“เป็นแค่คนกลางๆ พนักงานธรรมดาๆ ไม่ได้เหรอ?” เมื่อการจัด Ranking ขององค์กร ไม่ใช่คำตอบที่ใช่ของทุกคน
ในยุคสมัยที่สังคมให้ค่ากับความสำเร็จ เชิดชูคนเก่งเหนือสิ่งอื่นใด ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากบางองค์กรจะมีวัฒนธรรมการจัด Ranking เรียงอันดับ Top Performance พนักงานในทุกๆ เดือน สำหรับใครที่เคยผ่านมาแล้ว หรือกำลังอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมแบบนี้ น่าจะพอเข้าใจว่า แก่นแกนสำคัญก็ล้วนแล้วมาจากความต้องการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อการเติบโต และกระตุ้นให้พนักงานกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น
ทว่า ในความเป็นจริง สิ่งนี้กลับไม่ใช่คำตอบที่ใช่ทั้งหมดของทุกคนเสมอ และการไร้ซึ่งพื้นที่ให้คนกลางๆ ไม่ว่าจะทำอะไร หันไปทางไหนก็ถูกเปรียบเทียบกับพนักงานคนอื่นไปหมด อาจทำให้บางคนเกิดความรู้สึกซัฟเฟอร์ ตั้งคำถามว่า ถ้าอยากเติบโตไปอีกขั้น เป็นบิ๊กบอสที่มีตำแหน่งใหญ่โตกว่านี้ เราจะต้องทะเยอทะยาน พาลูกน้องวิ่งไปกับวัฒนธรรมการจัด Ranking นี้เสมอรึเปล่า และทำไมการเป็นคนกลางๆ พนักงานธรรมดากลับกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่า ไร้ตัวตนในบางองค์กรด้วย?
อันที่จริงเคสนี้ก็ไม่ค่อยต่างจากสมัยเรียนประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยสักเท่าไร ที่ปกติจะมีการจัดอันดับผลการเรียนอยู่ตลอด ซึ่งพอมีที่ 1 ก็ต้องมี 2 3 และ 4 หรือถ้ามีเกียรตินิยมอันดับ 1 ก็ต้องมีอันดับ 2 ตามมา
ปลายทางของการเป็นชีวิตมนุษย์ออฟฟิศบางแห่งก็เช่นกัน ที่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นการจัด Ranking ยึดโยงความเก่งของแต่ละคนเข้ากับผลงาน เหมือนกับสมัยเรียนที่พิจารณาอันดับจากผลการเรียนอยู่ดี
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 17 ปีก่อน สมัยที่ไมโครซอฟต์ยังมีวัฒนธรรมทำนองนี้ และถูกจัดว่าเป็น ‘ทศวรรษแห่งการสาปสูญ (Lost Decade)’ มีโพสต์หนึ่งบนมินิไมโครซอฟต์ (MiniMicrosoft) ของพนักงานนิรนามระบุว่า “ถึงแม้เธอจะรักบริษัท แต่เธอก็เกลียดเส้นโค้งการจัดอันดับความสามารถเหล่านี้”
ในขณะเดียวกัน แม้ผลสำรวจของโกลบอล สตัดดี (Global Studies) จะชี้ให้เห็นว่า การยกย่องเชิดชูพนักงาน (Recognition) นั้นจูงใจให้ผลงานออกมาดีมากกว่าการขึ้นเงินเดือน ความยืดหยุ่น และการส่งไปฝึกอบรม ในทางตรงกันข้าม การเอาทุกคนไปวัดบนไม้บรรทัดเดียวกัน ส่องแสงเฉพาะคนเก่งก็อาจเป็นเรื่องที่ไม่เวิร์กนัก
โดยล่าสุดก็มีผลสำรวจ และนักบำบัดโรคจำนวนหนึ่งออกมาบอกว่า ‘ค่านิยมสรรเสริญคนทำงานหนัก’ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกหมดไฟ (Burnout) เพราะจริงๆ แล้ว มันกลับเต็มไปด้วยความคาดหวัง ความกดดันที่เป็นต้นเหตุของความล้มเหลว และหายนะอื่นต่างหาก
บารันไกย์ (Barankay) ศาสตราจารย์โรงเรียนวอร์ตัน (Wharton School) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ได้พูดถึงประเด็นนี้ในงานวิจัยไว้ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพนักงานขายเฟอร์นิเจอร์ จำนวน 1,500 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่มีการโชว์การจัดอันดับ เปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมงาน และกลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับ ไม่เปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมงาน
ผลปรากฏว่า พนักงานขายที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับทำยอดขายได้ดีกว่าอีกกลุ่ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในความเป็นจริง การจัด Ranking เคี่ยวกร่ำให้ทุกคนอยู่ในลู่วิ่งที่องค์กรวางไว้ มุ่งเน้นตัวเอง (Self Focused) มากกว่าทีม (Team Focused) นั้นอาจไม่ใช่วิถีทางที่ดีที่สุด และไม่ได้การันตีความสำเร็จว่า จะช่วยให้พนักงานทำผลงานได้ดีกว่าด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว พนักงานทุกคน ทุกระดับก็มีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรไปข้างหน้าด้วยกันทั้งนั้น การที่ความต้องการ ความพอใจใน Career Path ต่างกันก็ไม่ได้แปลว่า พวกเขาจะสำคัญน้อยไปกว่าคนอื่น ลึกๆ แล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะเป็นนัมเบอร์วันเสมอ แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมากดดันกัน ให้แสงแค่บางคนเท่านั้น เพราะพวกเขาต่างก็พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดพอๆ กับ Top Performance ดังนั้น ‘ทุกความทุ่มเท ทุกความตั้งใจจึงควรได้รับการให้ค่าไม่ต่างกัน…’
แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ เคยรู้สึกซัฟเฟอร์แบบนี้ไหม องค์กรของคุณมีวัฒนธรรมการจัด Ranking แบบนี้รึเปล่า? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!
Sources: https://nyti.ms/39oRZTb