Hanseikai เพราะว่างานไม่เคยเสร็จจริง ๆ
คอลัมน์: Sushi Business บทความธุรกิจพอดีคำ
เขียน: ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล
เวลาที่เราทำงานกลุ่ม หรือทำภารกิจ จัดการอีเวนต์ของบริษัทเสร็จไปงานนึง เราจะคิดถึงอะไรครับ? หลายคนอาจจะนึกถึงการหยุดพักผ่อน บางคนอาจจะนึกถึงการไปปาร์ตี้เลี้ยงฉลอง บางคนก็อาจจะมองไปถึงงานต่อไปที่รออยู่ข้างหน้า
แต่สำหรับการทำงานของชาวญี่ปุ่นแล้ว ภารกิจแต่ละชิ้นจะไม่จบลงจนกว่าที่จะได้มีการจัด Hanseikai (ฮันเซไค) หรือ งานมองย้อนกลับไปดูความผิดพลาดของตนเองจากภารกิจที่ผ่านมา
คำว่า Hanseikai ประกอบจากคำสองคำคือ Hansei ที่แปลว่า สำนึกผิด และ Kai ที่แปลว่า การพบปะกัน (ซึ่งมักจะใช้ในความหมายของงานเลี้ยงพบปะกันต่างๆ หรือรวมถึง กลุ่ม สมาคมต่างๆ ก็ได้ด้วย) ดังนั้นจะแปลตรงๆ ว่างานพบปะกันเพื่อสำนึกผิดแบบกลุ่ม ก็ว่าได้ และ Hanseikai นี่ก็สามารถสะท้อนวิธีคิดแบบชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี กับการพยายามที่จะวิจารณ์ตนเองอยู่เสมอ เพื่อที่จะพัฒนาให้ดีกว่าเดิมให้ได้
รูปแบบของ Hanseikai ของชาวญี่ปุ่น มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่งานชิ้นนั้นจบลงทันที บางครั้งถ้าเป็นอีเวนต์ เช่นจัดงานนอกสถานที่ พอจบงานปุ๊บ ก็รวมตัวกัน Hanseikai ที่นั่นเลย (หากใช้สถานที่ได้) สาเหตุที่ต้องรีบกันขนาดนั้น เพราะว่า ความจำเกี่ยวกับความผิดพลาดต่างๆ จะได้ยังสดใหม่อยู่ นึกออกได้ง่าย มีอะไรก็จะได้เอามาคุยกันตรงนั้นเลย ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เวลาผ่านไปแล้วก็ลืมว่าจะพูดอะไร ต่อให้จดโน้ตไว้ แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าความทรงจำอยู่ดีครับ ซึ่งเมื่อจบงานแต่ละครั้ง ก็มักจะเรียกให้สมาชิกของกิจกรรมนั้นๆ ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อเตรียมการ Hanseikai
กระบวนการของ Hanseikai มักจะแบ่งเป็นสามขั้นตอนหลักๆ ขั้นตอนแรกก็คือการพิจารณางานที่ออกมา เทียบกับแผนการตั้งต้น ว่าต่างกันแค่ไหน เป็นไปตามแผนแค่ไหน และดูผลงานโดยรวมว่าออกมาได้ดีแค่ไหน พูดง่ายๆ ก็ประเมินคุณภาพงานทั้งหมดที่ออกมานั่นล่ะครับ ก่อนที่จะไปขั้นตอนต่อไป ที่สมาชิกของทีมแต่ละคนก็จะประเมินคุณภาพการทำงานของตัวเอง ว่าได้ทำอะไรบ้าง รับผิดชอบอะไร ทำออกมาได้ดีแค่ไหน มีจุดบกพร่องอย่างไร และครั้งหน้าจะแก้ไขหรือปรับปรุงตัวได้อย่างไร ก่อนที่จะไปขั้นตอนสุดท้าย คือการปรึกษากันในกลุ่ม ว่าจะสามารถพัฒนาอะไรตรงไหนได้อย่างไร จุดไหนที่เป็นปัญหา และจะแก้ไขอย่างไร เพื่อที่ครั้งหน้าจะไม่ได้เกิดปัญหาแบบเดิม แล้วค่อยบันทึกบทสรุปเพื่อนำเอาไปใช้ในคราวต่อไป
ฟังดูก็เป็นญี่ปุ๊นญี่ปุ่นเสียเหลือเกิน แต่มันก็เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เราจะเอาบทเรียนจากความผิดพลาดในคราวก่อน มาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพงานในคราวต่อไป ไม่ใช่ว่า เอ้อ จบงานแล้ว เฮ้ ฉลองกัน แล้วก็ลืมว่าครั้งที่แล้วเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาซ้ำๆ เดิมได้อีก
ในมุมมองของชาวญี่ปุ่นแล้ว ถ้าหากเราไม่ตระหนักถึงข้อผิดพลาด หรือความไม่สมบูรณ์ของตัวเอง ก็เท่ากับการทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ไม่สามารถพัฒนาขึ้นไปได้อีก
