ถ้า ‘ทวิตเตอร์’ ในมือ ‘อีลอน มัสก์’ ไม่อุ่นใจเท่าเดิม หนีมาซบอกบ้านหลังใหม่อย่าง ‘Truth Social’ ได้ไหม?

Share

หลังจากที่ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) สามารถเด็ดปีก และถล่มรังนกน้อยสีฟ้าได้สำเร็จ จากการปิดดีลเข้าซื้อ ‘ทวิตเตอร์’ (Twitter) ครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยจำนวนเงินกว่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1.5 ล้านล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมากมาย ถึงความเปลี่ยนแปลงของทวิตเตอร์ในอนาคตตามแนวทางของมัสก์ จนหลายๆ คนคิดว่า พื้นที่ที่เปิดกว้างทางการแสดงความคิดเห็นแห่งนี้ อาจจะไม่ใช่ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ (Safe Zone) ของตัวเองอีกต่อไป

ดังนั้น การมองหาทางเลือกใหม่ของใครหลายๆ คน จึงเริ่มต้นขึ้น ก่อนหน้านี้ มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอยู่มากมาย แต่กลับมีสถานะเหมือนอยู่ในเงาของทวิตเตอร์ที่แสงส่องไปไม่ถึง และไม่มีใครมองเห็น จนในที่สุด เมื่อมีข่าวการถล่มรังนกน้อยสีฟ้าของมัสก์เกิดขึ้น แสงจึงเริ่มส่องไปที่แพลตฟอร์มเหล่านั้น และทำให้ผู้คนเริ่มหันมาสนใจแพลตฟอร์มอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เกิดปรากฏการณ์ที่ชาวสหรัฐฯ แห่กันไปดาวน์โหลด ‘ทรูธ โซเชียล’ (Truth Social) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จนขึ้นแท่นเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดเป็นอันดับหนึ่งบนแอปสโตร์ (App Store) ในสหรัฐฯ

และเรื่องนี้ ก็ไปถึงหูของมัสก์ จนทำให้เขาอดไม่ได้ที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสักหน่อยว่า “ทรูธ โซเชียล (ชื่อแย่มาก) เกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะทวิตเตอร์ไม่สนับสนุน free speech นั่นแหละ” จากการตอบโต้เล็กๆ น้อยๆ ในครั้งนี้ ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า หรือจริงๆ แล้ว ‘ทรูธ โซเชียล’ จะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ ‘ทวิตเตอร์’ กัน?

วันนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนมาร่วมกันวิเคราะห์ว่า ‘ทรูธ โซเชียล’ แพลตฟอร์มน้องใหม่ที่เพิ่งเดบิวต์มาได้ 2 เดือนนิดๆ จะสามารถตีตื้นขึ้นมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ ‘ทวิตเตอร์’ แพลตฟอร์มสุดเก๋าที่ครองตลาดมากว่า 16 ปี ได้หรือไม่?

(แต่ต้องบอกก่อนว่า ทรูธ โซเชียลยังไม่เปิดบริการให้ใช้นอกพื้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ดังนั้น เนื้อหาที่นำมาวิเคราะห์ในวันนี้ จะมาจากความคิดเห็นของผู้ที่ทดลองใช้งานแล้ว และแหล่งข่าวต่างๆ เป็นหลัก)

ข้อจำกัดในการใช้งานทรูธ โซเชียลในตอนนี้ มันเยอะเหลือเกิน

มากันที่ข้อจำแรกที่ทำให้ผู้เขียนก็ยังไม่ได้ลองใช้งานเหมือนกัน นั่นก็คือ การจำกัดการใช้งานแค่ในสหรัฐฯ หรือต่อให้อยู่ในสหรัฐฯ แต่เป็นผู้ใช้งานแอนดรอยด์ (Android) ก็ไม่สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้อยู่ดี รวมถึงผู้ใช้งานหน้าใหม่ที่สมัครเข้าใช้งานในแอปฯ ก็จะยังไม่ได้บัญชีผู้ใช้งานในทันที ต้องรอคิวอยู่ใน waiting list ก่อน จากนั้น แอปฯ จึงจะอนุญาตให้เข้ามาใช้งานได้

ข้อกำจัดเหล่านี้ อาจจะเกิดมาจากการที่ ทรูธ โซเชียลเอง ก็เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน โดยเปิดตัวเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ด้วย (ช่างเลือกวันเปิดตัวได้ดีจริงๆ) ทำให้ระบบต่างๆ ยังไม่พร้อมใช้งานเท่าที่ควร รวมถึงหน้าตาของแอปฯ ก็ไม่ได้ต่างจากทวิตเตอร์เท่าไร และประเด็นนี้ จะสามารถดึงดูดให้คนใช้งานได้ในระยะยาวหรือเปล่า?

