ส่วนใหญ่เวลาพนักงานลาออก สาเหตุที่แท้จริงมักเป็นเพราะเจ้านาย ไม่ใช่บริษัท หรือไปทำธุระส่วนตัว คุณว่าจริงไหม?
แต่ที่หนักไปกว่านั้นคือ บางคนยอมลาออกทั้งที่ยังไม่ได้งานใหม่ด้วยซ้ำ แบบว่ายังไงก็ขอเดินออกจากจุดนี้ก่อน ยอมไปตายเอาดาบหน้าแทน
ผลสำรวจของแมคคินซีย์ (McKinsey) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกเผยว่า สาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้คนลาออกมากที่สุดเกิดจากการ ‘มีผู้นำที่ไม่สนใจ และไม่ห่วงใยทีม’ อีกทั้งเรื่องนี้ยังติด 1 ใน 10 สาเหตุที่ทำให้พนักงานที่ลาออกไปแล้วกลับมาใหม่อีกครั้งหรือที่เรียกว่า ‘พนักงานแบบบูมเมอแรง’ ด้วย
ซึ่งหากมองในแง่ความสุขแล้ว ก็สะท้อนให้เห็นว่า การที่พวกเขาเลือกกลับมานั่นแปลว่า ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ก็ไม่สุขใจเท่าที่นี่ เช่นกัน หากมันไม่สุขอย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป พวกเขาก็พร้อมเดินออกจากประตูบานนี้ทุกเมื่อ
ดังนั้น เรื่องผู้นำจึงสำคัญมาก เพราะบางทีก็อาจเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายเลยว่า พนักงานจะอยู่ทนหรือไม่ทน
ว่ากันตามตรง ผู้นำแย่ๆ ที่พนักงานต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ออก อย่างนี้ต้องลาออก!” ก็มีหลายประเภท ทั้งที่นำทีมไม่เป็น ไม่มีเป้าหมาย ไม่เข้มงาน ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง พูดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง รวมไปถึงผู้นำหัวจะปวดแบบสายพันธุ์ ‘นกนางนวล’ ก็ด้วย
แล้วผู้นำยอดแย่สายพันธุ์ ‘นกนางนวล’ หรือ Seagull Manager ที่ใครๆ ก็ร้องยี้ คืออะไร มีพฤติกรรมยังไงบ้าง และเรากำลังเข้าข่ายอยู่รึเปล่า? ในบทความนี้ Future Trends จะมาเล่าให้ฟังกัน
Seagull Manager คืออะไร?
นกนางนวล สัตว์ที่เรามักพบเวลามันบินหรือลอยในน้ำรวมตัวกันเป็นฝูง ตามปกติ นกนางนวลมักจะหาอาหารโดยการโฉบสัตว์เล็กหรือเศษอาหารต่างๆ บ่อยครั้งที่มันไม่ได้หากินด้วยตัวเอง แต่เป็นการแย่งชิงอาหารจากนกชนิดอื่น ความฉลาด และนิสัยเหล่านี้จึงทำให้มันประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกมากกว่าใคร ได้ชื่อว่า ‘เป็นนักฉวยโอกาสแห่งน่านฟ้า และน่านน้ำ’ ซึ่งก็เปรียบได้กับพฤติกรรมของผู้นำยอดแย่ที่ชอบฉวยโอกาส ปกติชอบหายตัว จะมาก็ต่อเมื่อมีปัญหา ป่าวประกาศเวลาที่ทำบางอย่าง ทิ้งความรู้สึกไม่ดีเอาไว้ และเดินจากไปนั่นเอง
4 พฤติกรรมสุดยี้ของ Seagull Manager
สัญญาณที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้นำยอดแย่สายพันธุ์ ‘นกนางนวล’ มี 4 พฤติกรรมหลักด้วยกัน มาลองสำรวจตัวเองคร่าวๆ กันว่า เรากำลังเข้าข่ายอยู่หรือไม่?
1. บินมา ‘เมื่อเกิดปัญหา’
ตามปกติ ผู้นำประเภทนี้มักจะหายตัว และไม่ช่วยเหลือทีมเท่าที่ควร โดยจะปรากฏตัวอีกทีก็ต่อเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ไม่ได้เป็นคนที่อยู่เผชิญกับเรื่องนั้นมาตั้งแต่ต้น
2. ส่งเสียง ‘เพื่อเอาหน้า’
อย่างที่บอกไปว่า ปรากฏตัวเมื่อเกิดปัญหา แต่นั่นยังไม่พอ เพราะพวกเขายังส่งเสียงดัง ป่าวประกาศปัญหาที่กำลังแก้หรือรับผิดชอบอยู่ เพื่อให้คนรอบตัวรับรู้ว่า ตนนั้นเป็นฮีโร่ที่เข้ามาช่วยด้วย ซึ่งจากเรื่องเล็กๆ ที่ช่วยก็กลายเป็น ‘เรื่องใหญ่’ ขึ้นมาทันที
3. ทิ้ง ‘ของเสีย’ เอาไว้
ในที่นี้ ของเสียก็เหมือนกับ ‘ความรู้สึกแย่ๆ’ ผู้นำนกนางนวลมักไม่มีความฉลาดทางอารมณ์ วิพากษ์วิจารณ์งานของทีมออกไป ที่นอกจากจะไม่ช่วยให้พัฒนาขึ้นแล้ว ยังทำให้อีกฝ่ายติดลบยิ่งขึ้น แถมบางทีก็พูดในที่สาธารณะ บอกให้โลกรับรู้ไปพร้อมกันอีกต่างหาก
4. บินออกไป ‘เมื่อสร้างความวุ่นวายเสร็จ’
ถึงผู้นำประเภทนี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา แต่หากเทียบความวุ่นวายที่สร้างขึ้น ก็เป็นเพียงหยิบมือเท่านั้น และแน่นอนว่า ทันทีทุกอย่างเสร็จพวกเขาก็พร้อมจะหายตัว และบินมาอีกทีเมื่อเกิดปัญหาวนลูปข้อแรกไปเรื่อยๆ
แม้ผู้นำยอดแย่สายพันธุ์ ‘นกนางนวล’ จะไม่ได้สร้างภัยให้กับบริษัทมากเท่าผู้นำแบบ ‘ชอบหายหัว’ ทุกทีที่มีเรื่องหรือ Absentee Leader เพราะอย่างน้อยก็เข้ามาช่วยบ้างนิดหน่อย แต่หากปล่อยไว้นานๆ ก็เป็นเหมือนเนื้องอกที่อาจพัฒนาไปสู่มะเร็งร้ายลุกลามถึงแต้มชีวิตของบริษัทในที่สุด
อ่านจบแล้ว ลองกลับไปสำรวจตัวเองกันดูว่า เข้าข่ายนี้โดยไม่รู้ตัวอยู่รึเปล่า? ถ้าเข้า ก็รีบเปลี่ยนซะ! เพราะท้ายที่สุดแล้ว ราคาที่ต้องจ่ายของการเป็นผู้นำสายพันธุ์ ‘นกนางนวล’ นั้นไม่คุ้มกันหรอกนะ
Sources: https://mck.co/3xDm3UH