“มีอาการแพ้ยาตัวไหนไหม?”
คำถามที่เราในฐานะผู้ป่วยต้องโดนถามทุกครั้งเวลาที่ไปโรงพยาบาล ทั้งจากพยาบาลที่ซักประวัติหน้าห้องตรวจ และแพทย์ที่รักษาอาการของเรา แต่ผู้ป่วยบางรายก็ไม่รู้ว่า จริงๆ แล้ว ตัวเองแพ้ยาอะไรอยู่หรือเปล่า จึงจำเป็นต้องตอบไปก่อนว่า “ไม่แพ้ค่ะ” หรือ “ไม่น่ามีนะครับ” โดยคำตอบที่ตอบไปวันนั้น อาจจะนำอันตรายมาให้ตัวผู้ป่วยเองอย่างไม่รู้ตัว
การแพ้ยา ทำให้ผู้ป่วยหลายๆ คน ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการแพ้ที่มีระดับความรุนแรงไม่สูงมาก อย่างมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย หรือมีอาการบวมตามอวัยวะต่างๆ ไปจนถึงอาการแพ้ที่มีระดับความรุนแรงสูง อย่างความดันต่ำ หยุดหายใจ และเสียชีวิต
ทั้งนี้ หากจะกล่าวว่า การแพ้ยาคือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในการรับการรักษาก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาที่ใช้ในการรักษาโรคที่ตนเองเป็นอยู่โดยเฉพาะ ก็จะทำให้แพทย์ไม่สามารถจ่ายยาชนิดนั้นให้กับผู้ป่วยได้ และต้องเลือกจ่ายยาชนิดอื่น หรือเลือกใช้วิธีการรักษาแบบอื่นที่อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษามากขึ้นก็เป็นได้
แล้วทำไมยาที่ผลิตมาเหมือนกัน ถึงส่งผลให้บางคนเกิดอาการแพ้ แต่กับบางคนไม่มีอาการแพ้อะไรเลย?
โดยทั่วไป ยาแต่ละชนิดจะผลิตขึ้นมา เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยทุกรายอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่บางคนมีอาการแพ้ยา ก็เป็นเพราะว่าร่างกายมีการต่อต้านยาที่ได้รับ หรือมีการสร้างภูมิคุ้มกันไวเกินไปต่อตัวยาชนิดนั้นๆ ซึ่งมีปัจจัยมาจากเพศ ขนาดร่างกาย โรคอื่นๆ หรือแม้แต่ลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วยเองด้วยก็ตาม
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า ‘ลักษณะทางพันธุกรรมมีผลกับยาที่เรากินเข้าไปขนาดนั้นเลยจริงๆ เหรอ?’ และเพื่อเป็นการตอบข้อสงสัยข้อนี้ เราจึงได้หยิบยกเคสของคนที่มีอาการแพ้ยา เพราะลักษณะทางพันธุกรรมจริงๆ มาเล่าให้ฟังกัน
โดยเป็นเคสของปีเตอร์ ลีย์ (Peter Ley) ชายชาวอังกฤษคนหนึ่งที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโลกมะเร็งลำไส้ เมื่อปี 2017 เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่การผ่าตัดของเขาประสบความสำเร็จ แต่หลังจากนั้น การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) กลับส่งผลให้เขาเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง จนต้องรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลอีก 2 สัปดาห์
ผลการวินิจฉัยของแพทย์จากการทดสอบความผิดปกติของยีน ได้ระบุว่า เอนไซม์ dihydropyrimidine dehydrogenase (DPD) ในตับของปีเตอร์ทำงานผิดปกติ ทำให้เมื่อรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด จึงเกิดความเป็นพิษขึ้น และส่งผลให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งความผิดปกตินี้ เป็นผลมาจากลักษณะทางพันธุกรรมของเขานั่นเอง
[ เมื่อมีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยาจากลักษณะทางพันธุกรรมของตัวเองเพิ่มสูงขึ้น ศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างยีนกับยา ที่เรียกว่า ‘เภสัชพันธุศาสตร์’ (Pharmacogene) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา ]
เภสัชพันธุศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางพันธุกรรมกับการที่ร่างกายตอบสนองต่อยาแต่ละชนิด โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่าง DNA จากเลือดหรือน้ำลาย ส่งไปยังห้องแล็บเพื่อทำการวิเคราะห์ในสาย DNA ถึงความผิดปกติในร่างกาย ที่จะมีผลต่อการแพ้ยา
ความก้าวหน้าของศาสตร์นี้ ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นจริงๆ ในมุมของแพทย์ ก็จะมีความสะดวกในการค้นหาวิธีการรักษา และการจ่ายยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด ส่วนในมุมของผู้ป่วย ก็ไม่ต้องทรมานกับอาการแพ้ยาที่ใช้ในการรักษาโรค
ถึงแม้ว่า เภสัชพันธุศาสตร์จะมีประโยชน์ต่อการรักษาในปัจจุบันเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ดี อย่างแรก คือความซับซ้อนในการวิเคราะห์ผล โดยในขั้นตอนนี้ ต้องใช้เวลา 3-5 วัน
อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายจะสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ นี่จึงกลายเป็นความเหลื่อมล้ำในการรับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือเปล่า ทั้งที่จริงๆ แล้ว สิทธิในการรักษาพยาบาล คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
หากในอนาคตมีการพัฒนาการตรวจหาการแพ้ยาในระดับพันธุกรรมที่ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อย่างที่ GetMyDNA ได้มีการทำเป็นชุดตรวจ (test kit) ที่ผู้ใช้งานสามารถเก็บตัวอย่างน้ำลายจากอุปกรณ์ที่ให้มา และส่งตัวอย่างไปที่ห้องแล็บเพื่อทำการวิเคราะห์ผล แต่ถ้ามีการพัฒนาต่อไปให้ชุดตรวจ สามารถทำงานได้เหมือนกับชุดตรวจโควิด-19 ที่ตรวจแล้ว รู้ผลได้ในทันที ก็คงจะดีไม่ใช่น้อย
Sources: https://econ.st/3vwk3ef
https://bit.ly/3JZySLt
https://bit.ly/3EsYOhD