หมูแพงแล้วกินไก่แทนได้ไหม? ทำไมการหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่นจึงไม่ใช่ทางออกของวิกฤต

Share

ชื่อหัวข้อวันนี้น่าจะเป็นคำถามและคำตอบที่ผุดขึ้นมาในความคิดของใครหลายๆ คนหลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับราคาเนื้อหมูที่ส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับผู้บริโภค ผู้ประกอบการรายย่อยอย่างร้านอาหารตามสั่ง ไปจนถึงเจ้าของร้านอาหารขนาดกลาง บุฟเฟ่ต์ รวมถึงสายการผลิตอย่างเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเช่นเดียวกัน

ทว่า ราคาหมูที่สูงขึ้นไม่สามารถใช้วิธีแก้ปัญหาแบบผักชีโรยหน้าด้วยการเปลี่ยนไปบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่นแทนได้ เรื่องนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์ที่แสดงให้เห็นถึงความกังวลในส่วนของค่าครองชีพที่กำลังพุ่งทยานตั้งแต่ต้นปี 2565 แบบนี้ว่า โรคระบาดในหมูเลี้ยงอย่าง ‘ASF’ หรืออหิวาต์แอฟริกันจะยังไม่จบลงเร็วๆ นี้

ปัญหาตั้งแต่ต้นทางของห่วงโซ่อย่างการระงับโรคระบาด การจัดหาและผลิตวัคซีนสำหรับหมูก็ยังไม่มีความคืบหน้า จำนวนหมูที่ลดลงมากถึง 70-80% ทำให้เนื้อหมูในท้องตลาดลดลง ต้นทุนในการควบคุมดูแลป้องกันโรคระบาดในฟาร์มสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนการผลิตอื่นๆ ต้นทุนค่าขนส่งก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงตามไปด้วย เพราะอย่าลืมว่านอกจากเนื้อหมูที่ปรับราคาแล้วระดับราคาน้ำมันโลก และค่าไฟฟ้าที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตก็ปรับราคาขึ้นในเดือนนี้ (มกราคม 2565) เช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรประเมินว่า ตลอดทั้งปี 2565 เนื้อหมูจะยังคงที่ระดับราคากิโลกรัมละ 190-220 บาท มาตรการอื่นๆ ของภาครัฐทั้งการห้ามส่งออก ตรึงราคาสินค้า ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงหมู มีส่วนบรรเทาสถานการณ์ได้บ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด อาจต้องรอจนกว่าผลผลิตเนื้อหมูรอบใหม่ทยอยเข้าสู่ตลาดอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นค่าครองชีพในสัดส่วนอื่นๆ ก็จะยังปรับราคาขึ้นตามกลไกตลาด

ในช่วงเวลาที่เราต้องรอรอบการผลิตใหม่เพื่อให้กลไกราคาเนื้อหมูกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติอีกครั้ง การหันไปบริโภคเนื้อไก่ เนื้อปลา หรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ แทนจะพอทุเลาวิกฤตครั้งนี้ลงได้ไหม?

คำตอบคือ นี่ไม่ใช่การกลับไปแก้โจทย์ที่ถูกต้อง เพราะในช่วงเวลาที่ราคาเนื้อหมูยังสูงอยู่ระดับนี้ไม่ได้หมายความว่า ราคาเนื้อไก่จะคงที่ เพราะเมื่อความต้องการซื้อในตลาดเพิ่มขึ้น คนหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่นทดแทนเนื้อหมู ราคาสินค้าวัตถุดิบอาหารอื่นๆ ก็มีเกณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ช่วงนี้หากใครไปเดินจับจ่ายตามตลาดก็น่าจะพอเห็นกันบ้างแล้วว่า เนื้อไก่และราคาพืชผัก รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารอย่างน้ำมันพืชเองก็ปรับราคามากกว่า 10 บาทแล้วด้วยซ้ำไป ฉะนั้น การพูดแบบกำปั้นทุบดินว่า ถ้าหมูแพงก็ให้ไปกินอย่างอื่นจึงเป็นการพูดแบบไม่มีที่มาที่ไป และเป็นคำพูดที่ไม่มีความเข้าในระบบตลาดโดยสิ้นเชิง

กลับไปที่จุดตั้งต้นที่สำคัญที่สุดคือ จะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเนื้อหมูให้ได้เร็วที่สุด นอกจากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐแล้ว ผู้บริโภคที่ยังต้องกินต้องใช้ทุกวันยังต้องเผชิญและแบกรับกับค่าครองชีพต่อเดือนที่สูงขึ้นอีกราวๆ 10% นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของผู้เลี้ยงหมูหรือเป็นเรื่องไกลตัว แต่มันคือวิถีชีวิตของผู้คนที่อาจจะค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ จากความเพิกเฉยของภาครัฐที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการ ในฐานะผู้ถือครองทรัพยากรของประเทศโดยตรง

Sources: https://bit.ly/3xLj3Wt

https://bit.ly/3rQNJ4H