ไม่ได้ออกเพราะบริษัท แต่มีต้นเหตุจาก ‘หัวหน้า’ เพราะอะไรหัวหน้าจึงเป็นต้นเหตุอาการ ‘Burnout’ ของทีมได้
ตาม Common Sense เรามักจะเข้าใจกันว่า อาการยอดฮิตหมดไฟ ไม่มีแรงใจจะปั่นงานต่ออย่าง Burnout นั้น มีสาเหตุหลักมาจากความกดดัน งานที่ Overload จนเกินไป การทำงานที่ไม่ถนัด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย หรือแม้กระทั่งการทำงานที่ใช้ความร่วมมือระหว่างกันที่เยอะเกินก็ด้วย
โทมัส ชาโมโร พรีมิวสิก (Tomas Chamorro-Premuzic) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ได้พูดถึงประเด็นนี้บนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ไว้อย่างน่าสนใจว่า จริงๆ แล้ว Burnout ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังมีต้นตอมาจาก ‘ตัวหัวหน้า’ ได้ด้วย
โทมัสอธิบายว่า ในทางทฤษฎี หัวหน้าควรเป็นคนที่ปกป้องลูกน้องจากความเครียด และช่วยกำจัดอุปสรรคต่างๆ แต่ถ้าเปิดอกคุยกันตรงๆ แล้ว ก็จะพบว่า อันที่จริง หัวหน้าส่วนใหญ่ที่ ‘ไม่ดี’ ต่างก็เป็นบ่อเกิดของความเครียดมากกว่าที่จะไปช่วยปกป้อง ลดความเครียดให้กับลูกน้องซะอีก แถมพอนานๆ เข้า ไม่ว่าจะอึดถึกทน จบใหม่ไฟแรงเฟร่อ เซียนงานมากแค่ไหน ก็หนีไม่พ้นชะตากรรม ‘คนเหนื่อย คนท้อ’ และ ‘คนที่เป็น Burnout อีกแล้ว!’ อยู่ดี
เพราะฉะนั้น นี่จึงไม่แปลกเลยว่า แม้เราจะพยายามช่วยลูกน้องให้หลุดพ้น บอกให้พวกเขาไปพัก ไปหางานอดิเรกทำ ไปออกกำลังกาย หรือไปปรับมุมมองใหม่มากเท่าไร แต่ท้ายที่สุดแล้ว Burnout ก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ นั่นเอง
แล้วหัวหน้าไม่ดีที่ทำให้ลูกน้อง Burnout เป็นยังไง เรากำลังเป็นต้นเหตุของลูกน้องบางคนอยู่รึเปล่า หัวหน้าที่ดีมี character อย่างไร และองค์กรควรเลือกคนแบบไหนมาเป็นหัวหน้า? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน
หัวหน้าไม่ดีที่ทำให้ลูกน้อง Burnout เป็นยังไง?
หลักๆ แล้ว หัวหน้าที่บ่อนทำลายไฟของลูกน้องมีอยู่ 4 ประเภทด้วยกัน มาลองสำรวจตัวเองคร่าวๆ กันว่า เรากำลังเข้าข่ายอยู่หรือไม่ กำลังกลายเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องไม่ชอบอยู่รึเปล่า?
1. หัวหน้าที่ไม่เก่ง
ความรู้ ความเชี่ยวชาญถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะในโลกของการก้าวขึ้นไปเป็นนายคนไม่ได้มีแค่ความละเอียดอ่อนเรื่องการยอมรับเพียงอย่างเดียว แต่การมีระดับความเก่งที่น้อยกว่าลูกน้องก็อาจนำมาซึ่งหายนะครั้งใหญ่อย่างการถูกเลื่อยขาเก้าอี้ และระดับความ Burnout ของลูกน้องที่สูงด้วย
2. หัวหน้าที่ ‘ให้’ กับ ‘รับ’ ฟีดแบ็คไม่ได้
ถึงหัวหน้าไม่จำเป็นต้องเก่งไปซะทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ควรเก่งงานประมาณหนึ่ง อาจจะไม่ต้องรู้ลึกทุกรูขุมขนของเนื้องาน แต่ควรมองภาพรวมให้ออก สามารถ ‘ให้’ กับ ‘รับ’ ฟีดแบ็คแก่ลูกน้องได้ ยกตัวอย่างเช่น เวลาลูกน้องทำงานเสร็จ อย่างน้อยที่สุดแล้ว หัวหน้าก็ควรวิจารณ์ได้ว่า ส่วนไหนของงานที่โอเค ไม่โอเค ต้องเติม เสริม ขาดรายละเอียดอะไรอีกบ้าง? หรือพูดง่ายๆ ว่า หัวหน้าที่ดีต้องมีฟีดแบ็คแบบ ‘Two-Way Communication’ ได้ รวมไปถึงก็ควรมีวิธีการฟีดแบ็คที่ดี และถูกต้องเช่นกัน
3. หัวหน้าที่ไม่เข้าใจศักยภาพของลูกน้อง
การทำงานก็คล้ายกับทีมกีฬาที่มีหัวหน้าเป็นโค้ช ลูกน้องเป็นผู้เล่นหลักในสนาม การจะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้สำเร็จจึงไม่ได้มีเพียงความเก่งของทุกคนที่สูงเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยการวางกลยุทธ์จากความเข้าใจศักยภาพของแต่ละคนที่โค้ชเป็นผู้วางด้วย ไม่ใช่มาประเภทที่ถนัดยิงประตู แต่ให้ไปรับลูกที่ประตู หรืออย่างลูกน้องบางคนที่เขียนเก่งมากๆ แต่ใช้ให้ไปยืนถ่ายเอกสารก็เช่นกัน
