สร้างเนื้อปลาจาก ‘เซลล์’ ทำได้ไม่เกินจริง! รู้จัก ‘Bluu Seafood’ สตาร์ทอัปที่ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ ทางอาหารด้วยงานวิจัย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘อาหาร’ เป็นศาสตร์ที่ดำเนินไปด้วย ‘ความก้าวหน้า’ ประหนึ่งการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วในโลกเทคโนโลยี ดังเห็นได้จากนวัตกรรมที่เป็นทางเลือกใหม่ของการบริโภคในอนาคต เช่น อาหารจากพืช (Plant-based foods) เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นต้น
หนึ่งในสาเหตุที่ผลักดันให้การวิจัยทางอาหารพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือ ‘ภาวะขาดแคลน’ จากวิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis) ที่ฉายภาพความรุนแรงในปี 2022 และการบริโภคมากเกินจำเป็นที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทำงานผิดปกติ
เมื่อประกอบปัจจัยจากความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางอาหารเข้ากับภาวะขาดแคลนที่เป็นปัญหาระดับนานาชาติ คนบางกลุ่มเริ่มเห็นโอกาสในการ ‘เปลี่ยนโลก’ และใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มารังสรรค์ทางเลือกใหม่ในการบริโภค ก่อนพัฒนาเป็นธุรกิจที่น่าจับตาความสำเร็จในอนาคตอันใกล้
ในงาน SEAT 2023 Future Trends มีโอกาสพบกับ ‘เซบาสเตียน เรเกอร์ส’ (Sebastian Rakers) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ‘Bluu Seafood’ สตาร์ทอัปที่ตั้งใจเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ ทางอาหาร
นอกจากแนวคิดของ Bluu Seafood จะน่าสนใจแล้ว ผลิตภัณฑ์ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ไม่ได้เกิดจากการแปรรูปเนื้อสัตว์ แต่เกิดจากการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ของปลา ด้วยความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับ Bluu Seafood เราจึงชวนเซบาสเตียนมาพูดคุยในบรรยากาศสบายๆ เพื่อทำความรู้จักบริษัทของเขาให้มากขึ้นกัน
แรงบันดาลใจในการสร้างแบรนด์ Bluu Seafood คืออะไร?
ผมใช้ชีวิตตามความฝันในการเป็นนักชีววิทยาทางทะเล การที่ผมนั่งเรือไปเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบความหลากหลายทางชีวภาพของสปีชีส์ ช่วยให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เราในฐานะมนุษย์มีต่อระบบนิเวศผ่านการประมงและการท่องเที่ยว นี่คือเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจว่า ต้องทำมากกว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้ว ผมจึงไปองค์กรวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี เพื่อสร้างผลกระทบที่ใหญ่กว่า
ต่อมาผมทำงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล และเริ่มศึกษาเซลล์ของปลา ก่อนนำมารวมกับศาสตร์ของชีววิทยาเซลล์ต้นกำเนิดที่มาจากการแพทย์ จนสามารถสร้างสายพันธุ์เซลล์ต้นกำเนิดที่มาจากปลาหลากหลายสายพันธุ์ได้ และสิ่งที่ผมคิดในขณะนั้น คือจะใช้สเต็มเซลล์มาเป็นพื้นฐานสำหรับการผลิตอาหารได้หรือไม่ เพราะสเต็มเซลล์มีความสามารถในการทำซ้ำและเพิ่มจำนวนได้เรื่อยๆ
ส่วนความคิดในการทำธุรกิจเกิดจากการที่คนอื่นๆ เริ่มเห็นโอกาสในธุรกิจอาหาร โดยในปี 2017 เป็นช่วงแรกๆ ที่บริษัทผลิตอาหารเพื่อสุขภาพทยอยเปิดตัว ซึ่งในเยอรมนีก็มีเทคโนโลยีนี้เช่นกัน ผมเลยตัดสินใจว่า ถึงเวลาที่ต้องหาใครสักคนมาทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ จนได้พบกับไซมอน ฟาบิช (Simon Fabich) ผู้ร่วมก่อตั้งคนสำคัญที่กำลังหาพันธมิตรทางวิทยาศาสตร์อยู่พอดี นี่จึงเป็นเส้นทางที่เราได้มาพบกัน และเริ่มทำงานเกี่ยวกับแนวคิดของ Bluu นั่นคือการผลิตอาหารทะเลจากสเต็มเซลล์ของปลา
เมื่อธุรกิจมีงานวิจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ความยากในการเปลี่ยน ‘งานวิจัย’ เป็น ‘ธุรกิจ’ คืออะไร?
