Type to search

Sea (ประเทศไทย) เปิดโครงการ ‘Women Made: Girl in STEM’ มอบพื้นที่ค้นหาแรงบันดาลใจให้เยาวชนหญิงหัวใจ STEM

August 06, 2024 By Phoothit Arunphoon

‘Sea (ประเทศไทย)’ ร่วมกับ InsKru และสวทช. สร้างแรงบันดาลใจ สร้างการเข้าถึงให้เยาวชนเพศหญิงได้รู้จักสายอาชีพ STEM

Sea (ประเทศไทย) เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง การีนา ช้อปปี้ และซีมันนี่ ที่คนไทยรู้จักและคุ้นชินกันเป็นอย่างดี ได้จับมือร่วมกับ InsKru และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อเปิดตัวโครงการ ‘Women Made: Girl in STEM’ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดัน สร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงได้ทำความรู้จักกับการศึกษาและอาชีพสาย ‘STEM’

สำหรับ ‘STEM’ หรือ ‘สะเต็มศึกษา’ เป็นคำที่ใช้เรียกองค์ความรู้ในรูปแบบที่ถูกบูรณาการมาจาก 4 สาขาวิชาได้แก่ วิทยาศาสตร์ (S-Science) เทคโนโลยี (T-Technology) วิศกรรมศาสตร์(E-Engineering) และคณิตศาสตร์ (M-Mathematics) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ และการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

ลักษณะการศึกษาในรูปแบบนี้จะมีความท้าทายผู้เรียนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการบูรณาการ การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ การเรียนรู้แบบเน้นปฏิบัติจริง (Active Learning) และการเข้าถึงแก่นแท้ของดิจิทัล ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม STEM รายล้อมไปด้วยโอกาสแห่งการเติบโต

ตัวอย่างอาชีพในแวดวงของ STEM จะมีรากฐานมาจาก 4 สาขาวิชาที่กล่าวไปข้างต้น และแตกแขนงออกไปอีกมากมาย เช่น วิศวกรการบิน วิศวกรเสียง นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นิติวิทยาศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เป็นต้น

จากข้อมูลข้างต้นเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นโครงการการเรียนรู้ที่ดี แต่คุณคงจะตั้งคำถามว่าทำไมโครงการถึงสร้างมาเพื่อดึงดูดเด็กผู้หญิงกัน?

ต้นเหตุมาจากสัดส่วนการมีอยู่ของผู้หญิงในกลุ่มการศึกษาและอาชีพ STEM นั้นน้อยกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่แท้จริงแล้ว งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเด็กผู้หญิงมักจะมีความสนใจทางด้าน STEM ในระดับเดียวกันกับเด็กผู้ชายในระดับประถม แต่มักจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทำให้เราเห็นถึงความท้าทายที่ผู้หญิงต้องเผชิญกับการมีตัวตนอยู่ในแวดวง STEM

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างภาพให้เห็นว่าผู้หญิงก็สามารถทำงานในอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยผู้ชายได้เช่นกัน

ความท้าทายของการศึกษาและการมีตัวตนในแวดวง STEM ของผู้หญิง

อุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยผู้ชายสร้างความท้าทายอย่างมากให้กับผู้หญิง ที่ต้องเผชิญเมื่อมีความฝันและมุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพในแวดวง STEM นอกเหนือจากงานวิจัยที่เราได้ยกตัวอย่างไปแล้ว ยังมีตัวเลขจากการรายงานดัชนีช่องว่างระหว่างเพศประจำปี 2566 ที่จัดทำขึ้นโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Ecoonomic Forum) พบว่า จากการจ้างงานทั้งหมดในกลุ่มอาชีพ STEM มีเพียงร้อยละ 29.2 เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง

หมายความว่าจะมีผู้หญิงเพียง 29 คน ที่ได้รับการจ้างในสายอาชีพ STEM จากจำนวน 100 คน

เป็นตัวเลขที่ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศในมุมมองของการจ้างงานเอาเสียเลย ยิ่งนำมาเทียบกับการจ้างงานในสายอาชีพนอกกลุ่ม STEM ยิ่งเห็นความแตกต่างที่ผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพในสายอื่นๆ ได้มากถึงร้อยละ 49.3 หรือเกือบครึ่งจากการจ้างงานทั้งหมด

ถ้าพูดถึงเรื่องสาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าดัชนีช่องว่างระหว่างเพศแตกต่างกันมากขนาดนั้น มีที่มาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมเกี่ยวกับเพศที่คนส่วนใหญ่มองว่า STEM เป็นพื้นที่ของผู้ชาย ซึ่งหลอมรวมมาจากแนวคิดของผู้คนทั้งในระดับปักเจกบุคคลและสังคม สอดคล้องกับสังคมชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกมาจากอดีต ถึงแม้หลายๆ วัฒนธรรมจะแสดงให้เห็นความเท่าเทียมที่จับต้องได้แล้ว แต่ก็ยังคงมีการยึดโยงผู้ชายกับกลุ่มอาชีพ STEM อยู่

หรือ จะเป็นเพราะการขาดแบบอย่างที่เห็นได้ชัดและจับต้องได้ ในสื่อ หนังสือ และวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยมีการเชิดชูผู้หญิงในสายอาชีพนี้เท่ากับผู้ชาย ทำให้ตัวอย่างที่เด็กผู้หญิงจะยกเป็นไอดอลนั้นมีน้อยกว่า และส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกเดินในสายอาชีพที่ต่างออกไป เพราะเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าตัวเองจะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้หญิงที่มีความสำเร็จในสายงาน STEM อย่างไรได้บ้าง

