‘คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต บางคนก็เป็นของขวัญ แต่บางคนก็เป็นบทเรียน’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ได้ชื่อว่า ‘หัวหน้าของเรา’ ที่มีนิสัย การกระทำ และคำพูดแบบไม่ไหวจะเคลียร์ อ่อนเพลียไม่อยากจะ said ด้วย
แม้ความเครียดจะเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดได้กับมนุษย์ออฟฟิศทุกคน เครียดงาน เครียดลูกค้า หรือเครียดเพื่อนร่วมงานก็ตาม แต่ผลงานวิจัยของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว หัวหน้าเป็นสาเหตุส่วนใหญ่เลยทีเดียว เห็นได้จาก 75 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่า ‘หัวหน้าคือส่วนที่เครียดที่สุดในวันทำงาน’ ของตน
อีกทั้ง ลึกๆ แล้ว หัวหน้าก็ยังเป็นผู้สร้างฝันร้าย และหายนะสมองไหลให้กับทีมด้วย โดยผลการศึกษาหนึ่งของแกลแลป (Gallup) พบว่า ครึ่งหนึ่งของพนักงานลาออกจากงานเพราะ ‘ต้องการหนีหัวหน้า’
และผลการศึกษาของเดนมาร์กเรื่องสาเหตุที่ทำให้พนักงานด้านบริการกว่า 4,500 คน ลาออกพบว่า การทำงานหนักไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้บางคนลาออก คนไม่ได้ลาออกเพราะงาน แต่จริงๆ แล้ว ‘พวกเขาลาออกเพราะหัวหน้า’ ต่างหาก
นอกจากนี้ ผลงานวิจัยของทีมกับคริสทีน พอรัธ (Christine Porath) แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) เรื่องผลกระทบของความหยาบคาบก็ยังพบด้วยว่า จากการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับคำหยาบคายโดยตรงจากนักวิจัย กลุ่มที่สองได้รับคำพูดที่ทำร้ายจิตใจจากคนอื่น และกลุ่มที่สามให้จินตนาการว่า หากสถานการณ์แบบคนที่กลุ่มแรกกับกลุ่มที่สองเกิดขึ้นกับตัวเอง จะรู้สึกยังไงบ้าง?
ผลปรากฏว่า คนทั้ง 3 กลุ่มต่างก็ทำงานได้แย่ลง โดยนักวิจัยอธิบายเรื่องดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า หลังจากที่สัมผัสกับความหยาบคาย คนเรามักจะคิดหนักถึงเหตุการณ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดซ้ำไปมา (Ruminating) หรือการพยายามหาหนทางตอบสนอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ทรัพยากรทางความคิดถูกนำไปใช้กับเรื่องอื่น
เอสเธอร์ เพเรล (Esther Perel) นักจิตบำบัดอธิบายว่า “หัวหน้าแย่ๆ ไม่ได้แค่สร้างวัฒนธรรมการทำงานเชิงลบเท่านั้น แต่ยังเป็นการไม่อนุญาตให้บริษัทประสบความสำเร็จด้วย” คำถามต่อมาคือ ทั้งที่หลายๆ คนก็เคยบ่นหัวหน้าสารพัด แล้วทำไมถึงยังเลือกอยู่ต่อล่ะ?
หลักๆ แล้ว สิ่งที่ทำให้บางคนยอมทนทุกข์อยู่ต่อมาจากหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการไม่อยากหางานใหม่ การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี การมีเนื้องานที่ตอบโจทย์ความต้องการ Location ของออฟฟิศที่เดินทางสะดวก การมีเงินเดือนที่สูง หากหางานใหม่อาจจะไม่มีใครกล้าให้เท่านี้ หรือแม้กระทั่งภาวะ ‘Loss Aversion’ ความรู้สึกกลัวความสูญเสีย ทั้งเงินเดือน สถานะ ความมั่นคง ความสัมพันธ์ทางสังคม และผลประโยชน์อื่นที่สะสมมาตลอดเวลาการทำงานก็ด้วย
ซึ่งถ้าเกิดว่าเราเป็นคนที่มีภาวะ Loss Aversion จริง มองว่า การยื่นซองขาว ใบลาออกก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย และถึงที่สุดแล้ว ยังคงต้องทำงานร่วมกับหัวหน้าประเภทนี้ต่อ จะรับมือยังไงดี?