ผมมองความยากเป็น 2 ประการ อย่างแรกคือการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ให้ถูกวิธี เพราะเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง ‘วิทยาศาสตร์’ และ ‘ธุรกิจ’ ผมคิดว่า ตัวเองทำได้ดีในการสื่อสารทั้งด้านธุรกิจและวิทยาศาสตร์ แต่มันเป็นปัญหาสำหรับนักวิทยาศาสตร์บางคนที่ต้องการนำความรู้ของตัวเองเข้าสู่สนามธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจริงๆ
ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างศาสตร์ที่ต่างกัน คือการพยายามจัดทีมที่ดีที่สุด คุณต้องมีผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน เนื่องจากคุณไม่สามารถเป็นคนเดียวที่รู้ทุกอย่างได้ อย่างน้อยต้องมองหาคนที่สามารถช่วยในบางเรื่อง ไม่ว่าการเงิน การค้า และวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ เพราะการทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ในการทำทุกกระบวนการให้สำเร็จ
อย่างที่สองคือความซับซ้อนของวิทยาศาสตร์ คุณต้องอธิบายเรื่องนี้ให้ง่ายที่สุด สำหรับกระบวนการทางอุตสาหกรรม คุณต้องลดขั้นตอนและความซับซ้อนของการทดลองไปสู่กระบวนการง่ายๆ นั่นคือความท้าทายในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องแปลผลการวิจัยเป็นแบบจำลองเชิงพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพ
แม้ผลิตภัณฑ์จะเกิดจากแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ที่มาของวัตถุดิบต่างจากที่คนคุ้นเคย คุณจะสร้างการรับรู้ให้คนในสังคมอย่างไร?
การสร้างการรับรู้สำหรับผู้คนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะพวกเขาต้องรู้ว่า ตัวเองกำลังบริโภคอะไรอยู่ ปลอดภัยหรือไม่ และเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอะไรบ้าง เรากำลังใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ รายการสาธารณะ วารสาร และนิตยสาร เพื่อกระจายข่าวเกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ รวมถึงปรับวิธีการสื่อสารโดยลดความซับซ้อนของกระบวนการที่เบื้องหลังเทคโนโลยีสเต็มเซลล์
นอกจากนี้ การสื่อสารกับองค์กรด้านอาหารก็เป็นสิ่งที่ยากไม่แพ้การสร้างการรับรู้ของผู้คน ซึ่งการอนุมัติตามกฎระเบียบยังเป็นสิ่งที่เรากำลังรออยู่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของเราเป็นอาหารประเภทใหม่ และแต่ละภูมิภาคก็มีการออกกฎต่างกัน คุณต้องได้รับการอนุมัติก่อนจะนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ต้องเข้าใจว่า กระบวนการผลิตเป็นอย่างไร ยอดขายเป็นอย่างไร และนั่นเป็นสิ่งต้องใช้เวลา
แน่นอนว่า การสร้างการรับรู้ต่อสังคมยังเป็นความท้าทายสำหรับสตาร์ทอัป เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้เวลามากในการส่งข้อมูลขั้นตอนการผลิตทั้งหมด คุณลองจินตนาการดูว่า เมื่องานวิจัยของคุณยังอยู่ในห้องปฏิบัติการหรือการผลิตนำร่อง บางครั้งก็ยากที่จะกำหนดกระบวนการผลิตขั้นสุดท้ายให้ชัดเจน นี่คืออุปสรรคที่เราพยายามแก้ไขโดยการเป็นสมาชิกขององค์กรที่มีหน้าที่ประสานงานกับผู้ควบคุมกฎหมายทางอาหาร เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางการได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ตอนนี้ต้นทุนน่าจะสูงมาก คุณจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยของการตั้งราคาที่มีผลต่อการแข่งขันในตลาดอย่างแน่นอน
ใช่ครับ ผลิตภัณฑ์ของเรามีราคาสูง มีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป เรามีเกณฑ์มาตรฐานของราคาในตลาด โดยเราโฟกัสที่ราคาของปลาแซลมอนและปลาเทราต์เป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น ราคาของปลาทั้งสองชนิดนี้ จะเป็นเกณฑ์มาตรฐานของเรา
