จากปุ๋ยแพง สู่วัตถุดิบขาดแคลน และเรา (อาจ) จะอดตายกันหมด ผลพวงจาก ‘วิกฤตอาหารโลก’ ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
‘อาหาร’ คือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะมันคือแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย แต่หากแหล่งพลังงานนี้ ถูกตัดขาดจากวิกฤตต่างๆ จนเข้าสู่ ‘ภาวะอดอยาก’ ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร?
องค์การอาหารโลก (World Food Program หรือ WFP) ชี้ จะมีประชากรอีก 125 ล้านคน ที่เข้าสู่ภาวะอดอยาก
ดัชนีราคาอาหาร (Food Price Index) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) แสดงแนวโน้มของราคาอาหารในปัจจุบัน ที่สูงขึ้นจากเดิมถึง 60 เปอร์เซ็นต์
ตัวเลขพวกนี้ กำลังบอกอะไรเรา?
และสิ่งที่ตัวเลขเหล่านี้ กำลังบอกกับเราได้อย่างชัดเจนที่สุด คงจะเป็น ‘การเข้าสู่วิกฤตอาหารโลก (Food Crisis) อย่างเป็นทางการ’
ก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ว่า จะไม่มีปัญหาภาวะอดอยากหรือการขาดแคลนอาหารเลย แต่ตอนนั้น เป็นเหมือนปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะบางพื้นที่มากกว่า ยังไม่แผ่ขยายวงกว้างกระทบกับประเทศใหญ่ๆ อย่างในปัจจุบัน และจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หลายๆ คนเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้น ก็คือ การที่อินเดียระงับการส่งออกข้าวสาลีที่เป็นอาหารหลักของคนทั้งโลก
ถามว่า ทำไมการที่อินเดียระงับการส่งออกข้าวสาลีถึงเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้?
เป็นเพราะว่า อินเดียคือผู้ส่งออกข้าวสาลีรายสำคัญของโลก ถึงจะไม่ใช่รายใหญ่ที่สุด แต่ก็มีหลายประเทศที่อยู่ใน ‘เชน’ หรือห่วงโซ่การบริโภคภายใต้การส่งออกของอินเดีย จึงทำให้ความมั่นคงทางอาหารของประเทศเหล่านั้น ถูกผูกติดไว้กับอินเดียไปโดยปริยาย ดังนั้น เมื่ออินเดียระงับการส่งออกข้าวสาลี ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในเชนการบริโภคก็จะขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตคนในประเทศไปด้วย
เมื่อโดมิโนตัวแรกล้ม ตัวที่สอง ตัวที่สาม และตัวอื่นๆ จะล้มตามมาเรื่อยๆ
หากมองว่า ประเด็นหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตอาหารโลกเป็นโดมิโนตัวที่หนึ่ง และการที่อินเดียระงับการส่งออกข้าวสาลีเป็นโดมิโนตัวที่สอง แล้วโดมิโนตัวที่สามจะเป็นอะไร?
ก็คงต้องบอกว่า เป็นภัยจากความมั่นคงทางอาหารของแต่ละประเทศที่มีเชนการบริโภคที่ผูกติดกับประเทศที่เป็นแกนหลักในการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นอินเดียหรือประเทศใดๆ ก็ตาม เช่น ซูดานประสบปัญหาขาดแคลนอาหารเพิ่มขึ้น 2 เท่า ราคาอาหารในศรีลังกาพุ่งสูงเป็นอันดับสองของเอเชีย สมาคมอาหารสัตว์ในฝรั่งเศสเรียกร้องให้รัฐบาลเริ่มกักตุนอาหารสัตว์ เป็นต้น
และในอนาคต ไทยอาจจะเป็นประเทศที่กลายเป็นโดมิโนตัวที่สามที่ล้มแรง จนใครๆ ก็สัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือน เพราะจริงๆ แล้ว ไทยก็เป็นประเทศที่มีการนำเข้าข้าวสาลีเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณการบริโภคไม่แพ้ข้าวหอมมะลิที่สามารถผลิตได้ในประเทศ
แล้ว ‘โดมิโนตัวที่หนึ่ง’ ที่เป็นประเด็นหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตอาหารโลก มันคืออะไรกันแน่?
