“จะเจอเพื่อนดีๆ แบบนี้ที่ออฟฟิศใหม่อีกรึเปล่า?” เมื่อเพื่อนร่วมงานที่ดี คืออุปสรรคก้อนใหญ่ของการก้าวไปข้างหน้า
“การรายล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมงานที่ดี หัวหน้าที่ดี สังคมการทำงานที่ดีเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่มนุษย์ออฟฟิศแทบทุกคนให้ความสำคัญพอกับเงินเดือนที่ใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง”
นี่คือสิ่งที่ดิฉันถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของตัวเองในฐานะ First Jobber ที่ยังทำงานได้ไม่ถึงขวบปี และเรื่องราวของคนรอบข้าง เพราะการรายล้อมไปด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ นอกจากจะทำให้ทำงานได้ดีแล้ว ก็ยังทำให้แฮปปี้ทุกครั้งที่ลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วรู้ว่า วันนี้ต้องไปทำงาน… ด้วย
แต่ในความเป็นจริง งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อวันหนึ่งมีโอกาสเข้ามา มีงานใหม่ที่ให้ offer ดีกว่า ทั้งเรา หรือเพื่อนร่วมงานก็อาจจะขอเลือกแยกย้ายไปเติบโต
ถึงจะรู้ว่า การเติบโตเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เราพัฒนาเป็น ‘The best version of yourself’ ทว่า น่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ติดอยู่กับกับดัก Safe Zone นี้ หลายๆ ครั้งเลยเกิดความรู้สึกอีหลักอีเหลื่อในหัวว่า จะไปต่อหรือพอแค่นี้ รู้ได้ยังไงว่าออกไปแล้วจะดีกว่าเดิม ถ้าออกไปแล้ว เราจะได้เจอเพื่อนร่วมงานที่ดี หัวหน้าที่ดี สังคมการทำงานที่ดีแบบนี้อีกรึเปล่า?
เช่นเดียวกับผู้ใช้งานรายหนึ่งบนทวิตเตอร์ (Twitter) ที่เคยพูดถึงประเด็นในลักษณะคล้ายกันไว้อย่างน่าสนใจว่า “ส่วนตัว Safe Zone ที่น่ากลัว และเป็นอุปสรรคสำหรับการเติบโตในงานอย่างนึงคือ การที่เรามีสังคมที่ทำงานที่ดี เพื่อนร่วมงานดี แต่งานไม่มีโอกาสโต มันทำให้เราตัดสินใจจะไปเริ่มใหม่ยากมากเพราะเสียดายสังคม แล้วก็ไม่รู้ว่าที่ใหม่จะใจดีกับเราไหม เวลาเปลี่ยนงานแต่ละครั้งถ้าเพื่อนร่วมงานดีจะเศร้ามาก”
แม้ใจจะอยากลาออกไปเติบโตในบริษัทแห่งใหม่สักเท่าไร แต่ความผูกพัน ความสบายใจในสภาพแบบเดิมๆ กลับพันแข้งพันขา กลายเป็นอุปสรรคก้อนใหญ่ในการก้าวไปข้างหน้าของหลายๆ คน ว่ากันตามตรงแล้ว การรายล้อมไปเพื่อนร่วมงานที่ดีก็อาจเรียกได้ว่า เป็นเหมือนโบนัสดีๆ ที่ Top up ขึ้นมาจากโบนัสในเงินเดือนอีกชั้นเลยทีเดียว
แคทเธอรีน ฟิชเชอร์ (Catherine Fisher) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพของลิงก์อิน (LinkedIn) เคยอธิบายว่า มิตรภาพในที่ทำงานนั้นมีความสำคัญ มันทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกัน ช่วยเพิ่มแรงจูงใจ และผลลัพธ์ของงานให้ดีขึ้น การมีความสัมพันธ์แบบแน่นแฟ้นทำให้เรากล้าขอคำปรึกษาจากเพื่อนตรงๆ ซึ่งส่งผลดีอย่างยิ่งต่อเนื้องาน
สอดคล้องกับผลสำรวจของออฟฟิศไวบ์ (Officevibe) ที่เผยว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานบอกว่าเพื่อนในที่ทำงานเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในชีวิตการทำงานที่มีความสุข อีกทั้ง พลังแห่งมิตรภาพเช่นนี้ยังเป็นสิ่งที่บรรดาหัวหน้า และ HR หลายคนอยากให้เกิดขึ้นในบริษัทด้วย
โดยจากผลสำรวจของไวด์กู้ส (Wildgoose) ปีที่แล้วชี้ให้เห็นว่า 57 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานบอกว่าการมีเพื่อนสนิทในที่ทำงานช่วยเพิ่มความพึงพอใจ ช่วยให้งานราบรื่น สนุกขึ้น และมีแนวโน้มจะไม่ลาออก นอกจากนี้ อีก 22 เปอร์เซ็นต์ยังบอกว่า เมื่อได้ทำงานกับเพื่อนสนิท รู้สึก Productive ทำงานได้ดีกว่าเดิมเช่นกัน
“It’s easy to say Hello but hard times to say Goodbye.”