แมรี อับบาเจย์ (Mary Abbajay) ประธานแคเรียร์สโตนกรุ๊ป (Careerstone Group) บริษัทให้บริการคำปรึกษา และการโค้ชแนะนำเกี่ยวกับวิธีเปลี่ยนสถานการณ์ที่เลวร้ายให้ดีขึ้นในบทความเรื่อง ‘What to Do When You Have a Bad Boss’ บนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ว่า
อย่างแรก ‘อย่าลืมฟีดแบ็กเด็ดขาด’ เพราะมันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เรากับหัวหน้าจูนกันติด หาเวลาเหมาะๆ รอให้หัวหน้าใจเย็น อารมณ์ดีแล้วค่อยเดินเข้าไป จากนั้น อธิบายถึงสิ่งที่อยากให้เขาทำ ไม่ใช่การเดินไประบาย บอกตรงๆ กล่าวโทษทุกสิ่งที่พวกเขาทำไม่ดี การทำแบบนี้นอกจากจะทำให้หัวหน้าไม่ฟังแล้ว ก็ยังทำให้เกิดอคติกับเราด้วย
ถัดมา ‘ให้รายล้อมไปด้วยหน่วย Support แหล่งกำลังใจชั้นดี’ อย่างเช่น เพื่อน คนที่เรารัก และเขาก็รักเรา เพราะการต้องเจอหัวหน้าแย่ๆ ทุกวันถือเป็นความท้าทายทางอารมณ์กับความเครียดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ แนะนำว่า อาจจะลองปรึกษาโค้ช นักบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญดูก็ได้
อย่างที่สาม ‘ออกกำลังกายให้พอ นอนให้พอ’ แม้เราจะควบคุมพฤติกรรมหัวหน้าไม่ได้ แต่เราสามารถควบคุมการโต้ตอบกับพฤติกรรมของพวกเขาได้ ดังนั้น ควรเริ่มจากการดูแลตัวเองให้ดี ทั้งสุขภาพร่างกาย และจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น การเล่นโยคะ การวิ่ง การทำสมาธิ การฝึกพูดเชิงบวกหน้ากระจก เพื่อเตือนตัวเองในทุกๆ วัน เป็นต้น
อย่างที่สี่ ‘ให้ลองสำรวจโอกาสอื่นในออฟฟิศ’ ว่า พอจะมีวิธีไหนที่หนีจากหัวหน้าแสน Toxic คนปัจจุบันโดยไม่ต้องลาออกได้บ้าง มีตำแหน่งอื่น ทีมอื่นที่กำลังเปิดรับสมัคร และเราสนใจไหม? ถ้ามีก็รีบใส่เกียร์เดินหน้าต่อได้เลย
และอย่างสุดท้าย ‘ให้ปรึกษา HR ตรงๆ’ เล่าให้พวกเขารับรู้ถึงปัญหาที่เกิด สิ่งที่เราพยายามแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น เพราะบางทีพวกเขาอาจจะช่วยเหลือ เสนอแนวทางดีๆ ที่เราคาดไม่ถึงกลับมาก็ได้
แมรีเคยกล่าวไว้ว่า “ให้เราหางาน และหัวหน้าที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่งานที่ทำให้ป่วยทางร่างกาย และอารมณ์” ฉะนั้น หากวันนี้ความเครียดของงานลุกลามไปในทุกอณูชีวิตของคุณ รู้สึกไม่ Secure กลัวการไปทำงาน ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการคิดถึงหัวหน้ามากกว่างาน ความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) ลดต่ำลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
นี่ก็อาจจะเป็นสัญญาณอ่อนๆ แล้วว่า คนบางคนก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ
ลองถามตัวเองว่า ก่อนหน้าทำงานที่นี่เราเคยมีความสุขกว่านี้ไม่ใช่เหรอ เดี๋ยวนี้รอยยิ้มเสียงหัวเราะพวกนั้นหายไปไหน ฉันคนเดิมยังอยู่รึเปล่า? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!
Sources: https://bit.ly/3BCvR1z
https://bit.ly/3C21jYv
https://cnb.cx/3xFs4iX
https://nbcnews.to/3f9seZp
https://bit.ly/3fedpVD