Type to search

แยกขยะทำไม ถ้ายังไงก็ทิ้งรวมกัน: ‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย’ ไขข้อข้องใจ การแยกขยะเชื่อมโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร

November 25, 2021 By Future Trends

“จะแยกขยะไปทำไม ยังไงก็เอาไปเททิ้งรวมกันอยู่ดี”

เคยสงสัยกันไหมคะว่า หลายๆ ครั้งที่มีการออกมารณรงค์ให้แยกขยะก่อนทิ้งจะทำได้อย่างไร ในเมื่อปลายทางรถขยะมาเก็บตามบ้านเขาก็เอาไปเททิ้งรวมกันอยู่ดี จะต่างอะไรกับการทิ้งขยะรวมไปในถุงเดียวตั้งแต่เริ่มต้นเลยล่ะ?

ในความเป็นจริงแล้ว ภาพที่เราเห็นว่าพี่ๆ พนักงานเก็บขยะไปเทรวมกันหลังรถก็เพื่อความรวดเร็วในการทำงานเท่านั้น ท้ายที่สุด เมื่อรถขยะถึงจุดจอดปลายทางก็ต้องมีการแยกประเภทขยะอยู่แล้ว และถ้าสังเกตดีๆ บริเวณช่วงกลางของรถขยะจะมีช่องสำหรับใส่ขยะรีไซเคิลโดยเฉพาะ ถ้าเราแยกขยะตามประเภทไว้ตั้งแต่แรก พี่ๆ พนักงานก็จะสามารถนำขยะที่คัดแยกแล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อได้ทันที อีกทั้งการแยกขยะยังทำให้มูลค่าของขยะไม่ถูกลดทอนลงไปจากการปนเปื้อนกับขยะประเภทอื่นๆ ด้วย

นั่นหมายความว่า หากเราทุกคนเริ่มต้นการแยกขยะอย่างถูกต้อง ขยะบางประเภทก็จะกลายเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สามารถกลับมาหมุนเวียนเข้าสู่ระบบรีไซเคิลต่อได้มากขึ้น รวมถึงช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดได้อีกด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมา สถานการณ์ขยะในประเทศไทยก็ยังมีปริมาณสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขยะพลาสติกที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักๆ ของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไทย

รายงานปริมาณขยะในกทม. จากวิกฤตโควิด-19 พบว่า ปกติแล้วขยะทั่วไปที่เก็บได้อยู่ที่ 9,000 ตันต่อวัน และขยะพลาสติกอยู่ที่ 1,350 ตันต่อวัน แต่ระยะเวลาเพียง 1 เดือน (มีนาคม 2564 ถึง เมษายน 2564) กลับมีขยะพลาสติกถึง 2,250 ตันต่อวัน จะเห็นว่าปริมาณขยะพลาสติกต่อวันเพิ่มขึ้นมาจากเดิมถึง 67 เปอร์เซ็นต์ภายในเดือนเดียว*
*แหล่งที่มาข้อมูล: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ในขณะที่ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นทุกวันๆ แบบนี้ ปัญหาที่ต้องโฟกัสเพื่อแก้ไขกันต่อไปก็คือ จะทำอย่างไรให้ขยะพลาสติกที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด พลาสติกแบบไหนนะที่จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังคงมีคุณสมบัติในการใช้งานอยู่อย่างครบถ้วน

วันนี้ Future Trends จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกระบวนการจัดการพลาสติกตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พลาสติกแบบไหนที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ พลาสติกเป็นปัญหาจริงไหม เราต้องเลิกใช้ทั้งหมดเลยรึเปล่า หรือที่จริงแล้วปัญหาอยู่ที่การจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธีกันแน่

How to ‘Growing for Good’ แบบ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคประเทศไทย

ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์สินค้าของซันโทรี่และเป๊ปซี่โคในประเทศไทย มีสินค้ามากมายในตลาด อาทิ เครื่องดื่มน้ำอัดลมเป๊ปซี่ เซเว่นอัพ มิรินด้า น้ำดื่มอควาฟิน่า เครื่องดื่มเกลือแร่เกเตอเรด ชาพร้อมดื่มลิปตัน ชาอู่หลงทีพลัส และกาแฟพร้อมดื่มบอส เป็นต้น ซึ่งก็อย่างที่เห็นว่า สินค้าของทาง ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย นั้นใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก ดังนั้น สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญก็คือ การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Packaging Sustainability Management) เพื่อสะท้อนวิสัยทัศน์ “Growing for Good” เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

3R + 1T หมายถึง Reduce-Reuse-Recycle + Technology คือ หลักการในกระบวนการผลิตของซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ซึ่งมุ่งลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา บริษัทสามารถลดการใช้พลาสติกใหม่ได้ถึง 531.6 ตัน โดยเป็นยอดสะสมตั้งแต่ปี 2561 ถึงสิ้นปี 2564 นี้ เรียกได้ว่าช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และแน่นอนย่อมส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

ที่สำคัญ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ใส่ใจตั้งแต่ต้นน้ำ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ Eco-design เน้นพลาสติก PET ซึ่งนอกจากจะมีคุณภาพดีแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ง่ายต่อการจัดการ และนำกลับมารีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วย

ทำไมต้องเป็นพลาสติก PET?