นอกจากนี้ การเปิดตัวทรูธ โซเชียลยังทำให้นึกถึงช่วงแรกของการเปิดตัวแอปฯ คลับเฮ้าส์ (Clubhouse) ที่เป็นที่นิยมอยู่ช่วงหนึ่งด้วย โดยในตอนนั้น คลับเฮ้าส์ใช้ระบบในการส่งคำเชิญ เพื่ออนุมัติการใช้งานของผู้ใช้งานรายใหม่ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เซิร์ฟเวอร์รับผู้ใช้งานจำนวนมากในคราวเดียว เพราะจะทำให้ระบบล่มได้

มิหนำซ้ำ ยังจำกัดการใช้งานเฉพาะผู้ใช้งานไอโอเอส (iOS) เท่านั้น และกว่าที่คลับเฮ้าส์จะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้งานแอนดรอยด์ได้เข้ามาใช้งาน กระแสความนิยมก็ซาไปหมดแล้ว ดังนั้น ถ้าในอนาคตทรูธ โซเชียลยังจำกัดการใช้งานแค่ในพื้นที่สหรัฐฯ หรือเปิดให้ใช้งานเฉพาะผู้ใช้งานไอโอเอสต่อไป อาจจะมีจุดจบเหมือนกับคลับเฮ้าส์หรือไม่?

แพลตฟอร์มที่เริ่มต้นจากศูนย์ของ ‘ทรัมป์’ VS แพลตฟอร์มสำเร็จรูปของ ‘มัสก์’

จริงๆ แล้ว ทั้งทรัมป์และมัสก์ ต่างก็เป็นคนที่เชื่อใน free speech ทั้งคู่ และสำหรับทรัมป์เอง ก็ยังมีสถานะเป็นผู้ประสบภัยจาก free speech (ในแบบที่ตัวเองคิด) จนถูกแบนจากทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก (Facebook) เหตุเพราะให้การสนับสนุนผู้บุกรุกรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทรัมป์คิดที่จะเปิดตัวแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมา

เมื่อสำรวจแนวทางในการสร้างแพลตฟอร์มของทั้งคู่ ก็พบว่า ทรูธ โซเชียลของทรัมป์นั้น เริ่มจากศูนย์จริงๆ เพราะต้องทำตั้งแต่เขียนโค้ด ออกแบบระบบหลังบ้าน ไปจนถึงออกแบบหน้าตาของแอปฯ เรียกได้ว่า ต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเลย ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องต้นทุนที่ใช้เลยว่า จะมากขนาดไหน

และเมื่อตัดภาพไปทางมัสก์ที่ใช้เงินก้อนใหญ่ทุ่มซื้อบริษัทไปเลยในคราวเดียว แต่ได้ทุกอย่างมาแบบพร้อมใช้งาน โดยที่ไม่ต้องเริ่มสร้างใหม่ตั้งแต่ต้น เพียงแค่อยากให้มีอะไรในแพลตฟอร์ม ก็สามารถปรับนิดแต่งหน่อยตามใจชอบได้เลย และถ้าดูกันตามศักยภาพในตอนนี้ ก็ดูเหมือนว่า มัสก์ถือไพ่เหนือกว่าทรัมป์อยู่หรือเปล่า?

ถึงแม้ว่า ทรูธ โซเชียล จะเกิดจากการที่ทรัมป์อยากมีช่องทางในการสื่อสารกับคนอื่นๆ เพราะโดนแพลตฟอร์มอื่นแบนมา โดยที่ตัวเขาเองก็อาจจะยังไม่ได้คาดหวังที่จะสร้างรายได้กับทรูธ โซเชียลมากนัก แต่ถ้าความเป็นนักธุรกิจในสายเลือดของทรัมป์เกิดพลุ่งพล่านขึ้นมา และทำให้เขาตัดสินใจที่อยากจะสร้างรายได้กับทรูธ โซเชียลขึ้นมาล่ะ?

งานนี้คงสนุกแน่ เพราะทรัมป์เองก็คงทุ่มเงินอีกมหาศาลในการพัฒนาแอปฯ ให้ถูกใจผู้ใช้งานมากขึ้นไปอีก คงทำให้มัสก์รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ อยู่ไม่น้อยที่อยู่ดีๆ ก็มีคู่แข่งคนสำคัญเกิดขึ้นมา และในอนาคต เราคงได้เห็นศึกการต่อสู้บนสนามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย free speech ของชายผู้เป็นมหาเศรษฐีทั้งสองคนอย่างแน่นอน

Sources: https://nyti.ms/3P2J8pX

https://bbc.in/3vOTLoP

https://apple.co/38WXp7k