เราก็พอจะทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการแล้วว่า ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล หรือเจ้าของฉายา ‘สัมรักพ่อ’ และ ‘พ่อรักส้ม’ ได้กลายเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปที่มีอายุน้อยที่สุดของไทยในรอบ 70 ปี
ประกอบกับจากกระแสตอบรับอย่างล้นหลามบนโซเชียลมีเดียที่กำลังมาแรงอย่างติ๊กต็อก (TikTok) ทำให้พอจะอนุมานได้ว่า ติ๊กต็อกถือเป็นอีกท่าไม้ตายสำคัญของพรรคก้าวไกลในครั้งนี้เอง
ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ทรงอิทธิพลกับมนุษย์เป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงจะช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ในเสี้ยววินาที ส่งผลต่อรูปแบบความคิด ความเชื่อในการใช้ชีวิต ช่วยเข้าถึงการศึกษา และความสะดวกสบายได้เพียงปลายนิ้วสัมผัสเท่านั้น แต่ในอีกมิติ มันก็ยังเป็น ‘สมรภูมิรบสำคัญ’ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับหน้าประวัติศาสตร์ของหลายๆ ประเทศมานักต่อนัก
แล้วเรื่องนี้เป็นมาอย่างไร โซเชียลมีเดียทรงพลังขนาดนั้นจริงรึเปล่า? บทความนี้ Future Trends จะพาไปย้อนรอยดูความสำเร็จที่ผ่านมากัน
TikTok คือ ‘Google’ ของคนเจน Z
ถึงกูเกิล (Google) จะเป็นเสิร์ชเอนจิน (Search Engine) ยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดมานาน แต่ผลสำรวจของมอร์นิ่งคอนซัลต์ (Morning Consult) ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันติ๊กต็อก และอินสตาแกรม (Instagram) ถือเป็นแหล่งค้นหาข้อมูลยอดนิยมของคนเจน Z
รวมไปถึงอัตราการเติบโตของผู้ใช้งานที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และภาพจำของติ๊กต็อกที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่มีแค่การร้อง เต้น เพียงอย่างเดียว แต่เป็นแพลตฟอร์มที่มีคอนเทนต์ที่สนุก มีความตลกขบขัน เต็มไปด้วยสาระความรู้ และรูปแบบการนำเสนอสั้นๆ ที่เหมาะกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ นี่จึงทำให้ติ๊กต็อกเป็นน่านน้ำสำคัญของแบรนด์ต่างๆ และพรรคก้าวไกลไปโดยปริยาย
อีกทั้งตลอดระยะเวลาการหาเสียงที่ผ่านมา ทางพรรคเองก็ได้มีการปล่อยคอนเทนต์แนวตั้งเกี่ยวกับการหาเสียงอย่างสม่ำเสมอ แน่นอนว่า ความเสมอต้นเสมอปลายตรงนี้เลยทำให้ก้าวไกลชนะใจติ๊กต็อกเกอร์ (TikToker) เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิด ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ ขึ้นในที่สุด
‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ กับการมาของ TikTok
หัวคะแนนธรรมชาติ หมายถึง กลุ่มคนที่ชื่นชอบในตัวพรรคการเมืองนั้นๆ ผ่านการช่วยกันหาเสียงกันแบบปากต่อปาก ทำให้ทางพรรคได้ Earned Media ในการหาเสียงไปเต็มๆ โดยไม่ต้องควักเงินแม้แต่บาทเดียว ในที่นี้คือ จากการเลือกตั้งที่เพิ่งจบไป หัวคะแนนธรรมชาติที่ชื่นชอบพรรคก้าวไกลก็ได้ช่วยพรรคหาเสียงแบบปากต่อปากผ่านการสร้างสรรค์คอนเทนต์แนวตั้ง
ไม่ว่าจะเป็นการร้องหรือเต้นเพลงใครจะเลือกลุงตู่ก็เลือกไป ผมเลือกก้าวไกล สู้ๆ นะลุงตู่ การเล่นฟิลเตอร์โทนสีส้มที่สร้างขึ้นมาเอง การสัมภาษณ์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ การสร้างคอนเทนต์ใน #กลิ่นของความเจริญ #ส้มรักพ่อ #พ่อรักส้ม การสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับสีส้ม โลโก้พรรค เช่น การระบายสีส้ม การสักลายที่มีลักษณะคล้ายโลโก้พรรคบนร่างกาย หรือแม้กระทั่งการพร้อมใจกันสร้างคอนเทนต์รวมสิ่งต่างๆ โดยใช้เลข 31 (หมายเลข ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล) อย่างมีนัยสำคัญก็ด้วย
