“การตื่นเช้าไม่ได้การันตีความสำเร็จ” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับหลักคิด Chronotype ชีวิต ‘นกฮูก’ และ ‘นกกระจาบ’
“นกที่ตื่นเช้าย่อมจับหนอนได้ก่อนใคร คนที่เริ่มต้นไวมักมีโอกาสมากกว่าเสมอ”
คิดว่า ทุกคนในที่นี้น่าจะคุ้นเคยกับประโยคดังกล่าวเป็นอย่างดี ที่ความคิด ความเชื่อของบรรดาผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยมักจะตีตราว่า การตื่นเช้าเป็นสิ่งที่ดี น่าชื่นชม เพราะแสดงถึงความโปรดักทีฟ ในทางกลับกัน การตื่นสายนั้นเป็นความผิดบาป เพราะแสดงถึงความขี้เกียจ
แต่ในความเป็นจริง ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบการตื่นเช้า บางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องลำบาก และวุ่นวาย การตื่นสาย ใช้เวลาตอนกลางคืนเยอะๆ เป็นเรื่องเวิร์กกว่า ไม่ใช่แค่คุณหรอก ผู้เขียนเองก็เช่นกัน ถึงแม้บทความนี้จะลงตอนเจ็ดโมงเช้าของวันนี้ก็ตาม ฮ่า
ตามปกติ เวลาเจอญาติผู้ใหญ่ตามเทศกาลต่างๆ เรามักจะถูกถามถึงเวลาตื่นนอน และเข้านอนอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อบอกเวลาที่แท้จริงไป แน่นอนว่า ญาติๆ มักจะตำหนิเรากลับมา และเหมารวมว่า การใช้ชีวิตแบบนี้มีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ การตื่นสายถือเป็น ‘การนอนกินบ้านเมือง’ ที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
ทว่า หากมองให้ลึกลงไป ความคิดความเชื่อนี้ก็เป็นอะไรที่คร่ำครึไปหน่อย เนื่องจาก ใช้ไม้บรรทัดเดียวกะเกณฑ์ ตัดสินความถูก-ผิดทุกคนที่มีนาฬิกาชีวภาพ และไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนกัน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนล่าสุด ชายผู้ได้รับฉายาว่า แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี เคยให้สัมภาษณ์เรื่องวิธีการทำให้ตัวเองเป็นคนตื่นเช้ากับเพจเกลา นิสัยอันตรายไว้เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว โดยคำตอบที่ได้กลับมานั้น ก็ไม่ใช่วิธีการหรือฮาวทูในการตื่นเช้าแต่อย่างใด
แต่จริงๆ แล้ว เป็นการบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า “การตื่นเช้าไม่ใช่เคล็ดลับของความสำเร็จ” คนที่ตื่นสายแล้วประสบความสำเร็จก็มี ชีวิตคนเราต่างกัน ให้เลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง ไม่ต้องคิดว่า ทุกคนต้องเป็นหุ่นยนต์เหมือนกันหมด บางคนตื่นเที่ยง แต่ทำงานถึงเที่ยงคืน ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเขาได้งาน ได้ความโปรดักทีฟ มีวินัยที่ถึงแม้จะไม่เหมือนคนอื่น แต่ก็สามารถทำงานได้เสร็จ และที่แน่ๆ ถ้าคิดจะตื่นเช้า ก็ต้องมีกิจกรรมทำด้วย ถ้าไม่มี สักแต่ว่าจะตื่นอย่างเดียว ก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น ต้องหาให้เจอว่ารางวัลชีวิตของการตื่นเช้าคืออะไร?