สิ่งที่เราเห็นจากอุตสาหกรรมปลาในปัจจุบัน คือราคาเพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะต้นทุนการเดินเรือที่สูงขึ้น เนื่องจากในท้องทะเลแทบไม่เหลืออะไรแล้ว ทำให้ชาวประมงต้องใช้เวลานานขึ้นในการจับปลาให้เพียงพอ ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็มีอุปสรรคจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือแม้แต่การจัดเก็บภาษีที่มากขึ้นด้วย เช่น นอร์เวย์เพิ่งออกกฎเก็บภาษี 40 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการผลิตปลาแซลมอน เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยเหล่านี้ เป็นความท้าทายที่รออยู่ในอนาคต เราเห็นแล้วว่า ราคาของปลาแซลมอนมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
แม้ว่าตอนนี้ผลิตภัณฑ์ของเราจะยังอยู่ในระดับพรีเมียม และจะเริ่มต้นวางจำหน่ายในร้านอาหารชั้นหนึ่งด้วยเหตุผลด้านราคาและปริมาณที่เราสามารถผลิตได้ แต่ปัจจัยจากสื่อและช่องทางการขาย คือที่มาของต้นทุน 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเรากำลังพยายามลดต้นทุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะการผสมสูตรอาหารเลี้ยงเชื้อที่มีประสิทธิภาพแต่ราคาย่อมเยา
เชื่อว่า คุณกำลังรอวันที่ผลิตภัณฑ์ของตัวเองจะออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด ต่อจากนี้ คุณคาดหวังให้ธุรกิจของตัวเองดำเนินไปอย่างไร?
ความคาดหวังของผม คือการทำให้อาหารทะเลที่เกิดจากการเพาะสเต็มเซลล์กลายเป็นวิถีใหม่ในอนาคต ผมมีลูกสองคนและคิดว่า ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า พวกเขาอาจจะถามผมว่า พ่อครับ ทำไมถึงต้องจับปลาในทะเลหรือเพาะเลี้ยงในฟาร์ม เมื่อเรามีเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถืออยู่ในมือ และผมเชื่อว่า เราต้องทำทุกอย่างเพื่อเลี้ยงดูประชากรโลก แม้โซลูชันของเราจะไม่ใช่โซลูชันที่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด แต่สามารถลดแรงกดดันจาก ‘ท้องทะเล’ และภาวะขาดแคลนปลาจากธรรมชาติได้
ผมคิดว่า จำเป็นมากที่เราต้องลดความเครียดของท้องทะเล ให้ธรรมชาติมีเวลาปรับตัวเพื่อที่จะเลี้ยงดูประชากรโลกได้อย่างยั่งยืน นี่คือเป้าหมายหลักของเรา เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราต้องสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นหลังที่ยังสามารถเพลิดเพลินกับความสวยงามของท้องทะเลและอาหารทะเลที่ยอดเยี่ยม
นอกจากนี้ ปลายังเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เราจึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้คนสามารถเข้าถึงอาหารทะเลที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ยิ่งปลาในธรรมชาติถูกปนเปื้อนด้วยไมโครพลาสติก (Microplastic) มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งสะท้อนถึงภัยของการบริโภคที่ย้อนกลับมาหาเรา
ดังนั้น ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อธุรกิจของเราเช่นกัน ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตของเราสามารถการันตีคุณภาพของเนื้อปลาได้ เนื่องจากเราผลิตในระบบปิดและสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมสูง ผมคิดว่า นี่คือสิ่งดีๆ ที่เราสามารถมอบให้กับสังคมได้
แม้ผลิตภัณฑ์ของ Bluu Seafood จะยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย แต่เซบาสเตียนก็ทิ้งท้ายการพูดคุยครั้งนี้อย่างมีความหวังว่า Bluu Seafood อาจได้รับการอนุมัติภายในสิ้นปีนี้ หรือช้าสุดช่วงต้นปีหน้า ดังนั้น ในปี 2024 มีแนวโน้มที่จะได้เห็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกออกวางจำหน่ายในภูมิภาคต่างๆ เช่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
อีกทั้งเซบาสเตียนยังกล่าวเพิ่มว่า เขาหวังให้ผลิตภัณฑ์ของ Bluu Seafood ถูกใช้ในร้านอาหารของประเทศไทย ด้วยความที่อาหารไทยมีความหลากหลาย และมักใช้วัตถุดิบเป็นอาหารทะเล ทำให้ไทยเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับ Bluu Seafood เช่นกัน
หากต้องการทำความรู้จักสตาร์ทอัปหัวใจ ‘สีน้ำเงิน’ รายนี้ให้มากขึ้น สามารถติดตามเรื่องราวของพวกเขาได้ที่ http://bit.ly/41fYywE