ไม่ได้อยากทำงานที่รัก แต่อยากทำงานที่รวยเร็วๆ FAT FIRE แนวคิดการทำงานแบบรีบรวย รีบเกษียณ
“ใครอยากเป็นเศรษฐี?
“ฉันน่ะสิ ฉันน่ะสิ”
ประโยคด้านบนนี้ คือสิ่งที่เรามักจะได้ยินอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นจากท่วงทำนองเพลง การหยอกล้อกับคนรอบตัว หรือการเลื่อนเจอบนฟีดเฟซบุ๊ก (Facebook) ก็ตาม
แม้มองเผินๆ แล้ว จะเป็นเพียงแก๊กตลกที่อ่านผ่านๆ แล้วก็รู้สึกขำขันดี ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรนัก แต่หากมองให้ลึกลงไป จริงๆ แล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้กลับสะท้อนอีกแง่มุมหนึ่งว่า สำหรับคนที่ไม่ได้คาบช้อนเงิน ช้อนทองมาเกิด การมีชีวิตที่ดี ร่ำรวย สมบูรณ์พร้อมในเรื่องการเงินถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของชีวิต
FAT FIRE คือคำศัพท์ที่ใช้อธิบายกลุ่มคนที่อยากมีอิสระทั้งเงินและเวลาให้เร็วที่สุด ชนิดว่า พออายุครบรอบวงที่สี่ หรือเมื่อไรก็ตามที่มีเงินเก็บมากถึง ‘25 เท่าของค่าใช้จ่ายรายปี’ คนกลุ่มนี้ก็พร้อมจะโบกมือลาไปใช้ชีวิตบั้นปลายใน ‘Golden Year’ แทนที่จะนั่งตรากตรำทำงานทุกวันเหมือนคนทั่วไป
หลักๆ แล้ว คนที่ทำตามเทรนด์นี้จะมีมุมมองความเชื่อว่า ‘ยอมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำงานที่ตัวเองรัก ชอบ หรืออินอีกต่อไป แต่เปลี่ยนเป็นการทำงานอะไรก็ได้ที่มีเงินเดือนสูงๆ ค่าตอบแทนก้าวกระโดด ทำให้รวยเร็วๆ เพื่อเก็บเงินไปทำในสิ่งที่รักในวัยเกษียณ
อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็จะยังคงไว้ซึ่งไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ปกติ ได้ใช้เงินตามใจตัวเอง เพียงแค่ขยันให้มากกว่าเดิม ลองลงทุนอะไรหนักๆ เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่มหาศาลก็เท่านั้น
โดยคำว่า FAT ในที่นี้ก็คล้ายกับ การโหมเก็บสะสมเงินให้เยอะๆ แบบเดียวกับการเก็บสะสมไขมันผ่านการกิน หรือที่เรียกว่า ‘FAT’ ส่วนคำว่า FIRE ก็ย่อมาจากคำว่า Financial Independence. Retire Early การมีอิสรภาพทางการเงิน และการเกษียณอายุให้เร็ว
อีกทั้ง นี่ก็ไม่ใช่เทรนด์ที่เพิ่งเกิดแต่อย่างใด แต่ว่ากันตามตรง ก็เป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติมานานกว่าสามทศวรรษจาก FIRE Movement กระแสต่อต้านหนังสือขายดี Your Money or Your Life ของวิกกี โรบิน (Vicki Robin) และโจ โดมิงเกวซ (Joe Dominguez) แล้ว
ซึ่งภายในหนังสือพวกเขามีการบอกเล่าว่า มนุษย์เราสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยความพอเพียง และตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก จากนั้น นำเงินออมจากงานประจำไปลงทุนให้มากที่สุด และพอผลตอบแทนของการลงทุนออกดอกออกผลมากพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ของชีวิต เมื่อถึงเวลานั้น เราก็จะมีอิสรภาพเรื่องเวลา และไม่มีความจำเป็นต้องทำงานประจำอีกต่อไป กล่าวคือ คนกลุ่มนี้ ต้องการบอกลาการทำงานให้เร็วที่สุด เพื่อไล่ตามสิ่งที่รักไวๆ นั่นเอง
ในทางกลับกัน ถึงจะดูเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ แต่ก็มีบทความหนึ่งบนเว็บไซต์ฟอร์บส์ (Forbes) พูดถึงแง่มุมความน่ากลัวประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า อนาคตมักจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูง ความวุ่นวายทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ถดถอย ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครรับประกันได้ว่า เงินก้อนที่ตั้งใจเก็บเป็นมั่นเป็นเหมาะอย่างดี พอถึงเวลานั้นจริงๆ จะเพียงพอรึเปล่า
หากเลิกงานไปดื้อๆ เมื่อเงินไม่พอใช้ คิดจะกลับเข้าลูปชีวิตมนุษย์ออฟฟิศก็ย่อมเป็นเรื่องยากกว่าคนที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการทำงานหนักเกินไปก็ยังทำให้ชีวิตปัจจุบันค่อยๆ เลือนหายไป และทำลายสุขภาพลงเรื่อยๆ ด้วย อย่างเช่น การทำงานหนักอาจทำให้คุณล้มป่วย และอยู่ไม่ทันได้ใช้เงินก้อนในบั้นปลายสุดท้ายของชีวิต
จัสติน แม็กเคอร์รี (Justin McCurry) ผู้เขียนเกี่ยวกับกลยุทธ์ FIRE และที่ปรึกษาด้านการเกษียณอายุก่อนกำหนดของเว็บไซต์รูท ออฟ กูด (Root of Good) อธิบายว่า “ตามปกติที่เราเกษียณกันตอนอายุ 65 ปี จะต้องหยิบเงินเก็บมาใช้ปีละ 4 เปอร์เซ็นต์ของเงินทั้งหมด แต่ในเคสการเกษียณก่อนกำหนดลักษณะนี้ ควรเขยิบตัวเลขไปอยู่ที่ 3.5 เปอร์เซ็นต์แทน”
ไม่มีใครอยากนั่งทำงานตลอดไปจนแก่ เราทุกคนต่างก็อยากมีบั้นปลายชีวิตที่ดี ที่สบายด้วยกันทั้งนั้น แม้เงินจะไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่อย่างน้อยที่สุดแล้ว เราก็ไม่สามารถหลีกหนีความจริงที่ว่า ‘เงินทำให้เราอิ่มท้องได้จริงๆ’ อยู่ดี
“ฉันไม่อยากเป็นคนเก่ง ฉันอยากเป็นคนรวย ฉันเหนื่อย”
ไม่ใช่แค่คุณหรอกที่กำลังรู้สึกแบบนี้ แต่ผู้เขียนเองก็รู้สึกแบบเดียวกันทุกครั้งที่ลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วรู้ว่า ‘วันนี้ต้องไปทำงานอีกแล้ว’ เช่นกัน…
Sources: https://bit.ly/3MyWBoZ
งาน Digital SME Conference Thailand 2022 เซสชัน Leadership & People Management for The Future of Work โดยอภิชาติ ขันธวิธิ, สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม และชญาทัตน์ วงศ์มณี