ในการพูดนำเสนอต่างๆ ไม่ว่าในที่ประชุม งานบรรยาย เวทีเสวนา หรือแม้แต่กล่าวสุนทรพจน์ เป็นสถานการณ์ที่เหล่าผู้นำต้องพบเจอเป็นเรื่องปกติ ทั้งการพูดภายในและนอกองค์กร ทักษะการนำเสนอหรือการพูดพรีเซนต์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้
นอกจากการนำเสนอที่ชัดเจนตรงประเด็น อารมณ์ขันก็เป็นอีกสิ่งที่จะช่วยให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น รวมถึงช่วยให้สิ่งที่ยากหรือซับซ้อนง่ายขึ้น หรือแม้แต่ช่วยให้เข้าถึงหัวใจของสาระที่นำเสนอได้อย่างไม่เครียด อารมณ์ขันจะช่วยให้ผู้คนผ่อนคลายและลดกำแพงของผู้ฟังให้เปิดรับสารที่เราต้องการสื่อออกไปได้มากขึ้น ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของนักพูดมืออาชีพ
ประโยชน์จากอารมณ์ขัน
เอ.เค. ประทีป (A. K. Pradeep) ผู้ก่อตั้งนิวโรโฟกัส บริษัทด้านการวิจัย ได้ศึกษาเกี่ยวกับประสาทวิทยาเพื่อวิเคราะห์ว่า ทำไมผู้บริโภคสนใจและซื้อสินค้า เขาพบว่า อารมณ์ขันเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สมองสร้างมาให้ทำปฏิกิริยาตอบสนองและเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ข้อมูลมีความสดใหม่ และชี้ให้เห็นว่า บทสนทนาที่สั้น ชัดเจน และน่าสนใจ มีแนวโน้มที่จะประทับใจอยู่ในสมองผู้ฟังมากกว่า โดยประทีปแนะนำว่า การทำให้สารน่าสนใจคือ “การใช้อารมณ์ขันมาทำให้แปลกใหม่”
ขณะที่ ร็อด เอ. มาร์ติน (Rod A. Martin) อาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ ในแคนาดา กล่าวว่า คนใช้อารมณ์ขันเพื่อเสริมสถานะลำดับชั้นในกลุ่มด้วย เช่น คนมีแนวโน้มจะปล่อยมุกและสร้างความบันเทิงให้คนในกลุ่มที่เขาเป็นหัวหน้าหรือมีตำแหน่งผู้นำ มากกว่ากลุ่มที่เขามีสถานะต่ำหรือมีอำนาจน้อยกว่าคนอื่น
มาร์ตินให้เหตุผลว่า อารมณ์ขันถูกใช้เป็นเทคนิคเพื่อให้เป็นที่ยอมรับเข้ากลุ่มได้ง่ายขึ้น ซึ่งใช้อธิบายว่า เหตุใดนักแสดงตลกชื่อดังหลายคนเคยมีชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบาก หรือเคยผ่านช่วงเวลาของการเป็นคนนอก พวกเขาใช้อารมณ์ขันเป็นเทคนิคช่วยให้ได้รับการยอมรับจากคนในกลุ่ม และใช้บ่อยจนคล่อง จนถึงจุดที่สามารถนำมาเป็นอาชีพได้
เสียงหัวเราะยังเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความสามัคคีในกลุ่ม เป็นสิ่งชี้นำจิตใจหรือวิธีการที่ออกแบบมาเพื่อดึงความสนใจของผู้อื่น เพื่อถ่ายทอดข้อมูลที่สำคัญ และทำหน้าที่ชี้นำ เน้นย้ำอารมณ์ด้านบวกจากผู้อื่นด้วย มาร์ติน ศึกษาพบว่า คนที่มีอารมณ์ขันมีแนวโน้มที่จะถูกมองว่ามีลักษณะนิสัยที่ดี (เป็นมิตร เอาใจใส่ผู้อื่น น่าคบ น่าสนใจ ฉลาด เข้าอกเข้าใจ เป็นต้น)