คุณสมบัติของพลาสติก PET หรือที่ย่อมาจาก Polyethylene Terephthalate เป็นพลาสติกคืนรูปที่มีโมเลกุลสูงจึงมีความเหนียวสูง ปลอดภัย ทนทานต่อการใช้งาน ไม่เปราะแตกง่าย ที่สำคัญ พลาสติก PET ยังเป็นพลาสติกที่นำกลับมารีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เลือกใช้ขวด PET เป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้าทุกชนิด

นอกจากตัวขวดแล้ว ฝาขวดและฉลากก็ยังผลิตจากวัสดุที่นำไปรีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกัน โดยตัวฝาผลิตจากวัสดุ HDPE (High Density Polyethylene) เป็นพลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง เหมาะสำหรับใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ รวมถึงตัวฉลากที่ผลิตจากพลาสติก 2 ชนิด คือฉลากแบบหุ้มขวด (Shrink Sleeve Label) ผลิตจากพลาสติก PET และฉลากแบบพันรอบขวด (Oriented Polypropylene Label) ผลิตจากพลาสติก PP (Polypropylene) โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตเพื่อลดการใช้พลาสติกเมื่อเทียบน้ำหนักต่อชิ้นของฉลาก และถ้าลองสังเกตดีๆ จะพบว่า ขวดของ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เป็นขวดใส ไม่มีสี ง่ายต่อการรีไซเคิล และมีมูลค่าการรับซื้อมากกว่าขวดสี ฝาขวดเครื่องดื่มเป๊ปซี่ทั้งหมด ได้มีการนำพิมพ์สีบนฝาออก เพื่อลดการใช้สารเคมีทำความสะอาดในขั้นตอนการรีไซเคิล

พลาสติกไม่ใช่ปัญหา เท่ากับการจัดการ ‘ขยะพลาสติก’

อันที่จริงแล้ว การนำพลาสติกมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ เพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันไม่ใช่ปัญหาเท่ากับขั้นตอนการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งในส่วนนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยให้ความเห็นในเรื่องของวิกฤตขยะพลาสติกไว้ว่า ต้นตอปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่การใช้พลาสติก แต่เป็นการจัดการกับขยะพลาสติก โจทย์สำคัญ คือจะทำอย่างไรให้ขยะพลาสติกเหล่านั้นเวียนกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้ด้วยเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นต่างหาก

ซึ่งก่อนที่จะไปถึงกระบวนการจัดการกับขยะพลาสติกได้นั้น กระบวนการกลางน้ำมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้อัตราการรีไซเคิลขยะพลาสติกสูงขึ้น นั่นก็คือ การคัดแยกขยะอย่างถูกต้องก่อนทิ้ง โดยทาง ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้ริเริ่มโครงการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการครูพี่เลี้ยงภายใต้ชื่อ ‘โครงการเทรน เดอะ เทรนเนอร์’ เพื่อให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะกับผู้บริหาร คุณครู และผู้นำชุมชนในจังหวัดสระบุรี จากนั้น จึงนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับเด็กนักเรียน และคนในชุมชนเป็นวงกว้างอีกทอดหนึ่ง โครงการดังกล่าวมีตัวแทนคุณครูจาก 11 โรงเรียนในพื้นที่อำเภอหนองแค แก่งคอย และวิหารแดง เข้าร่วมโครงการ

เมื่อมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือต้องมีถังขยะรองรับแยกตามประเภทของขยะด้วย ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย จึงมอบถังขยะแต่ละประเภทให้โรงเรียนและชุมชนในจังหวัดสระบุรี รวม 240 ถัง และที่สำคัญ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้สื่อสารถึงผู้บริโภคแบบง่ายๆ ด้วยสัญลักษณ์รีไซเคิลและไอคอนส่งเสริมการทิ้งบรรจุภัณฑ์ให้ถูกที่ ผ่านฉลากในทุกๆ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคคัดแยกขวด PET ซึ่งสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้

ต้องจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนครบวงจร

พูดถึงส่วนของต้นน้ำคือ Eco-design และกลางน้ำคือการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะที่ถูกต้องไปแล้ว ส่วนนี้เราจะมาพูดถึงปลายน้ำอย่างการจัดการขยะพลาสติกกันบ้าง โดย ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการคัดแยกและเก็บบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด จึงจับมือกับวงษ์พาณิชย์ ธุรกิจบริหารจัดการขยะรีไซเคิลรายใหญ่ของไทย

โดยวงษ์พาณิชย์ประกาศรับซื้อขวดพลาสติก PET ใส ของ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ด้วยราคาที่สูงกว่าขวดพลาสติก PET ทั่วไป เพิ่มอีกกิโลกรัมละ 1 บาท ซึ่งจะมีการประกาศราคารับซื้อเป็นรายวัน ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการรณรงค์ส่งเสริมการคัดแยกขยะและนำขวดพลาสติก PET ที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งก็คือ เครื่อง ‘ReFun Machine’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการคัดแยกและรีไซเคิลขวดพลาสติก PET โดยเฉพาะ ทั้งนี้ได้เริ่มต้นโครงการนำร่องในปี 2563 กับร้านสะดวกซื้อจิ๊ฟฟี่ (Jiffy) ที่ตั้งอยู่ภายในสถานีปั๊มน้ำมันพีทีที 10 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และในปีนี้ก็ได้ร่วมมือกับ ซีพี ออลล์ โดยนำเครื่อง ReFun Machine ไปทดลองตั้งบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น 10 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนถึงสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ถ้าใครเจอเจ้าเครื่อง ReFun Machine นี้ก็ลองถ่ายรูปมาแชร์ขั้นตอนการใช้เครื่องนี้กันได้นะ

และนี่คือทั้งหมดที่ ‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย’ ชวนทุกคนมาตั้งคำถาม และหาคำตอบร่วมกันกับเราถึงวิธีการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางนั้นว่าทำได้อย่างไร
สิ่งสำคัญที่สุดและเริ่มได้เลยที่ตัวคุณ ก็คือการปรับพฤติกรรมในการคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดปริมาณขยะพลาสติกของประเทศไทยนั่นเอง


sources: กรุงเทพธุรกิจ, mahidol, กรมควบคุมมลพิษ, TEI, Waste​ Journey