ไม่รู้จริง อธิบายสิ่งที่พูดไม่ได้ ‘Chauffeur Knowledge’ ความรู้แบบ ‘คนขับรถ’ ท่องจำมา
แม้หลายๆ ครั้ง เวลามีใครถามอะไรบางอย่าง เรามักจะได้ยินผู้ใหญ่ชอบตอบเหมือนเทปม้วนเดิมซ้ำๆ บอกว่า “ไม่รู้ๆ อยู่ตลอด” แต่ว่ากันตามตรงแล้ว คนประเภทนี้อาจจะไม่ได้ทำให้หลายๆ คนรู้สึกเอือมระอาเท่าการไม่รู้จริง ไม่รู้ในสิ่งที่พูด หรือมีความรู้แบบ ‘Chauffeur Knowledge’ มากเท่าไร
เหมือนอย่างที่มีคนเคยบอกไว้ว่า จริงๆ แล้ว การไม่รู้นั้นไม่ใช่ปัญหา แต่การไม่ยอมรับว่า ตัวเองไม่รู้สิ่งที่ไม่รู้ว่าผิดนี่แหละที่เป็นเรื่องใหญ่ แถมบางคนก็อาจจะแสดงท่าทางไม่พอใจ กระฟัดกระเฟียดโดยไม่รู้ตัวด้วย
แล้ว Chauffeur Knowledge คืออะไร มีที่มาจากไหน หัวหน้า และลูกน้องอย่างเราๆ จะหาวิธีการรับมือเรื่องนี้ยังไง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน
Chauffeur Knowledge คืออะไร มีที่มาจากไหน?
Chauffeur หากมองเผินๆ คำนี้คล้ายกับคำว่า “โชเฟอร์” ในภาษาไทยที่หมายถึง ‘คนขับรถ’ โดยก็มาจากการเปรียบเทียบภายใต้เรื่องเล่าของชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) มหาเศรษฐี ผู้เป็นหุ้นส่วนคนสำคัญของวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ในวันงานรับปริญญามหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (University College London หรือ UCL)
เขาเล่าถึง มักซ์ พลังค์ (Max Planck) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันว่า ในปี 2461 มักซ์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ต้องไปบรรยายกลศาสตร์ควอนตัมตามเวทีต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า คนขับรถของมักซ์ก็ต้องตามไปนั่งฟังทุกครั้ง ด้วยเหตุนี้เลยทำให้คนขับรถสามารถจดจำประเด็นได้อย่างแม่นยำ
วันหนึ่ง เมื่อมักซ์ได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่เมืองมิวนิก คนขับรถก็นึกสนุกขึ้นมา เลยบอกกับเขาว่า คุณคงเหนื่อยและเบื่อมากที่ต้องบรรยายเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลองให้ตนขึ้นไปบรรยายแทนไหม? ที่ผ่านมา จากการไปนั่งฟัง ตนสามารถจำรายละเอียดได้หมด รวมไปถึงสมัยนั้นรูปถ่ายยังไม่แพร่หลาย ไม่มีใครรู้หรอกว่า ไม่ใช่มักซ์ พลังค์ตัวจริง
มักซ์ตอบตกลงทันที จากนั้น ทั้งคู่จึงสลับบทบาทและเปลี่ยนชุดกัน เขาไปนั่งฟังตรงแถวหน้า ส่วนคนขับรถก็ขึ้นเวทีไปบรรยายแทน เรียกได้ว่า ด้วยลีลาท่าทางแล้ว คนขับรถก็ตีเนียน ทำให้ผู้ฟังคล้อยตามสิ่งที่เล่าได้ดีเลยทีเดียว
แต่แล้วเมื่อจบการบรรยาย จู่ๆ ก็มีนักฟิสิกส์คนหนึ่งยกมือถามเกี่ยวกับเนื้อหาบางอย่างขึ้น คนขับรถรู้ว่า ตนไม่รู้จริง จึงใช้ไหวพริบที่มีแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ชิงตอบกลับไปว่า “ไม่น่าเชื่อว่านักฟิสิกส์ ผู้เป็นปัญญาชนของเมืองนี้จะถามอะไรง่ายๆ แบบนี้ งั้นเขาขอให้คนขับรถ (มักซ์ พลังค์ตัวจริง) ตอบแทน”