วันนี้ เราจะพาทุกคนไปวิเคราะห์ เจาะลึกในทุกประเด็นที่สามารถส่งแรงสั่นสะเทือนต่อเชนการบริโภคของคนทั้งโลกไปพร้อมๆ กัน
สงครามรัสเซีย-ยูเครน
หากจะกล่าวว่า ประเด็นนี้ คือสาเหตุใหญ่ที่สุดของวิกฤตอาหารโลกก็คงจะไม่ผิดนัก อย่างที่ทราบกันดีว่า สงครามคือสิ่งที่ทำให้ทุกอย่าง สามารถหยุดชะงักได้ในพริบตาเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าภายในประเทศ
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ทั้งรัสเซียและยูเครนยังถือเป็น ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ ของคนทั้งโลกอีกด้วย เพราะมีสัดส่วนการส่งออกวัตถุดิบต่างๆ รวมกันถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกข้าวสาลี รวมกันถึง 28 เปอร์เซ็นต์ และส่งออกน้ำมันดอกทานตะวัน รวมกันถึง 75 เปอร์เซ็นต์
เมื่ออู่ข้าวอู่น้ำ มีการชะลอการส่งออกจากภัยสงคราม ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในเชนการบริโภคของสองประเทศนี้ ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะในขณะที่ความต้องการยังมีเท่าเดิม แต่วัตถุดิบมีจำกัด จึงทำให้เกิดการแย่งชิงกัน ราคาของวัตถุดิบก็สูงขึ้นตามกลไกทางเศรษฐศาสตร์ ประเทศไหนที่รวย ก็ชนะไป แต่ประเทศที่จน ก็ต้องอดทนกับความลำบากที่เกิดจากความขาดแคลนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นอกจากนี้ รัสเซียยังเป็นฐานการส่งออกปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลก แน่นอนว่า การส่งออกปุ๋ยก็ต้องชะลอตัวตามภัยสงคราม เมื่อปุ๋ยมีน้อย ส่งผลให้ปุ๋ยแพง พอปุ๋ยแพง เกษตรกรก็ต้องใช้ในปริมาณต่ำ ทำให้ได้ผลผลิตน้อยกว่าความต้องการ และท้ายที่สุด วัตถุดิบในท้องตลาดก็จะมีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น
สภาพภูมิอากาศแปรปรวน
ประเด็นนี้ ส่งผลกับอินเดียมากที่สุด เพราะในช่วงที่ผ่านมา อินเดียมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 42-44 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่สูงเช่นนี้ ลำพังคนยังอยู่ลำบาก ดังนั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึงพืชที่ไวต่อความร้อนสูงอย่าง ‘ข้าวสาลี’ เลยว่าจะอยู่รอดได้อย่างไร และนี่อาจจะทำให้ผลผลิตของข้าวสาลีในอินเดีย มีโอกาสลดลงถึง 10-50 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ การที่สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจากปัญหา ‘Climate Change’ ก็ยังทำให้พืชไม่สามารถผลิดอกออกผลได้ตามฤดูกาลของตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลผลิตในท้องตลาดจึงมีปริมาณน้อยมากๆ ซึ่งไม่สอดคล้องต่อความต้องการในการบริโภคของคนในประเทศ
นโยบาย ‘Zero-Covid’ ของจีน
ประเด็นนี้ อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลิตมากนัก แต่จะเกี่ยวข้องกับการขนส่งมากกว่า อย่างที่ทราบกันดีว่า จีนเป็นประเทศที่มีท่าการนำเข้าและการส่งออกที่สำคัญของโลกอยู่หลายแห่ง แต่เมื่อจีนออกนโยบาย ‘ซีโร่ โควิด’ ปิดเมือง ล็อกดาวน์ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ เท่ากับว่า กิจกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน อย่างการทำงาน และการเปิดท่าเรือเพื่อรับ-ส่งสินค้า จะหยุดชะงักลงไปด้วย ทำให้การขนส่งจากต้นทางที่ชะลอตัวอยู่แล้ว ต้องมาเจอการชะลอตัวที่ท่าขนส่งอีก กลายเป็นว่า กว่าจะจบการขนส่งแต่ละครั้ง ก็ไม่ทันต่อความต้องการในการบริโภคของคนทั้งโลกอยู่ดี
ถึงแม้ว่า ทุกคนจะคาดหวังให้วิกฤตอาหารโลกในครั้งนี้ ผ่านพ้นไปโดยเร็ว แต่ทั้งสามประเด็นที่ทำให้เกิดวิกฤตนี้ขึ้นมา ก็ดูเหมือนว่า จะยังไม่จบในเร็ววันอย่างแน่นอน หรือไม่ก็ต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะคลี่คลายสถานการณ์เหล่านี้ได้
ดังนั้น ทางออกของแต่ละประเทศที่อยู่ในเชนการบริโภคภายใต้การส่งออกของประเทศที่เป็นแกนหลัก คงต้องพยายามยืนให้ได้ด้วยลำแข้งของตัวเองกันไปก่อน อาจจะเป็นการวิจัยและพัฒนาการเกษตรในประเทศของตนเอง หรือวิธีการอื่นๆ ตามความเหมาะสมที่ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม และการตัดสินใจของรัฐบาลในประเทศนั้นๆ
Sources: https://econ.st/3yVqvin
https://bit.ly/3GaSVqa
https://bit.ly/39Reos9
https://reut.rs/3lDMUZC
https://bit.ly/3akqABV