อย่างที่รู้ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Quotient หรือ Emotional Intelligence) เป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็นผู้นำที่ดี ประกอบด้วยการเข้าใจตนเอง ควบคุมตนเอง เข้าใจผู้อื่น มีแรงจูงใจที่ดี และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น (ดูเรื่อง “ความฉลาดทางอารมณ์ 5 ข้อ ‘ผู้นำที่ดีต้องมี’ เพื่อการทำงานเป็นทีมบรรลุผลสำเร็จ” เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3kAzOPK)
ความฉลาดทางอารมณ์ดังกล่าวจะส่งให้อารมณ์ดี ยิ้มแย้ม แจ่มใส เป็นอารมณ์เชิงบวก ซึ่งอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะของผู้นำ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น แต่ส่งผลไปยังส่วนอื่นๆ ในองค์กรอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน
ผลประกอบการขึ้นอยู่กับ EQ
จากการศึกษาและรวบรวมงานวิจัยของ แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) มหาวิทยาลัยรัตเจอร์ (Rutger University), ริชาร์ด โบยาตซิส (Richard Boyatzis) มหาวิทยาลัยเคสเวสเทิร์นรีเซิร์ฟ (Case Western Reserve University) และ แอนนี แมคคี (Annie McKee) มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (University of Pennsylvania) พบว่า “อารมณ์ของผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลประกอบการธุรกิจ” โดยอิทธิพลของ Emotional Style หรือรูปแบบทางอารมณ์ของผู้นำ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า “ความฉลาดทางอารมณ์ของผู้นำเป็นตัวสร้างบรรยากาศในการทำงาน” เช่น ผู้นำที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงจะสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการแบ่งปัน ไว้วางใจ พร้อมรับความเสี่ยง และการเรียนรู้
ขณะที่งานวิจัยของ Hay Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการระดับโลก ชี้ให้เห็นว่า อารมณ์ของผู้นำเป็นสิ่งที่แพร่กระจายทั่วองค์กรได้รวดเร็ว โดยส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของคนในองค์กรผ่านกระบวนการ mood contagion หรือการแพร่ติดต่อทางอารมณ์ เช่น ผู้นำที่ยิ้มแย้มและเต็มไปด้วยแรงจูงใจที่ดีจะส่งผลให้พนักงานมีทัศนคติเชิงบวกพร้อมฝ่าฟันกับงานที่ยากได้ดีขึ้น เป็นต้น นั่นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้นำต้องพิจารณาให้ดีว่า ความเป็นผู้นำของตนจะมีผลขับเคลื่อนอารมณ์และพฤติกรรมขององค์กรอย่างไร
บรรยากาศที่มีชีวิตชีวาส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพด้านจิตใจ ผู้คนสามารถรับและเข้าใจข้อมูลได้ดีขึ้น และตัดสินใจในสิ่งที่ยุ่งยากได้ดี รวมถึงยืดหยุ่นในความคิดมากขึ้นอีกด้วย
อลิซ ไอเซน (Alice Isen) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ศึกษาพบว่า ผลทางอารมณ์ของผู้นำที่ทำให้คนในองค์กรมีความคิดเชิงบวกมากขึ้น ได้ส่งผลด้านการเงินโดยตรงอีกด้วย ผลการศึกษาของ มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) และ ปีเตอร์ ชูลแมน (Schulman) จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ชี้ให้เห็นว่า นายหน้าขายประกันที่มีแนวคิดเชิงบวกว่า “น้ำเหลืออีกตั้งครึ่งแก้ว” จะสามารถยืนหยัดรับมือการถูกปฏิเสธได้ดีกว่านายหน้าที่คิดแง่ลบว่า “น้ำหมดไปตั้งครึ่งแก้ว” และส่งผลให้ปิดการขายได้มากกว่าในท้ายที่สุด
หัวเราะสร้างอารมณ์ร่วมได้ง่ายกว่า
การแพร่ติดต่อทางอารมณ์เป็นปรากฏการณ์ทางประสาทวิทยา แต่อารมณ์แต่ละรูปแบบมีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายไม่เท่ากัน ผลการศึกษาของ ไซเกล บาร์ซาด (Sigal Barsade) จากสถาบันพัฒนาผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ทำให้เราเห็นว่า ในกลุ่มคนทำงานนั้น ความร่าเริงและเสียงหัวเราะเป็นอารมณ์ที่แพร่ติดต่อได้ง่ายที่สุด ขณะที่ความรู้สึกหงุดหงิดกลับแพร่ไม่ง่ายนัก ส่วนอารมณ์หดหู่แพร่ได้ยากที่สุด
การที่ได้ยินเสียงหัวเราะแล้วอยากหัวเราะตามหรือยิ้มไปด้วย เพราะวงจรเปิดของส่วนสมองมนุษย์ถูกออกแบบมาให้ตรวจจับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ส่งผลให้อยากตอบสนองในแบบเดียวกัน เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความเป็นมิตรระหว่างกัน
อารมณ์ติดต่อจากบนลงล่าง
การศึกษาของ แคโรไลน์ บาร์เทล (Caroline Bartel) จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) และ ริชาร์ด ซาเวดรา (Richard Saavedra) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) พบว่า ในกลุ่มคนทำงานที่ทำการศึกษากว่า 70 กลุ่ม จากหลากหลายวงการที่เข้าประชุมร่วมกัน จะถ่ายทอดอารมณ์ทั้งดีและไม่ดีระหว่างกันภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งอารมณ์ของพวกเขาจะไปในทิศทางเดียวกัน และยังพบอีกว่า อารมณ์มักส่งผลจากบนลงล่าง หมายถึงอารมณ์ของผู้บริหารหรือหัวหน้าจะเป็นตัวกำหนดอารมณ์ภาพรวมของคนในองค์กร มากกว่าอารมณ์ของคนที่ตำแหน่งต่ำไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า
อย่างไรก็ตาม ผู้นำอาจมีช่วงเวลาที่ย่ำแย่จนส่งผลกระทบต่ออารมณ์เป็นลบได้เช่นกัน แต่ข่าวดีก็คือ อารมณ์ด้านบวกแพร่กระจายง่ายกว่าด้านลบ ถึงกระนั้นไม่ว่าอารมณ์จะไม่ดีเพียงใด ผู้นำที่ดีจะต้องไตร่ตรองในผลของอารมณ์และพฤติกรรมของตนให้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำก่อนจะรับผิดชอบด้านอื่นๆ ในองค์กร ไม่เช่นนั้น วันแย่ๆ ในชีวิตส่วนตัว อาจกลายเป็นวันแย่ๆ ของคนในองค์กรไปด้วย เช่นเดียวกัน วันดีๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร เป็นสิ่งที่ผู้นำสามารถสร้างได้ด้วยการเริ่มต้นใช้ความฉลาดทางอารมณ์ และรอยยิ้มของคุณ
เขียนโดย Phoothit Arunphoon
Source: หนังสือ ‘Best of HBR on Leadership : Emotionally Intelligent Leadership’ (ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ฉลาดใช้ EQ) เขียนโดย Daniel Goleman, Richard Boyatzis และ Annie McKee แปลโดย ธนิกานต์ มาฆะศิรานนท์ และนรินทร์ องค์อินทรี สำนักพิมพ์ Expernet