สอดคล้องกับผลโพลมติชนxเดลินิวส์ เลือกตั้ง’66 จำแนกตาม Generation เลือก “นายกฯที่ใช่-พรรคที่ชอบ” วิเคราะห์โดยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เผยว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกอันดับ 1 ของคนเจน Z ที่มีอายุ 18-25 ปี โดยคิดเป็น 54.59 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ แพทองธาร ชินวัตร คิดเป็น 27.84 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐา ทวีสิน และประยุทธ์ จันทร์โอชาตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตามความเป็นจริงจะพบว่า ต่อให้พลังคนเจน Z จะล้นเหลือมากแค่ไหน แต่แท้จริงแล้ว ก็ยังเป็นคนกลุ่มน้อย โดยข้อมูลจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแต่ละเจนระบุว่า เมื่อเทียบกับเจนอื่น จำนวนเจน Z ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงชิ้นเค้กก้อนเล็กเท่านั้น คิดเป็น 1,093,722 คน ในขณะที่เจน Y อยู่ที่ 17,983,355 คน เจน X อยู่ที่ 20,882,235 คน เจน Baby Boomer อยู่ที่ 9,326,314 คน และเจน Before Baby Boomer อยู่ที่ 2,956,182 คน
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงที่สุดแล้ว คนเจน Z ก็เป็นตัวแปรสำคัญในสมรภูมินี้อยู่ดี เนื่องจาก พวกเขาเป็นคนอีกกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อของคนในครอบครัวที่อยู่ในกลุ่มเจน X ซึ่งเป็นชิ้นเค้กก้อนใหญ่อยู่ไม่น้อย อีกทั้งก็ยังเป็นแรงขับเคลื่อนในการตีแผ่นโยบายของพรรคไปสู่วงกว้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่งด้วย
แน่นอนว่า พอพื้นที่สื่อจำนวนมากผสมโรงกับจุดเด่น และจุดยืนที่ชัดเจน จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมก้าวไกลถึงทำแลนสไลด์ได้ในหลายๆ จังหวัด และสร้างปรากฏการณ์ ‘ส้มทั้งแผ่นดิน’ ทำให้หลายๆ คนเลือกสวมใส่ชุดสีส้ม ถ่ายสตอรี่ หรือสิ่งต่างๆ ที่มีสีส้ม เพื่อสื่อถึงนัยของการเลือกก้าวไกลเข้าไปรับใช้ประชาชนในสภานั่นเอง
อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งใช้ ‘Facebook’ สู้กับ Trump
หากย้อนรอยไปยังเหตุการณ์สำคัญก่อนหน้า จะพบว่า นี่ไม่ใช่ความทรงพลังครั้งแรกของโซเชียลมีเดียที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจนต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แต่อย่างใด แต่หลายปีก่อนในสหรัฐอเมริกาก็เคยเกิดเคสทำนองนี้เช่นกัน
เมื่อครั้งที่ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีแข่งกับโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) สื่อต่างประเทศรายงานว่า ตอนนั้นทั้งคู่ต่างก็ทุ่มเม็ดเงินไปกับค่าโฆษณาบนเฟซบุ๊ก (Facebook) มากถึง 81 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว และตัวเธอเองก็ได้มีการออกมาเคลื่อนไหวผ่านแฟนเพจส่วนตัวด้วย
‘Twitter’ อาวุธสำคัญการลุกฮือใน Arab Spring
แต่นอกเหนือจากติ๊กต็อก และเฟซบุ๊กที่สร้างความเปลี่ยนแปลงบนสมรภูมิรบการเลือกตั้งแล้ว โซเชียลมีเดียก็เป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้เพื่อปากท้องของคนในอีกซีกโลกอย่างเหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) ด้วย
ซึ่ง ณ ขณะนั้น ผู้คนก็ได้ออกมาเรียกร้อง และต่อต้านเผด็จการกันเป็นจำนวนมาก ทั้งบนโลกออฟไลน์ และออนไลน์ นั่นก็คือทวิตเตอร์ (Twitter) แถมเหตุการณ์ดังกล่าวก็สาหัสจนถึงขั้นที่กฎเกณฑ์ในประเทศต่างๆ บีบให้ทวิตเตอร์ต้องทำระบบเซ็นเซอร์ในการกรองบางทวีต แม้ลึกๆ แล้ว จะไม่ได้ยินยอมพร้อมใจไปซะหมดก็ตาม
เราอยู่ในโลกที่หมุนเร็ว เทคโนโลยีไม่ได้ Disrupt แค่คนทำงาน และธุรกิจ แต่ล่าสุดได้เข้ามา Disrupt การเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยุคนี้โฆษณาชวนเชื่อแบบเดิมๆ (Propaganda) ไม่อาจใช้ได้ผลอีกต่อไป และผู้ชมไม่ใช่ Passive Audience ที่รับอะไรมาก็เชื่อหมดตามแบบฉบับทฤษฎีเข็มฉีดยา (Hypodemic Needle Theory) อีกแล้ว แต่ได้กลายเป็นทั้งผู้รับสาร และผู้ส่งสารในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ ผลการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 2566 กว่า 75.14 เปอร์เซ็นต์ หรือ 39,250,389 คน จากทั้งหมด 52,250,389 คน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 22 ปี ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ‘วันนี้หลายๆ คนต้องการสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง และประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม’ อย่างแท้จริง…
Sources: https://bit.ly/3M7kaFn