เมื่อจักรวาลที่เราอาศัยอยู่มีฝาแฝด! รู้จัก ‘Anti-universe’ ทฤษฎีใหม่ที่บอกว่าจักรวาลนี้ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว
นาทีนี้ เมตาเวิร์ส (Metaverse) ชิดซ้ายไปได้เลย!
หากคุณคิดว่าเมตาเวิร์ส คือโลกเสมือนใบใหม่ที่ล้ำเหนือจินตนาการแล้ว อาจจะต้องหยุดความคิดนั้นไว้ก่อน เพราะตอนนี้ มีทฤษฎีใหม่ที่มาแรงกว่านั้น นั่นก็คือ ‘Anti-universe’ ทฤษฎีที่บอกว่า จักรวาลที่เราอาศัยอยู่มี ‘ฝาแฝด’ ซึ่งไม่ใช่ฝาแฝดที่เป็นแค่สิ่งเสมือน แต่เป็นสิ่งที่น่าจะมีอยู่จริง
จริงๆ แล้ว หากจะกล่าวว่า Anti-universe เป็นหนึ่งในทฤษฎีจักรวาลคู่ขนาน (Parallel Universe) ที่ถูกพูดถึงกันมานานแสนนานก็คงจะไม่ผิดนัก แต่เมื่อวิเคราะห์ความหมายของคำว่า ‘Anti’ ที่แปลว่า ‘ตรงกันข้าม’ ที่อยู่ในคำว่า Anti-universe แล้วด้วยนั้น ทำให้เราพอสรุปได้ว่า ทฤษฎีนี้ ไม่ใช่ทฤษฎีโลกคู่ขนานธรรมดาๆ แน่ๆ แต่คงเป็นสิ่งที่มีความตรงข้ามกับจักรวาลที่เราอาศัยอยู่อย่างแน่นอน
โดยทฤษฎี Anti-universe ได้ถูกอธิบายไว้ในวารสาร Annals of Physics ว่า เป็นสิ่งที่ถือกำเนิดจาก ‘ทฤษฎีบิ๊กแบง (Big Bang Theory)’ หรือทฤษฎีกำเนิดเอกภพจากการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ที่ใครหลายๆ คนคงเคยได้ยินจากบทเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์มาก่อน
และ Anti-universe ยังถือกำเนิดมาพร้อมกับจักรวาลที่เราอาศัยอยู่ด้วยเช่นกัน แต่จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไป นั่นก็คือ ‘เวลาที่เดินถอยหลังจากอนาคตไปสู่อดีต และทุกสิ่งทุกอย่างจะมีสภาพกลับด้านกันหมด’
จุดเริ่มต้นของทฤษฎีนี้ มีที่มาจากการที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า ‘ทุกสิ่งบนโลกใบนี้ ล้วนมีแต่สิ่งที่เป็นสมมาตร ดังนั้น จักรวาลที่เราอาศัยอยู่ก็คงมีสิ่งที่สมมาตรกับตัวเองเช่นเดียวกัน’
ทำให้หลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มศึกษา และอธิบายเกี่ยวกับความสมมาตรของจักรวาลด้วย 3 ปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อความสมมาตร (CPT symmetry) ได้แก่ ประจุ (charge) ดุลยภาพ (parity) เวลา (time)
หลังจากการวิเคราะห์ด้วย 3 ปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อความสมมาตรตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แล้ว นักวิทยาศาสตร์พบว่า มีแนวโน้มของสิ่งที่คล้ายกับจักรวาล แต่มีประจุและการเคลื่อนที่ของอนุภาคในทิศทางที่ตรงกันข้าม รวมถึงเวลายังเดินย้อนกลับจากจักรวาลที่เราอาศัยอยู่ ทำให้สามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่า Anti-universe ก็น่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่ทั้งนี้ต้องรอการศึกษา และทำการทดลองเพิ่มเติม เพื่อหาหลักฐานที่ประจักษ์ชัดมารองรับความน่าเชื่อถือของทฤษฎี Anti-universe ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจอยู่อีกข้อหนึ่งเกี่ยวกับ Anti-universe นั่นก็คือ ใน Anti-universe ที่มีด้านสะท้อนกับจักรวาลที่เราอาศัยอยู่นั้น น่าจะมีสสารมืด (dark matter) ที่เกิดจากการกระจายตัวของ ‘นิวตริโน (Neutrino)’ ที่มีลักษณะแตกต่างจากนิวตริโนทั่วไปที่นักวิทยาศาสตร์รู้จัก
ต้องบอกก่อนว่า ในตอนนี้ตัวตนของสสารมืดยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า มีลักษณะอย่างไร และเกิดจากองค์ประกอบใดในอวกาศบ้าง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ได้มีการสันนิษฐานว่า สสารมืดอาจจะเกิดจากการกระจายตัวของนิวตริโนที่ลอยไปลอยมาอยู่ในอวกาศนั่นเอง
ซึ่งโดยปกติแล้ว นิวตริโน คืออนุภาคย่อยของอะตอมที่มีพลังงานสูง และมีความหนาแน่นต่ำ รวมถึงยังเป็นกลางทางไฟฟ้า ไม่มีความเป็นประจุบวกหรือลบ อีกทั้งยังมีทิศทางในการหมุนไปทางซ้ายอย่างเดียว ซึ่งต่างกับอนุภาคชนิดอื่นที่มีการหมุนไปทั้งทางซ้ายและขวา
และจากสมมติฐานในเบื้องต้นเกี่ยวกับทฤษฎี Anti-universe ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ใน Anti-universe คงมีสสารที่หมุนคนละด้านกับที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักอยู่ ดังนั้น ก็เป็นไปได้ว่า นิวตริโนที่อยู่ใน Anti-universe จะเป็นนิวตริโนที่มีทิศทางในการหมุนไปทางขวา ซึ่งแตกต่างจากนิวตริโนทั่วไปที่มีทิศทางในการหมุนไปทางซ้าย
ถึงแม้ว่าในตอนนี้ การศึกษาเกี่ยวกับ Anti-universe จะยังไม่แล้วเสร็จดี แต่เมื่อไรที่นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาทฤษฎีนี้ได้จนสำเร็จ และทำให้ทฤษฎีนี้กลายเป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างแล้วนั้น Anti-universe ก็คงจะเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่มีประโยชน์กับการศึกษาเกี่ยวกับตัวตนของสสารมืด และสิ่งอื่นๆ ในจักรวาลที่ยังไม่สามารถหาคำตอบมาอธิบายได้อย่างแน่นอน
Sources: https://bit.ly/3OpBdCV