มันง่ายมากที่จะเอ่ยคำว่า สวัสดี แต่มันยากมากที่จะเอ่ยคำว่า ลาก่อน
ลึกๆ แล้ว ถึงจะเข้าใจดีว่า การจากลาเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับชีวิต พอถึงจุดหนึ่ง เราก็ต้องแยกย้ายกันไปเติบโตคนละทิศคนละทาง แต่คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่ว่าครั้งไหนๆ มันก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะทำใจยอมรับได้ทุกที
“Great is the art of beginning, but greater is the art of ending.” ศิลปะเเห่งการเริ่มต้นนั้นยิ่งใหญ่ เเต่ศิลปะเเห่งการสิ้นสุดยิ่งใหญ่กว่า
เฮนรี่ เเวดส์เวิร์ธ ลองเฟลโลว์ (Henry Wadsworth Longfellow)
การเติบโตไปสู่ New stage ของชีวิตที่เราไม่เคยยืนอยู่จุดนั้นมาก่อน มันก็น่าอึดอัดแบบนี้แหละ ไม่ต้องกลัวว่า กาลเวลาจะพัดพาเรากับพวกเขาออกจากกัน การลาออกไม่ได้หมายความว่า เราต้องเลิกเป็นเพื่อนกันสักหน่อย ท้ายที่สุดแล้ว ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติ คนที่ไม่ใช่จะหายไปตามธรรมชาติ ส่วนคนที่ใช่ คนที่ศีลเสมอกันก็จะยังคงอยู่ตามธรรมชาติ
ชาสต้า เนลสัน (Shasta Nelson) เคยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษามิตรภาพกับเพื่อนสนิทในวันที่ใครคนหนึ่งลาออกไปบนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ไว้ว่า ตามปกติมิตรภาพส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์แห่งชีวิตการทำงานหรือที่เรียกว่า ‘Work-Life Container’ แต่พอวันหนึ่งมีใครสักคนไม่มาที่คอนเทนเนอร์นั้นอีก
วิธีที่จะรักษามิตรภาพให้คงอยู่ตลอดไปได้ก็คือ ‘การหารูปแบบ และวิธีการใหม่ๆ ติดต่อกัน’ อาจจะหมั่นโทรเมาท์มอยกัน แชตเรื่องไร้สาระกัน นัดไปกินข้าวกัน นัดไปเที่ยวด้วยกันเป็นวาระก็ได้ พวกเขาไม่ได้หายไปหรอก ยังอยู่ Support กันทุกช่วงชีวิตเสมอ ในวันนี้เราก็แค่ไม่ได้เจอกันทุกวัน เมาท์กันแบบถึงพริกถึงขิง มองตาก็รู้ใจแบบเดิมก็เท่านั้น
อย่างสุดท้าย เธอบอกว่า ให้ขยายขอบเขตของบทสนทนา ‘หาเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องงานคุยกัน’ หรือหากจะอัปเดตชีวิตการทำงานของกันและกันจริงๆ กฎเหล็กข้อหนึ่งเลยก็คือ ‘อย่าพูดถึงบริษัทเก่าที่เพื่อนทำงานอยู่ในเชิงลบ ต้องมีสติ และ Empathy ต่อกันให้มากๆ’ เห็นใจเพื่อนที่ยังอยู่ต่อ แต่ในขณะเดียวกัน อีกฝ่ายก็ควรเห็นใจเราที่จากมาด้วย รวมไปถึงเวลาคุยก็ควรระวังว่า เรื่องราวของที่ทำงานใหม่ที่จะแชร์ออกไปนั้นเป็นการข่ม หรือขิงเพื่อนที่ยังคงทำงานที่บริษัทเก่ารึเปล่า?
การจากลาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนทุกช่วงชีวิต ไม่ใช่แค่วัยทำงาน แต่ประถม มัธยม มหาวิทยาลัยเราก็เคยผ่านกันมาแล้ว ในวันนี้เราก็แค่แยกย้ายกันไปเติบโตเท่านั้น แต่ก็ไม่แน่หรอกนะว่า วันหนึ่ง โชคชะตาอาจจะเหวี่ยงให้เรากับพวกเขาวนกลับมาเจอกันในบทบาทใหม่ๆ ก็ได้
จงอย่าเสียใจหากวันเวลาดีๆ จะจบลง เพราะอย่างน้อยครั้งหนึ่งมันก็เคยเกิดขึ้น เหมือนกับที่ตัวละครในภาพยนตร์วินนี่เดอะพูห์ (Winnie The Pooh) เคยบอกไว้ว่า
“How lucky am I to have something that makes saying goodbye so hard.” ฉันโชคดีแค่ไหนที่มีบางสิ่งที่ยากจะบอกลา
Sources: https://bit.ly/3uS29mu