โดยชาร์ลีเปรียบเทียบว่า Chauffeur Knowledge ก็เหมือนกับความรู้ของคนขับรถคู่ใจมักซ์ที่รู้เพียงผิวๆ อธิบายไม่ได้ หรือเป็นสาย ‘ครูพักลักจำ’ อย่างเช่นไลฟ์โค้ชบางคนที่ชอบหยิบคำคมเท่ๆ สุดคลาสสิกมาพูด เป็นต้น ส่วน Planck’s Knowlege ก็เหมือนกับความรู้ของคนที่รู้จริงเฉกเช่นเดียวกับมักซ์ พลังค์ที่มาจาก ‘ประสบการณ์ที่แท้จริง’ นั่นเอง
2 คำถามเช็กคนรู้จริงฉบับชายผู้สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก
ความรู้จริงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำงาน อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ชายผู้สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก และเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่รวยติดอันดับโลกก็เช่นกัน ตามปกติ เวลาเขาจะรับใครสักคนเข้ามาทำงาน จะมีการเช็กให้มั่นใจก่อนว่า การลงทุนดังกล่าวเป็นสิ่งที่คุ้มค่า Candidates คนนั้นรู้จริง มีประสบการณ์โชกโชนจริงหรือไม่? ผ่านคำถาม 2 ข้อ ดังนี้
1. คุณเคยเจออุปสรรคในการทำงานอะไรที่ยากที่สุด?
2. คุณแก้ปัญหาอุปสรรคนั้นอย่างไร?
เราจะรับมือกับ Chauffeur Knowledge ยังไง?
Circle of Competence หรือวงกลมแห่งความถนัด คืออีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของขอบเขตวงกลมที่ตัวเองรู้และไม่รู้ เขาอธิบายว่า ให้ทำความเข้าใจว่า หากออกนอกขอบเขตที่รู้จริง หรือใครก็ตามที่มาจากนอกขอบเขตที่รู้จริง นั่นแปลว่า ‘พวกเขาไม่ได้รู้จริง’ หรือมีความรู้แบบ Chauffeur Knowledge
โดยจากบทความบนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ได้พูดถึงการทดลองหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจว่า มีการแบ่งประเภทคนออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก คือคนที่เชื่อว่าตัวเองรู้ กลุ่มที่สอง คือคนที่เชื่อว่าตัวเองรู้ดีอยู่แล้ว กลุ่มที่สาม คือคนที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองรู้หรือไม่รู้ และกลุ่มสุดท้าย คือคนที่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ ผลปรากฏว่า กลุ่มที่สามารถตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ Strategic Decision Making ได้ดีที่สุดกลับไม่ใช่กลุ่มแรก และกลุ่มที่สองที่คิดว่า ตัวเองรู้ และรู้ดี แต่กลับกลายเป็น ‘กลุ่มที่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้’ ต่างหาก
ไม่รู้ก็คือไม่รู้ รู้ก็คือรู้ บอกไปตรงๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะดูไม่ดี ดูไม่เก่ง ดูไม่ฉลาดในสายตาลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน การไม่รู้ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แถมยังเป็นบ่อเกิดของปัญญา ทำให้เราพยายามพัฒนาตัวเองให้เป็น ‘The Best Version’ ที่ดีกว่านี้ด้วย
แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ เคยเจอคนไม่รู้ๆ หรือไม่รู้จริงไหม ตอนนั้นรับมือยังไงบ้าง? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน
Sources: https://bit.ly/3CM3HDt
https://bit.ly/3KvHM5g
https://bit.ly/3AYdcyd
https://bit.ly/3KwlSih
https://pwc.to/3R43YpN
https://bit.ly/3pVlr7P
https://bit.ly/3ArzA1e