยู่เสมอ ซึ่งการที่ลูกน้องบางคนในทีมมีพฤติกรรมแบบนี้ก็เพราะลึกๆ แล้ว พวกเขาอยากทำให้หัวหน้า และลูกค้าผิดหวัง
แล้วถ้าเรากำลังเจอกับลูกน้องประเภทด่วนทุกงาน เร่งทุกชิ้น กังวลทุกอย่าง ต้องรีบทำให้เสร็จ จะรับมือยังไงไม่ให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นไฟมอด และทีมพังเป็นโดมิโน่ไปซะก่อน? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดู 3 เทคนิคดีๆ จากเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) กัน
1. ช่วยพวกเขาให้เห็นถึงผลกระทบต่อคนอื่น และการกระทำทั้งหมด
แม้ความไฟแรง กระตือรือร้นจะดีมากมายแค่ไหน แต่หากใช้ผิดวิธี ผิดที่ ผิดทางก็อาจย้อนศรกลับมาทำลายทีมได้ ดังนั้น ทางที่ดีควรอธิบายให้พวกเขาเห็นชัดเจนไปเลยว่า การทำพวกเขาด่วนทิพย์ๆ แบบนี้จะไปกระทบใคร เกิดข้อเสียอะไรขึ้นบ้าง? เพราะหลายๆ ครั้งการเร่งรีบจนเกินไป ก็อาจมองแต่ข้อดี จนเผลอมองข้ามข้อเสียไปโดยไม่รู้ตัว
2. จับคู่กับ Long-Term Thinkers
ในโลกของการทำงาน บางทีเราก็ต้องอาศัยความร่วมงานในการทำงานให้สำเร็จจากคนอื่น เพราะฉะนั้น การคิดถึงแค่ผลกระทบระยะสั้นว่า จะได้มีงานไปส่งลูกค้าเร็วๆ ได้รับความพึงพอใจ คำชมเป็นผลพลอยได้ก็อาจไม่เวิร์กนัก
ลองจับคู่กับ Long-Term Thinkers ที่ชอบมองภาพกว้าง เพื่อสร้างจุดสมดุล ให้พวกเขาเรียนรู้วิธีการคิดดู และทำให้เห็นว่า ถึงการกระทำดังกล่าวจะส่งผลดี แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น จริงๆ แล้ว การโฟกัสที่ผลระยะยาวอย่างความสุข ความสบายใจ ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
3. ฝึกให้พวกเขาแยกความรู้สึกด่วนออกจากสิ่งที่ต้องทำจริง
เปิดใจให้กว้าง มองด้วยสายตาแห่งความเข้าใจ จากนั้น ช่วยพวกเขาจัดการกับความรู้สึก ความคิดล่องลอยอยู่ในหัว ลองเข้าไปจับเข่าคุย ถามไถ่ความรู้สึกที่แท้จริงแล้วให้ประเมิน ฝึกแยกแยะความรู้สึกด่วนออกจากสิ่งที่ต้องทำจริง เพื่อหยุดยั้งความรู้สึกด่วนทิพย์ที่อาจทำให้คนอื่นป่วงตามไปด้วยนั่นเอง
และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงทริกเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยให้คุณรับมือกับลูกน้องประเภทด่วนทุกงานได้ง่ายขึ้น ลองนำไปปรับใช้ หาจุด balance ในทีมดู ได้ผลหรือไม่ได้ผลยังไง อย่าลืมกลับมาเล่าให้ฟังกันด้วย หรือถ้าใครมีทริกอะไรดีๆ ที่นอกเหนือจากนี้อีก ก็สามารถมาแชร์กันได้นะ 🙂
Sources: https://bit.ly/3oLn6fO