บทความที่ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review ชื่อ Laughing All the Way to the Bank ของ ฟาบีโอ ซาลา (Fabio Sala) ได้รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับอารมณ์ขัน ซึ่งทำการวิจัยจากผู้บริหาร 20 คน จากบริษัทอาหารและเครื่องดื่มแห่งหนึ่ง พบว่า หากใช้อารมณ์ขันอย่างมีทักษะจะช่วยให้จัดการสิ่งต่างๆ ได้ราบรื่น ลดความไม่เป็นมิตร เลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ ผ่อนคลายความเครียด เพิ่มกำลังใจ และช่วยถ่ายทอดสารที่เข้าใจยากให้เข้าถึงง่ายขึ้น
ฟาบีโอ ชี้ว่า การเป็นคนตลกไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญ แต่สะท้อนถึงความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จ “ผู้บริหารกลุ่มที่โดดเด่นใช้อารมณ์ขันบ่อยกว่าผู้บริหารทั่วไปเกินสองเท่า” อย่าพยายามทำตัวตลก แต่จงใส่ใจวิธีการใช้อารมณ์ขัน การตอบสนองของคนอื่นที่มีต่ออารมณ์ขันนั้น และสารที่สื่อ ซึ่งทุกอย่างอยู่ที่การเล่า
5 วิธี ตลกโดยไม่ต้องปล่อยมุก
เมื่อทุกอย่างอยู่ที่การเล่าเรื่อง แล้วจะสร้างอารมณ์ขันอย่างไรโดยไม่ต้องเล่นมุก? คาไมน์ แกลโล (Carmine Gallo) นักพูดมืออาชีพและนักเขียนชื่อดัง ได้ศึกษาเหล่านักพูดชื่อดังของ TED และสรุปเป็น 5 วิธี สำหรับเพิ่มอารมณ์ขันให้กับการนำเสนอ โดยไม่ต้องปล่อยมุกแบบนักแสดงตลกมืออาชีพ และไม่ใช่คนตลกโดยธรรมชาติก็สามารถทำได้ ดังต่อไปนี้
1. เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ข้อสังเกต หรือเรื่องเล่าส่วนตัว
ผู้บรรยายส่วนใหญ่ของ TED สามารถเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้จากการเล่ารายละเอียดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับตนเอง คนรู้จัก หรือสิ่งรอบตัว เช่น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับตัวเราและเราพบอารมณ์ขันในเรื่องนั้น มีโอกาสที่คนอื่นจะขำด้วย ซึ่งอารมณ์ขันรูปแบบนี้ เป็นวิธีที่ เซอร์เคน โรบินสัน (Sir Ken Robinson) นักการศึกษา ผู้บรรยาย TED Talk หัวข้อ ‘ทำไมโรงเรียนทำลายความคิดสร้างสรรค์’ (Do schools kill creativity?) ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความนิยมสูงสุดของ TED มีผู้ชมกว่า 74 ล้านครั้งบนเว็บไซต์ (สามารถชมการบรรยายของเขาได้ที่ http://bit.ly/3xy8W5U)
อารมณ์ขันของ เซอร์เคน มักอยู่ในรูปเรื่องเล่าเกี่ยวกับตนเอง ลูก และภรรยา ซึ่งอารมณ์ขันแบบนี้ เป็นประเภทที่ใช้ได้ดีที่สุดในการนำเสนอทางธุรกิจ เกร็ดและข้อสังเกตคือเรื่องเล่าสั้นๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจให้ผู้ฟังหัวเราะร่วน แต่ต้องการให้มีรอยยิ้มและรู้สึกดี