ด้วยตัวเลขและเหตุผลเหล่านี้ สร้างความตระหนักให้กับ Sea (ประเทศไทย) ในการริเริ่มโครงการ Woman Made: Girl in STEM เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิงที่มีความฝัน ความสามารถ และความสนใจที่จะศึกษาต่อในสาขาอาชีพ STEM

ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิง ด้วยโครงการ Women Made: Girl in STEM

สำหรับโครงการ Women Made: Girl in STEM โดย Sea (ประเทศไทย) ร่วมมือกับ InsKru และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กผู้หญิงหันมาสนใจและศึกษาต่อในสาขา STEM มากยิ่งขึ้น มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการเลือกทางเดินด้านการศึกษาได้รวดเร็วและชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยจัดกิจกรรม Day Camp ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ณ อาคารสราญวิทย์ (อาคาร 12) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีน้องๆ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและคุณครู เข้าร่วมงานกว่า 90 คน

กิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วย

1. เวทีเสวนาจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง: แบ่งปันประสบการณ์จริงจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพ STEM ด้วยวิทยากรที่ได้มาสร้างแรงบันดาลใจ อย่าง คุณปริพรรษ ไพรัตน์ วิศวกรดาวเทียม คุณจักรพงศ์ พุ่มไพจิตร ท็อฟฟี่ เป็นตุ๊ดซ่อมคอม และคุณภวิษย์พร เจียรประเสริฐ ผู้จัดการอาวุโส บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด

2.ห้องสมุดมนุษย์ (Human Library): กิจกรรมที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียน สามารถพูดคุยกับคนทำงานในแวดวง STEM ได้ใน 9 อาชีพ ได้แก่ โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ นักวิจัยนาโนเทคโนโลยี วิศวกรเสียง นักนิติวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เภสัชวิทยาภูมิคุ้มกัน วิศวกรการบินและอวกาศ และนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เพื่อศึกษาเส้นทางสายอาชีพ การศึกษา และความรู้สึกของการทำงานในแวดวง STEM

3. จดหมายบ่ายวันศุกร์: กิจกรรมที่ชวนนักเรียนและคุณครูมาสะท้อนความคิด ความต้องการและมุมมองของนักเรียนและคุณครูหลังจากจบกิจกรรม เพื่อเป็นการสร้างเสริมแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนหญิงทุกคน อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่เป็นกระบอกเสียงเพื่อขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศทางการศึกษาและการทำงานอีกด้วย

4. กิจกรรมให้ความรู้และเวิร์กช้อปสำหรับคุณครู: กิจกรรมนี้จะให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้แก่คุณครูว่าบนโลกใบนี้เด็กนักเรียนหญิงก็สามารถเข้าถึงการศึกษา STEM ได้ เพื่อที่จะเปิดทางให้มีการแนะแนวการสอน STEM ภายในโรงเรียน สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมมุมมองแห่งโอกาสในด้านของอาชีพและการศึกษา

ทั้งนี้ ผู้ร่วมงานที่เป็นนักเรียนกว่า 60 คน ต่างมีความสนใจในด้าน STEM เป็นทุนเดิม โครงการ Women Made: Girl in STEM จะเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจและสานต่อความตั้งใจในการในการเดินตามความฝันในการเรียนและมุ่งหน้าทำงานด้าน STEM ในขณะเดียวกันผู้เป็นครูอีก 30 คน ก็มีบทบาทสำคัญในการแนะแนวอาชีพที่ต้องการทักษะ STEM และเปลี่ยนการเรียนรู้ให้เป็นแบบบูรณาการ แสดงให้เห็นว่า STEM เชื่อมโยงกันในการแก้ปัญหาจริง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงการสะเต็ม การใช้เทคโนโลยีในการสอน และกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจตลอดจนพัฒนาทักษะสำคัญสำหรับเด็ก

บทสรุปของ STEM และโครงการ Women Made: Girl in STEM

งานที่จัดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ Sea (ประเทศไทย) ในการสร้างความร่วมมือกับ InsKru และ สวทช. อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเด็กๆ ที่มีความฝักใฝ่และแสวงหาความรู้ STEM ถึงแม้ว่าสังคมจะมีแนวคิดว่าแวดวงนี้เป็นของผู้ชาย

แต่กิจกรรมภายใน Day Camp ก็ได้สร้างความตระหนักรู้ให้เด็กและคุณครูกว่า 90 คน รู้แล้วว่าผู้หญิงก็สามารถเข้าถึงกลุ่มอาชีพ STEM ได้เช่นกัน นำไปสู่การต่อสู้และแนะแนวการศึกษาให้ทุกคนได้เดินตามความฝัน ที่ถูกสนับสนุนและส่งเสริมด้วยโครงการ ‘Women Made: Girl in STEM’

นอกเหนือจากโครงการ ‘Women Made: Girl in STEM’ แล้ว Sea (ประเทศไทย) ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะดิจิทัล สู่อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง และเปิดประตูต้อนรับโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาตนเอง เพียงแค่เข้าชมเว็บไซต์ 🌐 ได้ที่ Sea Academy

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
Sources: AAUW – The STEM Gap: Women and Girls in Science, Technology, Engineering and Mathematics : https://www.aauw.org/resources/research/the-stem-gap/

Carleton College – Are Women Reaching Parity with Men in STEM? : https://econofact.org/are-women-reaching-parity-with-men-in-stem