จากผลการจัดอันดับบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลก ปี 2022 โดยเอธิสเฟียร์ (Ethisphere) บริษัทชื่อดังด้านการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม และยกระดับการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เผยว่า นอกจากซีพี (CP) ที่ติดโพล 1 ใน 136 บริษัทแล้ว ก็ยังมี ‘สตาร์บัคส์ (Starbucks)’ ร้านกาแฟสุดฮิตที่เป็น Third Place ของทั้งนักเรียน นักศึกษา และคนทำงานหลายคนด้วยเช่นกัน ซึ่งในปีนี้ก็เป็นการจัดอันดับครั้งที่ 16 แล้ว โดยที่ผ่านมาสตาร์บัคส์ครองแชมป์ยาวนานมากถึง 14 สมัยเลยทีเดียว
แล้วอะไรคือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สตาร์บัคส์ไปได้ไกลจนขึ้นแท่นรับมงบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกได้หลายปีซ้อนขนาดนี้ วันนี้ Future Trends จะมาเล่าให้ฟังกัน
ต้องบอกก่อนว่า เกณฑ์การจัดอันดับด้านบนนี้อิงมาจากการประเมินมาจากวัฒนธรรม สังคม กิจกรรมด้านจริยธรรม การปฏิบัติตามธรรมาภิบาล ความหลากหลาย ความเสมอภาค หรือแม้กระทั่งประเด็นยอดนิยมอย่าง ‘การปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม’ ก็ด้วย
หากใครเป็นมิตรรักแฟนคลับร้านกาแฟเงือกเขียวแห่งนี้ จะทราบเป็นอย่างดีว่า สตาร์บัคส์มีนโยบาย และแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมปล่อยมาเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น แผนล่าสุดเกี่ยวกับการลดขยะผ่าน ‘แก้วรียูส (Reusable Cup)’ ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
ถึงแม้แก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่มีตราสัญลักษณ์ของร้านอยู่ด้านข้างจะส่งผลทางบวกต่อการตลาดเป็นอย่างมาก เพราะหากลูกค้าซื้อกลับบ้านแล้วดื่มไปด้วยระหว่างทางก็จะเป็นการโฆษณาแบบเนียนๆ ไปในตัว อีกทั้งยังส่งเสริม ตอบสนองของลูกค้าบางรายที่มองว่า การถือแก้วสตาร์บัคส์ช่วยให้ดูดี มีสไตล์ขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้ามาไล่เรียงกันแล้ว จะพบว่า หลายครั้งแก้วพวกนี้ก็มักมีจุดจบที่หลุมฝังกลบ ต้องใช้เวลาย่อยสลายหลายปี และในบางกรณีก็ก่อให้เกิดผลกระทบ มลพิษต่างๆ ซึ่งก็ ‘ขัดกับจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อม’ ที่หมายมั่นปั้นมือเอาไว้
ล่าสุดสตาร์บัคส์ได้ตั้งเป้าว่า จะโบกมือลาการเสิร์ฟเครื่องดื่มด้วยแก้วพลาสติก และแก้วกระดาษที่เป็นบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2025 โดยวางแผนจะ ‘นำแก้วรียูสเข้ามาทดแทน’ ตามแผนการลดขยะที่เป็นต้นตอสำคัญของสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำจุดยืนการมุ่งเป้าไปที่ ‘การให้มากกว่าที่เราได้รับจากโลกใบนี้’
ตอนนี้ ในฝั่งบ้านเรา บางคนอาจจะนึกถึงแก้วรียูสสีใส ทั้งร้อน และเย็น ขนาด 16 ออนซ์ ที่วางขายราคา 150 บาทใช่ไหม? หรือไม่ก็คงจะเป็นแก้วสตาร์บัคส์ที่มีลวดลายกับสีสวยๆ แต่ถ้าเป็นในต่างประเทศ แก้วรียูสที่ว่าเนี่ยก็เป็นอีกแบบหนึ่งเลยค่ะ
Borrow A Cup Program หรือโปรแกรมยืมแก้ว คือนโยบายที่สตาร์บัคส์บางสาขาในต่างประเทศเริ่มนำร่องใช้มาสักพักใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ซึ่งก็แก้จุดเจ็บปวด (Pain point) ตอบโจทย์เรื่องความสะดวก แต่อยากรักษ์โลกได้เป็นอย่างดี
จากผลสำรวจของฮับบับ (Hubbub) บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และการศึกษาด้านพฤติกรรม ชี้ให้เห็นว่า 36 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ไม่ใช้แก้วรียูสมีสาเหตุมาจากความไม่สะดวกในการพกพาไปที่ต่างๆ ด้วย สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า แม้จะมีคนถึง 69 เปอร์เซ็นต์มีในครอบครอง แต่ก็มีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่นำมาใช้ทุกครั้ง
โปรแกรมยืมแก้วนี้เป็นบริการที่ให้ลูกค้าวางเงินมัดจำแก้วรียูสที่ใช้ใส่เครื่องดื่มเอาไว้ เมื่อดื่มภายในร้านเสร็จ หากนำแก้วมาคืน ทางร้านก็จะจ่ายเงินมัดจำคืนให้ พร้อมกับคะแนนสะสม ส่วนลด หรือโปรโมชันพิเศษในครั้งถัดไป เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงขอบคุณตอบแทนลูกค้าที่ช่วยสตาร์บัคส์ปกป้องสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
ส่วนหน้าที่ในการล้างก็จะมีบริษัทอื่นที่เข้ามาดูแล ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ ช่วยตัดภาระงานที่ไม่จำเป็นของบาริสต้า และพนักงานออกไป ทำให้คงมาตรฐานความเร็วของการบริการได้อย่างดีเยี่ยม
อย่างไรก็ตาม Borrow A Cup Program ไม่ใช่แค่เพียงการตอบโจทย์ลูกค้า สร้างความจงรักภักดี (Brand Loyalty) เท่านั้น แต่ยังเป็นการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly) ช่วยลดปริมาณขยะของโลกตามแนวคิดมาแรงอย่าง ESG ที่เป็น ‘การเรียกร้องจุดยืนทางสังคมจากการทำธุรกิจ’ ทำให้ลูกค้ารู้สึกดีเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อโลกทุกครั้งของการจิบอีกด้วย ซึ่งก็ไม่แน่ว่า เร็วๆ นี้อาจจะมีการนำร่องโปรแกรมดีๆ แบบนี้เข้ามาสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในไทย เรียกกระแสตอบรับจากคนจำนวนมากก็เป็นได้…
Sources: https://bit.ly/3jW6eAn