การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ หรือ Climate Change ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลต่อด้านอื่นอย่างสัมพันธ์กัน รวมถึงภาคธุรกิจด้วย การคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนของโลกจึงกลายเป็นเทรนด์และปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินกิจการของภาคธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต
ข้อมูล Global Risks Reports 2020: Long-term risk outlook จาก World Economic Forum พบว่า ประเด็นความเสี่ยง 5 อันดับแรกของโลก ช่วงปี 2015 – 2020 มีประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทุกปี เช่น สภาวะอากาศสุดขั้ว ความล้มเหลวในการจัดการกับสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์ โดยระหว่างปี 2017 – 2020 มีความเสี่ยงเรื่องสภาวะอากาศสุดขั้วมาเป็นอันดับแรก และเป็นสิ่งที่นักธุรกิจทั่วโลกวิตกกังวล
ขณะที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่า ปี 2100 โลกอาจร้อนขึ้นอีก 4 – 5 องศาเซลเซียส และทำให้ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย จนกลายเป็นปัญหาน้ำทะเลหนุนและฝนตกมากขึ้น จนเกิดน้ำท่วมหนัก
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ของโลก โดยข้อมูลจาก Global-Climate Risk Index 2000-2019 ระบุว่า ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุด 10 อันดับแรก แม้ไทยไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ ก็ตาม
นั่นคือสิ่งที่เราต้องคิดต่อและหาทางปรับตัวเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งทางการไทยได้ประกาศเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้ได้ภายในปี 2050 นั่นหมายความว่า ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ต้องปรับตัวเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
มาตรการ CBAM โจทย์สำคัญภาคธุรกิจไทย
‘CBAM’ หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU) เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องส่งออกไป EU มาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ EU กำหนดใช้ในการบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามแผนปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal)
ในปี 2023 หากไทยส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ EU จะมีการเก็บภาษีคาร์บอน และส่งผลให้บางภาคเศรษฐกิจต้องแบกรับต้นทุนเพิ่ม มีการคาดการณ์ว่า ภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบ คือ ซีเมนต์ อลูมิเนียม เหล็กและเหล็กกล้า ปุ๋ย พลาสติก/ปิโตรเคมี Organic Chemical และไฮโดรเจน ซึ่งมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก และในอนาคตอาจมีการขยายขอบเขตไปยังอุตสาหกรรมหรือสินค้าอื่นด้วย
แรงกดดันจากต่างชาติ
ไม่เพียงมาตรการ CBAM เท่านั้น ยังมีแรงกดดันจากบริษัทต่างชาติที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจไทย เช่น Totota ประเทศญี่ปุ่น ได้กำหนดเป้าหมายให้ซัปพลายเออร์ระดับ Tier-one ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนั้นมีบริษัทเช่น Toyoda Gosei ผู้ผลิตถุงลมและชิ้นส่วนรถยนต์ และ Denso ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับรถยนต์ ซัปพลายเออร์เหล่านี้ ต้องปรับตัวให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวของ Toyota ด้วย
ส่วนบริษัท Amazon Web Services (AWS) กำหนดเป้าหมายใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2025 ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการดึงดูดบริษัทต่างชาติให้มาลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศ จำเป็นต้องปฏิรูปตลาดและโครงสร้างพลังงานเพื่อดึงดูด ขณะที่นักลงทุนสถาบันก็มีความต้องการลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainable Investment) มากขึ้นเช่นกัน ทำให้เกิดเป็นแรงกดดันให้ปรับตัวเป็นธุรกิจสีเขียวมากขึ้น
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอว่า ประเทศไทยต้องหยุดวงจรการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงหารูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะทำให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัย ‘เทคโนโลยี’ ในการขับเคลื่อน
ธุรกิจสีเขียวทางออกสู่ความยั่งยืน
ธุรกิจสีเขียวจะเป็นทางเลือกที่สำคัญเพื่อให้ภาคธุรกิจไทยรอด ซึ่ง ‘ธุรกิจสีเขียว’ (Green Business) ไม่ได้มีนิยามตายตัว แต่เป็นธุรกิจที่ดำเนินการโดยคำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีลักษณะสำคัญ คือ ลดการปล่อยมลพิษ, ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ, ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ, ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, ใช้พลังงานทดแทน และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประโยชน์จากการเป็นธุรกิจสีเขียว คือ ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ, ได้รับแรงจูงใจหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษี, เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ, สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ธุรกิจและแบรนด์, สร้างความพึงพอใจให้พนักงาน, ดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถมาร่วมงาน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า
