“Coding” ทักษะแห่งอนาคตที่กำลังจะกลายเป็น ‘ทักษะพื้นฐานในชีวิต’ ของทุกคน
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าทักษะ “เขียนโค้ด” ที่ว่านี้จะกลายเป็นทักษะพื้นฐานที่เรียนและใช้กันอย่างแพร่หลาย และความต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านนี้เองก็จะลดลงเพราะเครื่องจักร และ Low-code ต่าง ๆ
การเขียนโค้ด (Coding) กำลังจะเป็นวิชาและทักษะที่หลาย ๆ สถานศึกษาให้ความสำคัญ ในโรงเรียนมัธยมบางแห่งก็เริ่มนำมาบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว แม้ว่านักเรียนจะไม่ได้ต้องการไปทำงานในสายเทคฯก็ตาม เพราะว่ามัน ‘จำเป็น’ และ ‘ควรรู้’ มากกว่าที่เราเคยรู้จักมาในอดีต ถ้านึกไม่ออกว่ามันจำสำคัญขนาดไหน…นี่คิดว่าน่าจะสำคัญพอ ๆ กับตอนที่เราควรเรียนการอ่านล่ะมั้ง…
Coding is language of the future.
นี่คือความจริงนะ ปฏิเสธไม่ได้เลย เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่าอนาคตที่รออยู่ข้างหน้าจะเต็มไปด้วยเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ AI หรือสิ่งใหม่ ๆ อะไรก็แล้วแต่ที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่โดยที่เราไม่อาจรู้ล่วงหน้า แต่สิ่งที่เรารู้ตอนนี้คือ ‘การเขียนโค้ด’ มันขับเคลื่อนเทคโนโลยีเหล่านี้ และเป็นพื้นฐานของอาชีพยุคใหม่ หรือ ‘Digital Jobs’ ที่จะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
ในปี 2016 บริษัท Gallup และ Google ได้ร่วมมือกันเพื่อหาชั้นเรียนที่มีการสอนเขียนโค้ดใน K-12 (ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้ในอเมริกา) และพวกเขาพบว่าร้อยละ 40 ของโรงเรียนทั้งหมดมีวิชานี้อย่างน้อย 1 คลาส แต่ความน่าสนใจคือเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านี้จำนวนคลาสยังอยู่แค่ร้อยละ 25 เท่านั้น! นั่นแปลว่าทักษะนี้ได้รับความสนใจ และมันมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในประเทศไทยเองก็กำลังตามไปติด ๆ นะ เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 62 ทางกระทรวงศึกษาธิการเองก็ได้ออกมาบอกว่า
สำหรับการเรียนการสอน Coding ไม่ได้เป็นการสอนการเขียนโปรแกรม หรือเขียน Coding แต่เป็นการสอนตรรกะ ทำให้เด็กรู้จักการแก้ปัญหา และเรียนได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จะมีคอมพิวเตอร์ หรือไม่มีก็สามารถเรียนได้ – bangkokbiznews
ทักษะการเขียนโค้ดกำลังได้รับความสนใจขึ้นอย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เด็กได้ฝึกคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเท่านั้น แต่ยังเป็นทักษะที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่มีงานทำที่มั่นคงในอนาคตอีกด้วย
ต่อไปใคร ๆ ก็เป็นโปรแกรมเมอร์ได้?
ในขณะที่ทักษะนี้จะถูกสอนอย่างแพร่หลายมากขึ้น ก็มีการคาดการณ์ว่า ‘ความลึก’ ของมันก็จะน้อยลงเหลือแต่เรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้เท่านั้น เหมือนเราบางคนที่เรียนเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยาพื้นฐานที่เราอาจจะได้ความรู้เบื้องต้นมา และแน่นอนว่าต่อไปใคร ๆ ก็จะสามารถเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ แต่จำนวนของโปรแกรมเมอร์ที่เก่งกาจมือฉมังจริง ๆ อาจไม่เพิ่มขึ้น และเผลอ ๆ อาจจะลดลงก็เป็นได้ ทั้งจากการเรียนที่ว่าและรวมไปแพลตฟอร์มที่เข้ามาช่วยให้การเขียนโค้ดกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน
การเพิ่มขึ้นของ Low-code (แนวคิดการออกแบบและพัฒนา Software Application แบบที่มีการเขียนโค้ดเองเกิดขึ้นน้อยที่สุด) เช่น Salesforce หรือ AgilePoint ที่เข้ามาลดความยุ่งยากทางเทคนิคบางอย่างให้มันง่ายขึ้น ซึ่งแพลตฟอร์มที่ว่านี้จะช่วยให้คนทำงานเบื้องหลังแอป หรือโปรแกรมต่าง ๆ ทำงานง่ายขึ้น
ระบบอัติโนมัติ และ Machine Learning เองก็จะเข้ามาเปลี่ยนตรงจุดนี้ด้วยเช่นกัน
อนาคตข้างหน้าอาจหมายความว่า ‘เราอาจจะไม่ต้องรู้วิธีการเขียนโค้ด เขียนโปรแกรมอย่างเชี่ยวชาญอีกต่อไป’ เพราะเรามีตัวช่วยแล้ว แค่เรียนพื้นฐานมาก็อาจจะทำงานได้เลยอย่างคล่องแคล่ว
จะช่วยให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญง่ายขึ้นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาซอฟต์แวร์ในอนาคตอันใกล้นี้ การเรียนรู้แบบอัตโนมัติและเครื่องจักรกำลังเปลี่ยนแปลงลักษณะของงานอย่างรวดเร็วและการพัฒนาซอฟต์แวร์ก็ไม่มีข้อยกเว้น อนาคตอัตโนมัติอาจหมายความว่าไม่มีใครจำเป็นต้องรู้วิธีการเขียนโปรแกรมอีกต่อไป ขนาดที่ว่านักวิจัย Google AI ยังเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต
แทนที่จะนั่งทำงานเขียนโปรแกรมซับซ้อน อนาคต ‘นักพัฒนาซอฟต์แวร์’ จะกลายเป็นครู ผู้ดูแลข้อมูล และนักวิเคราะห์ข้อมูล
โดยรวมแล้ว ทักษะการเขียนโค้ดที่ว่า จะกลายเป็นทักษะพื้นฐานเหมือนการฟัง พูด อ่าน เขียน แต่จะเป็นไปในทิศทางไหนต่อนั้นยังไม่แน่นอน เพราะความต้องการด้านความเชี่ยวชาญเหล่านี้จะลดน้อยลงเนื่องจากการเรียนรู้ของเครื่องจักร ทุกคนจะกลายเป็นโปรแกรมเมอร์มือใหม่ที่คุ้นเคยกับการเขียนโค้ด และสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือซอฟแวร์ต่าง ๆ ที่ยืดหยุ่น และใช้งานง่าย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำออกมาได้ดีเท่ากัน
คุณนึกออกใช่ไหม?
สำหรับคนรุ่นเก่าอย่างเราที่อาจจะไม่ได้เรียนทักษะ หรือความรู้นี้มาในพื้นฐาน ตอนนี้ก็มีห้องเรียนออนไลน์มากมายให้ลงเรียน หรือจะเวิร์คชอปกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเลยยังได้ อย่ารอช้า อย่ายอมแพ้กับอนาคต อย่าเก๋าในความรู้จนกลายเป็นคนเก่าที่สู้วิทยาการใหม่ ๆ ไม่ได้เสียล่ะ…