Type to search

คนไทยต้องแบก ‘หนี้’ อะไรบ้าง? ว่าด้วยหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้สาธารณะ

June 03, 2020 By Future Trends

คอลัมน์ : Eco-No-Myth
เขียนโดย T.piraporn


เข้าสู่ช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 2 มาสดๆ ร้อนๆ ซึ่งเมื่อช่วงปลายพฤษภาคม (ก็คือเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี่แหละ) กลุ่มธุรกิจ องค์กรรัฐวิสาหกิจ รวมถึงภาคเอกชนหลายแห่งได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสแรกคือ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม หลายคนก็คาดการณ์กันว่า อย่างไรก็ตามแนวโน้มตัวเลขผลประกอบการที่ออกมาก็คงจะลดลงไปตามๆ กันแน่นอน และในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ตัวเลขของ ‘หนี้’ โดยเฉพาะอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อยเลย

กางดูตัวเลขและปัญหาของ ‘หนี้ครัวเรือน’

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ ‘สภาพัฒน์ฯ’ เปิดเผยรายงานภาพรวมของภาวะสังคมไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ในรายงานได้ระบุถึงสาระสำคัญอยู่หลายประการด้วยกัน อาทิเช่น อัตราการเจ็บป่วยที่ลดลง คดีอาญาลดลง การเกิดอุบัติเหตุทางบกลดลง อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับที่ต่ำ รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนก็มีอัตราการขยายตัวที่ลดลงด้วย

นั่นหมายความว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสมคงไม่น่าเป็นห่วงแล้วอย่างงั้นใช่ไหม?

คำตอบคือ แม้จะขยายตัวลดลง แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ก็ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง จากเดิมที่หนี้ครัวเรือนขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ในไตรมาสที่แล้ว ไตรมาสนี้ได้ปรับลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ซึ่งเหตุผลที่ทำให้การขยายตัวลดลงก็มาจากการปรับตัวลดลงในสินเชื่อทุกประเภท อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้สินเชื่อของสถาบันการเงินแต่ละแห่งปรับลดสอดรับไปกับสถานการณ์ด้วย ฉะนั้น ตัวเลขของหนี้ครัวเรือนที่ลดลงจึงไม่อาจนำมาซึ่งความยินดีปรีดาของเราๆ ได้เลยหากมองด้วยแว่นแบบนี้

หรือถ้าลองดูรายละเอียดรายงานของสภาพัฒน์ฯ ให้ลึกลงไปอีกก็จะพบว่า เปอร์เซนต์หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังอยู่ในระดับที่สูงมากๆ สูงที่สุดในรอบ 14 ไตรมาสที่ผ่านมาด้วยตัวเลขกว่าร้อยละ 79.8 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจภาพรวมที่ชะลอตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วตั้งแต่ปี 2559 เมื่อรวมกับสถานการณ์โควิด-19 ด้วยแล้ว เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้งภาคการเกษตร ส่งออก ท่องเที่ยว และการบริโภคภายในจึงไม่สามารถเป็นตัวกระตุ้น-ส่งเสริมให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนลดลงได้เลย แม้ว่าจะมีการออกนโยบายเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคประชาชน รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กและกลาง ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อฉุกเฉินไม่คิดดอกเบี้ย และสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการที่ธนาคารและภาคการเงินเองตั้งใจออกนโยบายซัพพอร์ตเม็ดเงินเข้ากระเป๋าบุคคลให้ได้มากที่สุด และอีกนัยหนึ่งก็ยังเป็นการยกระดับรายได้ครัวเรือนในระยะสั้นๆ ให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ด้วย

แต่สิ่งที่สนใจมากไปกว่านั้นก็คือ ความหมายของ ‘หนี้ครัวเรือน’ ที่ถูกนิยามโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ระบุไว้ว่า หนี้ครัวเรือน หมายถึง เงินให้กู้ยืมที่สถาบันทางการเงินให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ซึ่งบุคคลธรรมดาอาจนำเงินที่กู้ยืมไปจับจ่าย หรือนำไปประกอบธุรกิจก็ได้ และที่สำคัญ ข้อมูลหนี้ครัวเรือนตรงนี้จะครอบคลุมเฉพาะเงินให้กู้ยืมจากสถาบันทางการเงินที่ ธปท. เก็บข้อมูลได้เท่านั้น หนี้ครัวเรือนจึงไม่รวมหนี้นอกระบบเข้าไปด้วย และเมื่อไม่ได้นับรวมหนี้นอกระบบแบบนี้แล้วก็น่าสนใจว่า หากรวมตัวเลขพวกนี้เข้าไปด้วย เปอร์เซนต์หนี้ครัวเรือนจริงๆ จะมีอัตราเท่าไรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ที่หลายคนต้องเจอกับการเลิกจ้างกระทันหัน คนหาเช้ากินค่ำที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง พ่อค้าแม่ขายที่ต้องหยุดตั้งแผงเป็นการชั่วคราว คนเหล่านี้ที่อาจจะไม่มีเครดิตกู้ยืมเงินในระบบ รวมๆ แล้วหนี้ครัวเรือนทั้งระบบตอนนี้มีเปอร์เซนต์สูงขนาดไหนแล้วกันแน่?