อย่างตัวเขาที่ถึงแม้จะตื่นตั้งแต่ 03.50 น. ก็ตาม แต่หากมาไล่เรียงดูแล้ว จะเห็นว่า ตั้งแต่ตื่นมาก็มีกิจกรรมทำอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการอ่านอีเมล ดูข่าว กินกาแฟ หรือการไปออกกำลังกายก่อนเตรียมตัวส่งลูกไปโรงเรียน และทำงานต่อ รวมไปถึงรางวัลส่วนตัวจากการตื่นเช้าก็คือ การไม่ต้องเจอรถติดเป็นชั่วโมงขณะเดินทางไปทำงาน
ทั้งนี้ ชัชชาติยังบอกอีกด้วยว่า การตื่นเช้า และตื่นสายนั้นต่างก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่สุด เพราะเหนือสิ่งอื่นใด ถ้าตื่นมาแล้วไม่ทำงาน มัวแต่นั่งเอ้อระเหยก็ไม่ต่างกันอยู่ดี การตื่นสายไม่ได้แปลว่า คนนั้นต้องขี้เกียจตัวเป็นขน ไม่ทำงานทำการ ส่วนการตื่นเช้าก็ไม่ได้แปลว่า คนนั้นต้องเป็นคนที่ขยันที่สุด ความสำเร็จกับการตื่นนอนเป็นคนละเรื่อง อยู่ที่จริต และวิธีจัดการตัวเองของแต่ละคน
โดยถ้าเรานำแนวคิดนี้มาเทียบเคียงกับโครโนไทป์ (Chronotype) รูปแบบนาฬิกาชีวภาพของนก 2 สายพันธุ์คือ ‘นกกระจาบ (Lark)’ กับ ‘นกฮูก (Night Owl)’ แล้ว ก็ยิ่งตอกย้ำความละเอียดอ่อนในประเด็นวงจรการนอนหลับ และวงจรความโปรดักทีฟที่ต่างกันสุดขั้ว
ซึ่งคนที่มีโครโนไทป์แบบนกกระจาบที่ตื่นเช้าจะทำงานได้ดีที่สุดในช่วงครึ่งวันเช้า กล่าวคือ ‘เวลาเก้าโมงไปจนถึงบ่ายโมง’ ในทางตรงกันข้าม คนที่มีโครโนไทป์แบบนกฮูกที่ตื่นสายจะทำงานได้ดีที่สุดในช่วงบ่าย กล่าวคือ ‘เวลาบ่ายโมงเป็นต้นไป’ และจะชอบการทำงานตอนกลางคืนเป็นพิเศษ เพราะความเงียบสงบพวกนี้ก่อให้เกิดสมาธิ ช่วยให้สมองแล่น คิดงานได้อย่างง่ายดาย
และนี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมชายที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีคนนี้ถึงตื่นในเวลา 03.50 น. และออกกำลังกายตั้งแต่ตีสี่ครึ่งลงไป แต่ในขณะเดียวกัน บางคนเท่าที่จำความได้ ตั้งแต่เรียนจบมัธยมมา ก็อาจไม่เคยเข้านอนตอนสี่ทุ่มได้สำเร็จสักครั้งเดียวนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม คลิปสัมภาษณ์ที่เราเล่าไปก่อนหน้านี้ เรียกได้ว่า เป็นการสะท้อนวิสัยทัศน์ มุมมอง และทัศนคติของว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนล่าสุดที่มีความคิดทันสมัยได้เป็นอย่างดี ผ่านการมองความแตกต่างของทุกคนด้วยความเข้าอกเข้าใจ ไม่ตัดสินหรือที่เรียกว่า ‘Empathy’ ที่เป็นสิ่งสำคัญที่บางครั้งก็หล่นหายไปในสังคมไทย และสำคัญมากต่อการเป็นผู้นำยุคใหม่
ถึงที่สุดแล้ว เราก็ได้แต่หวังว่า วันหนึ่ง ผู้ว่าฯ คนนี้จะทำให้กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยการคมนาคมที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เป็นเมืองที่รถไม่ติดหลายชั่วโมง และขนส่งสาธารณะกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ทุกคน ที่แม้แต่คนรวยก็ยังยอมศิโรราบ พอถึงเวลานั้น รางวัลของการตื่นเช้าก็คงไม่ใช่การไม่ต้องเจอรถติดเหมือนกับรางวัลการตื่นเช้าของชัชชาติอีกต่อไป
ทั้งนกกระจาบที่ตื่นเช้า และนกฮูกที่ตื่นสายล้วนแล้วแต่มีวิธีหาอาหารที่ต่างกัน เช่นเดียวกับนาฬิกาชีวภาพ และไลฟ์สไตล์ การนอนดึก ตื่นสายไม่ใช่สิ่งที่ต้องแลกมาด้วยขอบตาแพนด้าหลินฮุ่ย หลินปิงที่บางคนเหมารวม แต่การนอนให้พอ ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่ดีที่สุดของตัวเองเนี่ยแหละที่จะทำให้นกน้อยทุกตัว หรือทุกคนไปถึงฝั่งฝันที่ตั้งใจไว้ได้สำเร็จ
นกที่ตื่นสายไม่ใช่นกที่ผิด ในขณะเดียวกัน นกที่ตื่นเช้าก็ต้องเป็นนกที่ ‘มีอะไรทำ’ ด้วย
Sources: https://bit.ly/3NGGB3p
https://bit.ly/3N4qSeq
https://bit.ly/3z7zvkk