ตัวอย่างเรื่องเล่าส่วนตัวที่ เซอร์เคน พูดบนเวที TED เช่น “เราย้ายจากสแตรตฟอร์ด มาลอสแอนเจลิส ซึ่งจริงๆ ลูกชายผมไม่อยากมา ผมมีลูก 2 คน ลูกชายอายุ 21 ปี ลูกสาวอายุ 16 ปี เขาไม่อยากมาลอสแอนเจลิส เขาชอบเมืองนี้ แต่เขามีแฟนอยู่ที่อังกฤษ ซาราห์คือรักแท้ของเขาเชียวล่ะ เขารู้จักเธอแค่หนึ่งเดือน แต่ทำเหมือนคบกันมา 4 ปีแล้ว เวลา 1 เดือนถือว่านานมากสำหรับเขา เขาเศร้ามากตอนอยู่บนเครื่องบินและพูดว่า ‘ผมคงไม่มีวันเจอสาวคนไหนเหมือนซาราห์อีก’ บอกตรงๆ เราค่อนข้างพอใจเมื่อได้ยินอย่างนั้น เพราะเธอ (ซาราห์) คือสาเหตุหลักที่เราต้องย้ายประเทศ”
อีกข้อสังเกตที่ เซอร์เคน พูดบนเวที TED “ผมชอบอาจารย์มหาวิทยาลัยนะ แต่เราไม่ควรยกย่องพวกเขาให้เป็นความสำเร็จสูงสุดของมนุษยชาติ พวกเขาแค่สิ่งมีชีวิตรูปแบบหนึ่งที่ค่อนข้างแปลก ผมพูดแบบนี้ด้วยความรัก ประสบการณ์ของผมบอกว่ามีอะไรแปลกๆ เกี่ยวกับอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ทุกคนแต่โดยทั่วไป พวกเขาอยู่กับความคิดในหัว อยู่กับความเพ้อฝันและเอียงข้างหน่อยๆ พวกเขาเหมือนคนวิญญาณออกจากร่าง ว่ากันตรงๆ พวกเขามองร่างกายเป็นพาหนะอย่างหนึ่งสำหรับไว้แบกหัว จริงไหม? มันเป็นวิธีพาหัวไปเข้าประชุม” เรื่องราวของเขาสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้ผู้ฟังการบรรยายสดได้ไม่น้อย
2. อุปมาเปรียบเทียบ
การเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นถึงความคล้ายกันระหว่างของสองสิ่งที่แตกต่างกัน เป็นเทคนิคที่ดีในการเล่าเรื่อง ที่สามารถอธิบายหัวข้อที่ซับซ้อนได้ เช่น ชิปเซมิคอนดักเตอร์ของคอมพิวเตอร์ เปรียบเหมือนสมองของคอมพิวเตอร์ ทำให้เห็นภาพมากขึ้น เป็นต้น และการเปรียบเทียบยังสามารถสร้างอารมณ์ขันได้ด้วย โดยผู้บรรยายเวที TED ชื่อดังหลายคนเรียกเสียงหัวเราะด้วยการเปรียบเทียบนี้ เช่น
“หากคุณได้ยินผู้เชี่ยวชาญพูดเรื่องอินเทอร์เน็ตว่าทำนั่นทำนี่ได้ ควรฟังหูไว้หู เหมือนเวลาได้ยินนักเศรษฐศาสตร์พูดเรื่องเศรษฐกิจ หรือนักพยากรณ์อากาศทำนายลมฟ้าอากาศ” แดนนี ฮิลลิส (Danny Hillis) นักประดิษฐ์ (เวที TED ปี 2013)
“การพยายามบริหารสภาคองเกรสโดยไม่มีสายสัมพันธ์กับคนอื่น ก็เหมือนกับการขับรถโดยไม่มีน้ำมันเครื่อง ควรแปลกใจเหรอเมื่อทุกอย่างไม่ทำงาน?” โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาสังคม (เวที TED ปี 2012)
3. ยกคำพูดคนอื่น
การอ้างอิงหรือยกคำพูดคนอื่นเป็นอีกวิธีที่สร้างเสียงหัวเราะได้ อาจมาจากคำพูดคนดัง เพื่อน หรือครอบครัวก็ได้ เช่น จอห์น แมควอร์เตอร์ (John McWhorter) นักภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ชี้ให้ผู้ฟังบนเวที TED ปี 2013 ว่า แทนที่จะคร่ำครวญกับภาษาของวัยรุ่น เราควรมองมันเป็นปาฏิหาริย์ทางภาษาในวิวัฒนาการของภาษาพูด โดย จอห์น ได้ให้ผู้ชมดูสไลด์ชุดหนึ่งที่มีข้อความของคนที่วิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษาของคนหนุ่มสาว