4. หัวหน้าที่ ‘ไร้ความสามารถ’ ทำให้ลูกน้องเก่งมากกว่าเดิมไม่ได้
ในยุคที่เทรนด์การพัฒนาตัวเอง โลกรอบตัว และสื่อต่างๆ ที่คอยผลิตซ้ำว่า เราต้องเก่งขึ้น ทำงานให้ดีขึ้น ผลักดันตัวเองไปข้างหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และประสบความสำเร็จให้มากกว่าเดิม นี่เลยเป็นเหตุผลให้ทุกวันนี้ ความหมายเรื่องงานคนบางกลุ่มเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
ลูกน้องบางคนก็เช่นกัน ที่ไม่ได้มองหาเงินเดือนเท่านั้น แต่หลายๆ ปีให้หลังมานี้ ก็เริ่มหันมาโฟกัสโอกาสในการพัฒนาตัวเองกันมากขึ้น รวมถึงหัวหน้าที่คอย Support มีความเข้าใจในศักยภาพ และผลักดันให้พวกเขาเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมในทุกๆ วันก็ด้วย
หัวหน้าที่ดีมี character อย่างไร และองค์กรควรเลือกคนแบบไหนมาเป็นหัวหน้า?
แน่นอนว่า ทางออกที่ดีที่สุดของทุกปัญหาก็คือ ‘การกันไว้ดีกว่าแก้’ โทมัสได้เสนอไว้ว่า แนวทางในการทำลาย Burnout ให้สูญพันธุ์ไปจากองค์กร ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการ ‘Hire Better Bosses’ หรือแปลเป็นไทยว่า ให้จ้างหัวหน้าที่ดี
ตามหลัก เวลาที่แต่ละองค์กรจะโปรโมตพนักงานหน้าเก่า หรือจ้างพนักงานหน้าใหม่มาเป็นหัวหน้าสักคน ส่วนใหญ่มักจะดูที่ผลงานในอดีตที่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ว่าจะเป็น Performance ที่ดี และความสม่ำเสมอ ความต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริง นั่นไม่ใช่ทั้งหมด และไม่ได้แปลว่า คนที่ Perfect เหล่านั้นเหมาะจะเป็นเจ้าคน นายคนด้วย
แต่ถ้าใครยังไม่เห็นภาพ งั้นลองนึกภาพโค้ชผู้เก่งกาจที่มีอดีตเป็นนักกีฬาผู้ทำผลงานได้ดีเยี่ยมกับนักกีฬาบางคนที่ไม่มีวัน beyond เป็นโค้ชผู้เก่งกาจในแบบเดียวกันได้สำเร็จ ลึกๆ แล้ว การที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีเรื่องของ Potential เข้ามายึดโยงกับ Performance อย่างน้อยทางใดทางหนึ่งไม่แพ้กัน เขาเสริมว่า หัวหน้าที่ดีต้องมี character 6 อย่างด้วยกัน ได้แก่
1. ต้องมีความสงสัย กระหาย ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ (Curiosity)
2. ต้องมีความฉลาด มีไหวพริบปฏิภาณ (Smart)
3. ต้องเป็นคนที่เรียนรู้ไว (Fast Learner)
4. ต้องเข้ากับคนอื่นง่าย มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient)
5. ต้องมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy)
6. ต้องมีความซื่อสัตย์ ชอบธรรม (Integrity)
ครั้งหนึ่ง บี-อภิชาติ ขันธวิธิ เจ้าของเพจ ‘HR The Next Gen’ และกรรมการผู้จัดการบริษัท คิว เจน คอนซัลแทนต์ จำกัด เคยกล่าวในงาน Creative Talk Conference 2022 ไว้ว่า…
“จริงๆ แล้ว คนที่ทำให้พนักงานมี Experience ที่ดีคือ Manager เรามักจะได้ยินเสมอว่า คนเลือกเพราะองค์กร แต่จะลาออกเพราะ Manager ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ดังนั้น นี่เลยทำให้คนที่ขึ้นมาเป็น Manager รู้สึกกลัวเป็นอย่างมาก”
Burnout ที่เกิดซ้ำๆ อาจไม่ได้มาจากลูกน้องอย่างที่บอก แต่อาจจะมาจากหัวหน้าอย่างเราๆ ที่บางครั้งก็ไม่ได้ตั้งใจเป็นใจกลางของปัญหาก็เป็นได้ สุดท้ายแล้ว ถ้าเราไม่อยากเป็นต้นเหตุการลาออกของลูกน้อง และทำให้ทีมเกิด ‘ภาวะสมองไหล’ ก็ควรกลับมาทบทวนด้วยว่า ทุกวันนี้ เราเองทำหน้าที่ของหัวหน้าได้ดีพอแล้วหรือยัง?
Sources: https://bit.ly/3Ow2q5D
งาน Creative Talk Conference 2022 เซสชัน The Secret Recipe of Be-Loved Company โดย อภิชาติ ขันวิธิ