‘แพลนต์ เบส’ ไม่ตอบโจทย์คนไทย ‘อาหารแห่งอนาคต’ ไม่ใช่ความยั่งยืนของใครคนหนึ่ง

Share

‘Future Food’ หรือ ‘อาหารอนาคต’ หนึ่งในเทรนด์สำคัญของอุตสาหกรรมอาหารโลกที่กำลังเป็นที่พูดถึง เป็นแนวคิดเกี่ยวกับอาหารที่ต้องการตอบโจทย์ด้านสุขภาพ รสชาติ และความยั่งยืน ที่ต่อยอดกระบวนการผลิตอาหารให้ช่วยลดภาวะโลกร้อนพร้อมกับสร้างความยั่งยืน

อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของ BCG (โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)) ของประเทศไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN)

ตัวอย่างของ Future Food ที่หลายคนคุ้นเคย เช่น อาหารที่เรียกว่า Plant-based หรือ Plant-based Food คือ อาหารที่ทำจากพืช (ผัก ผลไม้ เห็ด ธัญพืชต่างๆ) เป็นทางเลือกของผู้ที่ต้องการลดหรืองดบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเน้นโปรตีนจากพืชแทน ทำให้มีรสชาติและสัมผัสที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง เป็นต้น

อาหารอนาคตจะอยู่ตรงไหนของอนาคต ?

Future Food ต้องตอบโจทย์ Food Equality

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Country Director Sustainable Brand Thailand กล่าวถึงอนาคตของ Future Food ไว้อย่างน่าสนใจว่า “Future Food ไม่ใช่แค่ความยั่งยืนเท่านั้น” เมื่อพูดถึงความยั่งยืน เราหมายถึงความยั่งยืนของใคร?

การกำเนิดขึ้นของ Future Food ทำเพื่อตอบว่า Food Equality มากกว่า Food Security หมายถึง การที่สร้างความมั่นคงทางอาหารไม่สำคัญเท่ากับว่า คนบนโลกมีโอกาสเข้าถึงอาหารหรือไม่ หากไม่พิจารณาตรงนี้เป็นสำคัญ ความมั่นคงจะกลายเป็นเพียงของคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้น

คนที่ทำธุรกิจอาหารและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจว่า ในทุกเป้าหมาย SDGs ไม่ว่าจะเป็นการลดความยากจนหรืออะไรก็ตาม เรื่องเกี่ยวกับอาหารเป็นพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง และเมื่อพูดถึงอาหาร ต้องพูดถึง Food System เพราะทุกอย่างจะเชื่อมโยงกันทั้งหมด

‘อนาคตของอาหาร’ ที่ไม่ใช่แค่ ‘อาหารอนาคต’

เมื่อพูดถึง ‘อนาคตของอาหาร’ ไม่ได้แปลว่า อนาคตของอาหารขึ้นอยู่กับ ‘อาหารอนาคต’ (Future Food) เท่านั้น เพราะอาหารอนาคตเป็นแค่ส่วนหนึ่งของ Food System ทั้งหมด ส่วนอาหารที่เป็น Whole foods (อาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป ไม่ขัดสี เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง เน้นการกินแบบไม่ปรุง) อาหาร Organic หรืออาหารที่ไม่ใช่ Plant Base (อาหารที่มาจากพืชอย่างน้อย 95%) ก็สำคัญไม่แพ้กัน

วันนี้ อนาคตของอาหารจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาหาร Plant Base อย่างเดียว เพราะ Ecosystem คงอยู่ไม่ได้ ฉะนั้น การเป็น Whole Food, Real Food (อาหารที่เน้นรสชาติดั้งเดิมของวัตถุดิบ ผ่านการนำวัตถุดิบมาปรุงเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้สูญเสียสารอาหาร) ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

เทรนด์ Plant Base

หากถามว่าคนไทยจะนิยมกิน Plant Base หรือไม่ ตอบเลยว่า “ยาก” เพราะไทยยังอุดมสมบูรณ์ ถ้าเราไม่รักษาความเป็นอาหารตามเดิม แล้วหันมาที่ Plant Base ความเห็นส่วนตัวของ ดร.ศิริกุล คือ เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ตลาดของ Plant Base เป็นตลาดอยู่ในที่ที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์มากนัก ฉะนั้น ตลาดของ Plant Base ในประเทศไทยอาจเหมาะกับการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า

เดิมที Plant Base ทำขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน หรือการเข้าถึงโปรตีนได้ยาก เพราะอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์มีราคาแพง ซึ่งเนื้อเป็นปัจจัยในการสร้างภาวะโลกร้อน แต่กระนั้น การทำ Plant Base ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็สร้างปัญหาโลกร้อนได้เช่นกัน

Future Food คือ ‘อาหารสำหรับอนาคต’ ไม่ใช่แค่ ‘อาหารอนาคต’

ฉะนั้น Food Solution ต้องพิจารณาเชิงลึกด้วย คำว่า Future Food ต้องแปลให้ลึกซึ้งว่า กำลังพูดถึง ‘อาหารสำหรับอนาคต’ ไม่ได้แปลว่าเป็น ‘อาหารอนาคต’ อย่างเดียว ซึ่งอาหารในอนาคตต่อไปอาจกลายเป็นรูปแบบแคปซูลหรืออะไรก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่า เป็นแค่เศษเสี้ยวของ Food System ทั้งหมดเท่านั้น

“บางครั้งเราอาจลืมเกษตรกรที่ทำอาหารอย่างที่เรียกว่าเป็น Real Food ทุกคนต้องกลับมาใส่ใจและให้ความสำคัญ เพราะเกษตรกรเป็นพื้นฐานการสร้างอาหารที่แท้จริง และย้ำว่า Future Food ต้องมีคนส่วนใหญ่ของโลกเป็นศูนย์กลาง ต้องพยายามตอบเรื่องของ Food Equality ให้มากพอๆ กับ Food Security” ดร.ศิริกุล กล่าวทิ้งท้าย

โดยสรุปคือ อาหารอนาคตต้องให้ความสำคัญกับระบบอาหารหรือ Food System ที่ยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงอาหารของผู้คนให้ทั่วถึงและเท่าเทียม (Food Equality) ไม่ใช่นวัตกรรมของอาหารเท่านั้น แต่หมายถึงทุกรูปแบบ รวมถึงเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารตั้งต้นที่สำคัญด้วย

ทั้งหมดนี้ เป็นเนื้อหาที่ ดร.ศิริกุล บรรยายในงาน ‘Where is the Future Food’ ที่จัดโดย Taste Bud องค์กรศูนย์กลางความร่วมมือของห่วงโซ่อาหาร โดยส่งเสริมเกษตรกร นักวิจัย ผู้ประกอบการ ภาครัฐและเอกชน ให้พร้อมเข้าสู่ตลาด Future Food เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/3x76frS

เขียนโดย Phoothit Arunphoon