เขาเริ่มต้นด้วยคำพูดของอาจารย์สอนภาษาอังกฤษคนหนึ่ง ในปี 1956 “หลายคนไม่รู้จักตัวอักษรหรือตารางสูตรคูณ เขียนให้ถูกไวยากรณ์ยังไม่ได้เลย” (ผู้ฟังไม่หัวเราะ) ต่อด้วยครูโรงเรียนคอนเนกติกัต ในปี 1917 “โรงเรียนมัธยมทุกแห่งล้วนสิ้นหวังเพราะนักเรียนไม่สนใจแม้เรื่องพื้นฐานที่สุด” (ผู้ฟังไม่หัวเราะ) ต่อด้วย ชาร์ลส์ เอเลียต (Charles Eliot) อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 1871 “สะกดผิด เขียนผิดเช่นเดียวกับการใช้คำที่ไม่สละสลวยในการเขียน ไม่ใช่เรื่องที่พบเจอได้ยากในหมู่ชายหนุ่มวัย 18 ปี ผู้ที่หากไม่นับเรื่องนี้ก็ถือว่ามีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับวิทยาลัย” (ผู้ฟังเริ่มเข้าใจ บางคนเริ่มหัวเราะ)
จอห์นนำเสนอต่อไปด้วยคำพูดที่เก่าแก่ขึ้นเรื่อยๆ จนถึงข้อความจากปี 63 ที่ชายคนหนึ่งเศร้ากับวิธีการพูดภาษาละตินของคนสมัยนั้น (ซึ่งต่อมากลายเป็นภาษาฝรั่งเศส) หลังจาก จอห์น ยกคำพูดหลายตัวอย่าง ผู้คนก็เริ่มเข้าใจประเด็นและเริ่มหัวเราะ ซึ่งประเด็นที่เขาต้องการจะสื่อคือ แม้ผู้คนจะบ่นเรื่องการใช้ภาษาของคนหนุ่มสาวทุกยุคสมัย แต่โลกก็ยังคงหมุนไป ข้อความที่เขายกมาไม่ได้ทำให้คนขำ แต่วิธีการนำเสนอประเด็นของเขา
การยกคำพูดอ้างอิงมาประกอบการนำเสนออย่างสร้างสรรค์จะช่วยให้ผู้ฟังมีจังหวะผ่อนคลาย แต่ต้องเลี่ยงข้อความที่พบเจอได้ทั่วไปและใช้กันบ่อยจนซ้ำซาก ให้คิดและเลือกอย่างจริงจังและเชื่อมโยงกับสิ่งที่นำเสนอให้ได้
4. วิดีโอชวนขำ
วิดีโอเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างอารมณ์ขันได้ ช่วยลดภาระของผู้พูดในการสร้างความสนุกสนานได้ ในงาน TEDxYouth ปี 2011 เควิน อัลล็อกคา (kevin Allocca) ผู้จัดการฝ่ายสำรวจแนวโน้ม YouTube (ในขณะนั้น) เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังไม่หยุดด้วยคลิปวิดีโอสั้นชวนขำ 3 ชิ้น เควิน เผยให้เห็นเหตุผล 3 ข้อ ที่วิดีโอเหล่านี้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว มีจำนวนผู้ชมกว่าหลายร้อยล้านครั้งว่า เป็นสิ่งที่นำกระแสและคาดไม่ถึง
เควิน นำเสนอข้อมูล แผนภูมิ และสถิติต่างๆ เกี่ยวกับวิดีโอนั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจริงจัง แต่เขาสลับด้วยวิดีโอชวนขำ เพื่อให้ผู้ฟังหัวเราะ นั่นช่วยให้การนำเสนอของเขามีสีสันขึ้น เขาไม่ต้องพูดหรือทำอะไรให้ผู้คนหัวเราะ แต่ใช้ผู้อื่นทำหน้าที่นั้นแทน อย่างไรก็ตาม สำคัญที่สุดคือต้องสอดคล้องกับหัวข้อที่นำเสนอด้วย
5. ภาพประกอบเรื่องราว
อารมณ์ขันจะช่วยให้สิ่งที่ยากเข้าใจได้ง่ายขึ้น งาน TED ปี 2009 ฆวน เอ็นริเกซ (Juan Enriquez) นักเศรษฐศาสตร์ ได้ลดความซับซ้อนของเรื่องเศรษฐศาสตร์ด้วยภาพถ่ายที่ช่วยเติมอารมณ์ขัน เขาพูดว่า “ผมอยากให้คุณเห็นภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน” พร้อมภาพบนสไลด์มีหัวข้อคำว่า เศรษฐกิจ กับฉากหลังสีดำเท่านั้น และผู้ฟังหัวเราะทันที
ในปี 2009 สหรัฐอเมริกาอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก ภาพฉากสีดำนั้นจึงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติม ความมืดมนของสีดำนั้นได้บ่งบอกทุกอย่าง เป็นสิ่งที่ผู้คนรู้สึกและเข้าใจได้ทันที เรียกเสียงหัวเราะลั่นจากผู้ชมได้ สังเกตได้ว่าลำพังแค่ภาพหลังสีดำหรือคำพูดของเขาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกขันหรือเข้าใจถึงเรื่องราวได้ แต่เป็นการรวมกันของทั้งสอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจในบริบทของเรื่องนั้นดีจนไม่ต้องอธิบาย การที่เข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบายนี่เองที่ช่วยเรียกเสียงหัวเราะ
อีกตัวอย่างคือ คาร์ไมน์ เล่าเรื่องราวของโรงแรมริตซ์-คาร์ลตัน (Ritz-Carlton) ว่า พวกเขาได้รับสายจากลูกค้ารายหนึ่งว่า ลูกชายเขาลืม โจชิ ตุ๊กตาตัวโปรดไว้ที่ห้องพัก โดยขอให้ค้นหาในห้องที่พวกเขาเคยพักและส่งพัสดุกลับไปให้ และยังขอให้พนักงานโรงแรมช่วยถ่ายภาพ โจชิ กลับไปให้ เพื่อที่เขาจะได้ให้ลูกชายดูว่าเจ้าตุ๊กตาตัวโปรดสบายดี พนักงานโรงแรมส่งหลายภาพกลับไปให้พ่อลูก เป็นภาพของ โจชิ สุขสบายในรีสอร์ต อยู่ริมสระว่ายน้ำ บนชายหาด นั่งรถกอล์ฟ และกำลังนวดหน้า
การนำเสนอดังกล่าวหากมีแค่เรื่องราว ผู้ฟังอาจแค่ชื่นชมการทำงานของพนักงานโรงแรมเท่านั้น แต่ภาพถ่ายจริงช่วยเรียกเสียงหัวเราะของผู้คนได้เป็นอย่างดี การได้เห็นตุ๊กตานอนบนเตียงนวดมีแตงกวาแปะตา ขณะที่มีคนนวดไหล่ เป็นภาพที่ตลก ช่วยให้ผู้ฟังจดจำภาพ และสื่อให้เข้าถึงสารได้มากขึ้น นั่นคือช่วงเวลาแสนประทับใจที่พนักงานโรงแรมมอบให้ลูกค้า
สรุปคือ อารมณ์ขันในการบรรยายหรือนำเสนอสามารถสร้างได้ โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยมุกหรือเป็นตลกมืออาชีพ จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อให้คนขำกรามค้าง แต่เป็นอารมณ์ขำขันที่ผ่อนคลาย เพื่อให้การนำเสนอไม่น่าเบื่อ น่าจดจำ เข้าใจง่ายขึ้น และเข้าถึงหัวใจของสาระที่ต้องการจะสื่อ โดยให้สอดคล้องกับเนื้อหาสาระของเรื่องที่กำลังพูดด้วย สิ่งสำคัญคือ ต้องทำการบ้าน เตรียมตัว และฝึกฝน ศึกษากลวิธีจากตัวอย่างผู้พูดที่ทำให้ผู้คนขำขัน ไม่ใช่การลอกมุกมาเล่น แต่เป็นการยืมกลวิธีมาใช้ รวมถึงสังเกตผลและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
เขียนโดย Phoothit Arunphoon
Sources: https://bit.ly/3ZhGyRj
หนังสือ ‘TALK LIKE TED: The 9 Public-Speaking Secrets of the World’s Top Minds’ เขียนโดย คาร์ไมน์ แกลโล (Carmine Gallo) แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ สำนักพิมพ์ bookscape