ดังนั้น ถึงจะบอกว่างานจบ แต่งานไม่เคยจบอย่างแท้จริง เพราะทุกอย่างยังมีจุดให้พัฒนาได้อีกเสมอ เพียงแต่เราต้องตระหนักให้ได้ก่อนว่าตรงจุดไหนคือปัญหา ซึ่งบริษัทและองค์กรญี่ปุ่นก็เอาแนวคิดนี้มาปรับใช้กับการทำงานอยู่เสมอ ไม่มีงานไหนที่จบลงโดยไม่มีจุดให้แก้ไข สำหรับคนทำงานชาวญี่ปุ่นแล้ว การบอกว่า “ไม่มีปัญหาอะไร” นั่นหมายความว่า “มีปัญหาเกิดขึ้น” เพราะไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ต้องมีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจะเพียงเล็กน้อยแค่ไหน การยอมรับว่ามีปัญหา นั่นไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสในการพัฒนาต่างหาก
ในระบบการทำงานของญี่ปุ่นแล้ว การจัดการ Hanseikai กันในทีม ก็สามารถเพิ่มการสื่อสารในทีม เพื่อให้งานลุล่วงด้วยดีได้ และในหลายหลายกรณี จะกลายเป็นการประชุมกันในทีม เพื่อให้สมาชิกทีมชี้แจ้งข้อผิดพลาดของตนเอง ซึ่งหัวหน้างานก็จะนำไปแถลงต่อภายนอก โดยตัวหัวหน้าจะเป็นคนรับหน้าแทนทีมงานที่ผิดพลาด ก็เป็นการช่วยเพิ่มความแน่นแฟ้นในทีมได้อีกด้วย
แต่ก็ใช่ว่า Hanseikai จะต้องเป็นสิ่งที่เคร่งเครียดเสมอนะครับ หลายครั้ง เมื่อเสร็จงานแล้ว ตามประสาคนทำงานหนักและฉลองหนักแบบชาวญี่ปุ่น พวกเขาก็จะพุ่งตรงไปยังอิซาคายะ ร้านกินดื่มที่จัดเตรียมที่นั่งเท่ากับสมาชิกของงานนั้นๆ ก่อนจะฉลองให้กับงานที่เสร็จสิ้นไป ซึ่งกรณีนี้ก็มักจะเรียกว่า Nomikai (โนมิไค) หรือแปลตรงๆ ว่า งานดื่ม (แน่นอนว่าคงไม่ได้หมายถึงน้ำเปล่าหรือน้ำส้มแน่นอน) พ่วงกับ Hanseikai ไปด้วยเลย
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะ Hanseikai กันไประหว่างดื่มนะครับ ที่ผมเคยเจอคือ จบงาน พุ่งไปร้านกินดื่มทันที และฉลองให้กับงานที่เสร็จกัน ชนแก้วกันอย่างพร้อมเพรียง (เรื่อง Nomikai ขอไว้โอกาสถัดไปครับ) กินดื่มกันอย่างสนุกสนาน แต่เมื่ออาหารจบรอบไปหนึ่งชุดแล้ว ทีนี้คนที่ใหญ่ที่สุดในงาน (หรือหัวหน้าทีม) ก็ประกาศว่า โอเค เดี๋ยวเรามา Hanseikai กันนะ สายตาทุกคนก็เปลี่ยนทันที เหมือนกับเปิดสวิตช์อะไรบางอย่าง ทุกคนวางแก้วลงและดูจริงจังทันที แล้วก็เริ่ม Hanseikai กันในวงเหล้านั่นล่ะครับ ก็แปลกดีเหมือนกัน แต่เขาก็ทำหน้าที่กันได้ดีนะครับ แบ่งสายงานกันว่าใครรับผิดชอบอะไร มีปัญหาอะไร แก้อย่างไร ก็นั่งประชุมกันจริงจังนั่นล่ะครับ พอจบก็มีการสรุปเป็นชิ้นเป็นอัน แล้วก็เหมือนตบสวิตช์กลับ ทุกคนก็กลับไปโหมดกินดื่มเฮฮาเหมือนเดิม ก็ต้องคารวะความสามารถในการปรับตัวของพวกเขาจริงๆ แล้วที่สำคัญคือ วันต่อมาพวกเขาก็เอาเรื่องในฮันเซไคมาคุยงานต่อและปรับใช้จริงด้วยนะครับ เรียกได้ว่าต่อให้เป็นปาร์ตี้ก็ไม่ได้เสียงานเลย (แต่ก็ต้องรีบคุยก่อนที่สมาชิกบางรายจะเปิดวาร์ป แล้วจำอะไรไม่ได้นะครับ)
Hanseikai คือสไตล์การทำงานแบบญี่ปุ่น ที่ดูอาจจะชวนหงุดหงิดเล็กน้อยว่า จบงานแล้วแต่ยังไม่จบจริงซะที ทำให้เราอาจจะรู้สึกว่าไม่ได้ฉลองซะที แต่การจัดการเคลียร์ทุกอย่างให้เรียบร้อย ตรวจสอบปัญหาต่างๆ และหาทางแก้ไขเพื่ออนาคต ก็น่าจะช่วยให้เราไปฉลองงานได้อย่างไม่มีอะไรค้างคาใจ ใครมีโอกาสก็ลองนำไปปรับใช้กันในทีมดูนะครับ
(แต่พอบอกว่า งานไม่เคยเสร็จสิ้นจริงๆ ก็อาจจะชวนให้คนฟังรู้สึกเหนื่อยใจก่อนได้นะครับ แฮ่)