‘หนี้ครัวเรือน’ ที่อาจนำไปสู่ ‘หนี้เสีย’

มีรายงานของ ธปท. ที่ระบุว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มมีอัตราที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดระหว่างช่วงปี 2553-2554 โดยประเภทสินเชื่อที่สูงที่สุด ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ แต่ในช่วงปีนั้นก็ยังไม่ได้มีอัตราหนี้ครัวเรือนสะสมต่อ GDP ที่สูงมากอย่างตอนนี้ เพราะถ้าพูดกันจริงๆ แล้วหนี้ครัวเรือนเองก็ไม่ได้มีแต่ข้อน่ากังวลเพียงอย่างเดียว หากภาพรวมของประเทศมีหนี้ครัวเรือนในระดับที่เหมาะสมก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย เรียกว่า เงินในระบบก็จะหมุนเวียนไปตามสายพาน ตามสมการเพราะถ้าหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น รายได้ของประชากรก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย แบบนี้จึงจะสอดคล้องต้องกัน

แต่ถ้าเมื่อไรที่หนี้ครัวเรือนหลุดไปจากสมการนี้ หนี้ครัวเรือนก็อาจก่อให้เกิด ‘หนี้เสีย’ ได้ ซึ่งปัญหาหนี้เสียนี้ไม่ได้กระทบกับสถาบันทางการเงินเท่านั้น แต่ระดับบุคคลเองก็ได้รับเอฟเฟ็กต์ไปด้วย

หนี้เสีย (Non-performing Loan หรือ NPL) ตามความหมายของ ธปท. คือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีการค้างชำระสินเชื่อติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นหนี้ที่ผู้กู้ยืมผิดนัดชำระนั่นแหละ จนสุดท้ายถ้าลูกหนี้ถือคติ ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’ ภาระหนี้ตรงนั้นก็จะตกมาอยู่กับสถาบันทางการเงินที่ให้กู้ยืมนั่นเอง ซึ่งการแบกรับภาระหนี้เสียของแบงก์ในตอนนี้นั้น ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกมาให้ข้อมูลด้วยว่า ภายในปีนี้หนี้เสีย และหนี้ไหลกลับ (reentry) น่าจะเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะตัว ‘หนี้ไหลกลับ’ ที่เคยเป็นหนี้เสียและมีการปรับโครงสร้างหนี้มาก่อนแล้ว แต่ลูกหนี้อาจจะแบกรับภาระในตอนนี้ไม่ไหว จนกลับไปเป็นหนี้เสียแบบเดิม ซึ่งทางสถาบันทางการเงินก็ต้องมีการเตรียมความพร้อม และพยายามให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการคลายเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ให้เข้าถึงง่ายขึ้น

ส่วนพาร์ตของบุคคลทั่วไป ถ้ามีการผิดนัดชำระจนเกิดเป็นหนี้เสียแน่นอนว่า อนาคตข้างหน้าหากคุณต้องการขอสินเชื่อกู้ยืมใดใดจากสถาบันทางการเงินอีก เครดิตที่ถูกบันทึกไปยังบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือที่เรารู้จักในชื่อ ‘เครดิตบูโร’  ก็จะแสดงข้อมูลผิดนัดชำระทันที ซึ่งนั่นก็มีผลทำให้วินัยการเงินของคุณเสียหายไปมากเลยล่ะ

ไม่ได้ก่อเอง แต่ต้องชดใช้ร่วมกันคือ ‘หนี้สาธารณะ’

บางคนอาจจะไม่มีทั้งหนี้ครัวเรือน และหนี้เสีย แต่สิ่งที่เรามีร่วมกันแน่ๆ ก็คือ เจ้าหนี้สาธารณะ ที่กู้โดยรัฐบาล ถ้าเราลองดูข้อมูลประมาณการตัวเลขในเว็บไซต์สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะแล้วก็จะเห็นว่า สัดส่วนหนี้คงค้างต่อ GDP ยังมีเกณฑ์สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 43.44 และในปี 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 48.75 และนี่ยังไม่รวมถึงพรก.เงินกู้ 3 ฉบับวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ที่เพิ่งผ่านมติเห็นชอบจากสภาฯไปไม่กี่วันมานี้ หากนำมาคำนวนร่วมกันแล้วตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็น่าจะมีเปอร์เซนต์ที่สูงขึ้นด้วย แม้จะมีการแบ่งสัดส่วนเป็นหนี้ของรัฐบาลส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเป็นหนี้ของ ธปท. ก็ตาม

แนวโน้มของหนี้สาธารณะที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินออกมาให้ความเห็นว่า จากตัวเลขหนี้ที่สูงขนาดนี้ อาจจะทำให้ภาครัฐชะลอการลงทุนด้านสาธารณะทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนด้านรัฐสวัสดิการออกไปอย่างไม่มีกำหนด และในขณะเดียวกัน กฎหมายภาษีที่ดินที่มีการพูดคุยกันมานานถึงการบังคับใช้อย่างเอาจริงเอาจังนั้น ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา การเก็บภาษีที่ดินก็ถูกชะลอออกไปอีก โดยให้เหตุผลว่า เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19

เมื่อเรานำก้อนหนี้ทั้งสามมาประมวลผลร่วมกันแล้ว ก็คงจะพอให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันได้ว่า เราต้อเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่ (อาจ) จะเกิดขึ้นต่อไปอย่างไรได้บ้าง โควิด-19 จะนำไปสู่วิกฤตระดับ ‘Great Depression’ เลยหรือไม่นั้น เรายังไม่อยากฟันธงให้ทุกคนขนาดนั้น แต่ถ้าดูจากตัวเลขและรายงานผลของสถาบันทางการเงินประกอบกันแล้วคงพอจะบอกได้คร่าวๆ ว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ แต่คงฟื้นแบบช้าๆ เรื่อยๆ มาเรียงๆ และเราคงจะเหนื่อยหืดขึ้นคอกันน่าดูอยู่เหมือนกัน

ติดตามคอลัมน์ Eco-No-Myth ได้ทุกวันพุธ ที่เว็บไซต์และเพจ Future Trends