ตัวอย่างธุรกิจสีเขียว
1. เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ตัวอย่าง : ‘SPCG’ ตั้งเป้ารายได้เติบโตจาก 2 ธุรกิจหลัก ที่ตอบโจทย์ความต้องการพลังงานสะอาด คือ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) โดยมีส่วนการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 3 โครงการ กำลังผลิตรวม 575 เมกะวัตต์ และมีธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) หรือ Banpu Next ธุรกิจบริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจร ทั้งแบบหลังคาอาคาร บนหลังคาลานจอดรถ และแบบลอยน้ำ
2. เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าลดมลพิษ ตัวอย่าง : การร่วมทุนระหว่าง ‘PTT’ และ ‘Foxconn’ โดยวางแผนร่วมทุนตั้งโรงงานแพลตฟอร์มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เพื่อรับจ้างผลิตให้กับค่ายรถแบรนด์ต่างๆ (OEM) โดยช่วงแรกจะสร้างแพลตฟอร์มผลิตฐานรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถขยายหรือลดขนาดความต้องการลูกค้า และคาดว่าจะเดินสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2023
3. เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่าง : ‘เกรซ’ (gracs) ผลิตภัณฑ์จากเยื่อพืชธรรมชาติ (เยื่อชานอ้อย เยื่อไผ่ ฟางข้าว และเยื่อพืชธรรมชาติชนิดอื่นๆ) ซึ่งมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าบรรจุภัณฑ์ทั่วไป คือ ไม่รั่วน้ำและน้ำมัน สามารถใส่อาหารได้ทั้งร้อนและเย็น เข้าไมโครเวฟ เตาอบ และช่องแช่แข็งได้ ย่อยสลายภายใน 31 – 45 วัน ซึ่งความต้องการของตลาด 7 – 8 ล้านชิ้นต่อวัน ขณะที่กำลังการผลิตปัจจุบัน 2 ล้านชิ้นต่อวัน
อุปสรรคและแนวทางแก้ปัญหา
ในการดำเนินธุรกิจสีเขียวยังมีปัญหาและอุปสรรคบางประการที่อาจไม่เอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัว แต่ละปัญหามีแนวทางแก้ดังต่อไปนี้
1. ธุรกิจพลังงานสะอาด – ปัญหา/อุปสรรค : กฎระเบียบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย, โครงข่ายระบบไฟฟ้า, นโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนไม่มีความชัดเจนและขาดความต่อเนื่อง, ต้นทุนเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน
ข้อเสนอ/แนวทาง/มาตรการ : พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์, มุ่งปลดล็อกกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า, การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา
2. ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า – ปัญหา/อุปสรรค : การส่งเสริมของภาครัฐขาดความชัดเจนทั้งในส่วนของมาตรการจูงใจในฝั่งของผู้บริโภค รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับรถยนต์ไฟฟ้า, ขาดความชัดเจนแนวทางในการจัดการแบตเตอรีที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าที่สิ้นอายุการใช้งาน
ข้อเสนอ/แนวทาง/มาตรการ : ควรมีการตีกรอบเป้าหมายการส่งเสริมที่ชัดเจน, โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งระบบการจ่ายไฟฟ้า สถานีชาร์จ/การอัดประจุ และศักยภาพในการรีไซเคิล เพื่อรองรับแบตเตอรีที่หมดอายุการใช้งาน
3. ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม – ปัญหา/อุปสรรค : ต้นทุนต่อหน่วยยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เช่น พลาสติก ทำให้ยังไม่จูงใจผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคให้ใช้อย่างกว้างขวาง
ข้อเสนอ/แนวทาง/มาตรการ : การประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคเกี่ยวกับความสำคัญของการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, แนวทางที่ชัดเจนของภาครัฐในการแบนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นอันตรายกับสุขภาพและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเอาจริงเอาจังในการดำเนินการกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืน
ธุรกิจสีเขียวไม่ใช่ทางออกของความอยู่รอดของภาคธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสู่ความยั่งยืนของโลก สิ่งแวดล้อมเป็นส่วนสำคัญในการดำรงอยู่ของมนุษย์และทุกสรรพสิ่ง ดังนั้น ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทั้งหมดนี้ เป็นเทรนด์ธุรกิจสีเขียวที่เป็นทางรอดของภาคธุรกิจสู่ความยั่งยืนของโลก สรุปจากการบรรยายโดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ จากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในงาน Future Trends Awards 2022
สามารถชม Session: Climate Change เร่งดันภาคธุรกิจปรับตัว: เทรนด์ ‘ธุรกิจสีเขียว’ ทางรอดของธุรกิจในปี 2023 โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย ในงาน Future Trends Awards 2022 ได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3Z3s9cd
สามารถชมไลฟ์สดบรรยากาศงาน Future Trends Awards 2022 รวมทั้งผลรางวัลและสปีกเกอร์ทุก Session ได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3PVrS6Z
ประมวลผลรางวัลและกิจกรรมภายในงาน ‘Future Trends Awards 2022’ สามารถชมได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3VpCNXN