จริงๆ แล้ว การทำงานก็ไม่ต่างอะไรจากการเรียนที่ต้องใช้ความตั้งใจทำมันออกมาให้ดีที่สุด ในช่วงแรก เราอาจสนุก ตื่นเต้น อยากตื่นขึ้นไปทำงานทุกวัน คล้ายกับ ‘เฟรชชี่’ ที่เข้าไปเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยใหม่ๆ
แต่พอเวลาผ่านไป เมื่อย่างก้าวสู่ขวบปีที่สอง ความรู้สึกก็แปรเปลี่ยนไป จากไฟที่ลุกโชติช่วงก็มอดไม่เหลือซาก จากความสนุกกลายเป็นความเบื่อหน่าย แถมบางครั้งก็พาลให้รู้สึกแย่กับตัวเองด้วย เราเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า ‘Sophomore Slump’ หรือภาวะตกต่ำของมนุษย์ออฟฟิศ
ถ้าการลาออกไม่ใช่คำตอบที่ใช่ เราจะจัดการภาวะ Sophomore Slump หรือขวบปีที่สองของความตกต่ำนี้อย่างไร? Future Trends จะพาไปหาทางออกกัน
มองให้เป็น ‘การวิ่งมาราธอน’ ไม่ใช่วิ่งสปรินต์
การวิ่งสปรินต์คือ การวิ่งเร็วระยะสั้นที่เป็นหนึ่งในกีฬาโอลิมปิกยอดฮิต แต่ในความเป็นจริง หากนำแนวคิดการวิ่งดังกล่าวมาใช้กับการทำงานด้วยการใส่แรงที่มีสุดกำลังในช่วงแรกก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเท่าไรนัก
จีน-นิโคลัส รีต (Jean-Nicolas Reyt) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรแห่งมหาวิทยาลัยแม็คกิลล์ (McGill University) พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในตอนแรกที่เริ่มทำสิ่งใหม่ ผู้คนมักจัดสรรเวลา และความสนใจให้กับเรื่องนั้นเป็นพิเศษ เพราะหวังว่าจะทำมันออกมาได้ดี แต่หลายครั้งนี่ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน แท้จริงแล้ว มันคือการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งสปรินต์”
แม้การใส่เกียร์เดินหน้าเต็มที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราหมดแรงเร็วด้วย ฉะนั้น เราควรใช้แนวคิดการวิ่งมาราธอนกับการทำงาน เพราะจะช่วยให้ไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป และมีแรงพอจะก้าวเดินไปสู่หมุดหมายนั้นๆ ได้สำเร็จ
นอกจากนี้ แซลลี เมตลิส (Sally Maitlis) ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร และความเป็นผู้นำแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ยังเสริมว่า ไม่ใช่แค่เด็กจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงานแรก หรือ First-jobber แต่คนที่ทำงานมานานแล้วก็ตกเป็นเหยื่อของ Sophomore Slump ได้ คนเหล่านี้มักมาพร้อมความเชื่อมั่นในตัวเอง เมื่อเผชิญกับภาวะนี้ก็เลยเกิดความสงสัยในตัวเอง (Self-doubt) ขึ้น
ปรับบาร์ความคาดหวัง
ไม่ต้องกดดันตัวเองหรือตั้งบาร์ความคาดหวังเอาไว้สูงปรี๊ด ลองปรับมุมมองใหม่ว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบไปหมด และถึงจะเป็นงานในฝัน แต่ก็อาจมีส่วนที่น่าพอใจน้อยบ้างเป็นธรรมดาของชีวิต
เอียน วิลเลียมสัน (Ian Williamson) คณบดีโรงเรียนธุรกิจพอลเมอเรจ (Paul Merage School of Business) อธิบายว่า “การเริ่มต้นงานใหม่ด้วยความคาดหวังว่า การเปลี่ยนแปลงมาพร้อมกับความไม่สบายใจจะช่วยให้คนทำงานโฟกัสไปยังสิ่งที่ต้องการ และหลีกเลี่ยงการติดหล่มภาวะตกต่ำ”
แซลลียังแนะนำว่า ถ้ารู้สึกว่าตัวเองกำลังดิ่ง ให้แชร์เรื่องนี้กับใครสักคน ทางที่ดีไม่ใช่แค่กับเพื่อนในตอนเย็น แต่ควรคุยกับหัวหน้าหรือคนในบริษัท เพื่อบอกให้พวกเขารู้ว่า เรากำลังเจอกับปัญหาอะไร
เปลี่ยน ‘งานครับ’ ให้เป็น ‘งานคราฟต์’
เมื่อรู้สึกแย่กับตัวเอง เราอาจทำงานแบบ Bare minimum หรือเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงานด้วยการทำให้จบไปวันๆ แต่แทนที่จะคิดแบบนี้ ให้ปรับมุมมองใหม่ด้วยการคราฟต์งานให้อยากตื่นขึ้นมาทำในทุกๆ วัน
อย่างเช่น พนักงานรับจัดงานศพที่อาจเปลี่ยนมุมมองจากการทำงานแลกเงินเพียงอย่างเดียวเป็นการคิดว่า เราจะช่วยลูกค้าและครอบครัวให้ผ่านคืนวันแย่ๆ ให้เร็วที่สุดอย่างไร หรือพนักงานร้านรับจัดงานแต่งงานที่อาจเปลี่ยนเป็นการคิดว่า เราจะช่วยให้ลูกค้ามีโมเมนต์ที่ดีที่สุดที่มีแค่ครั้งเดียวในชีวิตได้อย่างไร
Sophomore Slump ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกช่วงชีวิต ไม่ใช่แค่มนุษย์ออฟฟิศ แต่ยังรวมถึงวัยเรียนด้วย เอาเป็นว่า ใจดีกับตัวเองให้มากๆ ถ้าไม่ไหวก็ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องรีบมี รีบเป็นให้ได้ภายในอายุ…ปี ล้มเหลวบ้าง แตกสลายบ้างก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลยนิหน่า 🙂
Source: https://bbc.in/3KrWxYW