เคทลิน คาริโก: ผู้อยู่เบื้องหลังไฟเซอร์ และโมเดอร์น่า วัคซีนความหวังใหม่ของมวลมนุษยชาติ

Share
เขียนโดยสาโรจน์ อธิวิทวัส (CEO at Wisible )
Credit photo: https://www.fox10tv.com/news/us_world_news/she-was-demoted-doubted-and-rejected-now-her-work-is-the-basis-of-the-covid/article_b74b0ce5-bcd4-5d9e-a7c3-d77a302c98f3.html

“คุณจะเปลี่ยนไปทำวิจัยเรื่องอื่น หรือจะยอมถูกลดตำแหน่ง” 

เคทลิน คาริโก (Katalin Karikó) ที่เพิ่งถูกวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็ง แถมสามีเธอก็ติดอยู่ที่ฮังการี เพราะปัญหาเรื่องวีซ่า หยุดคิดไปครู่หนึ่ง

“ลดตำแหน่งฉันได้เลย mRNA จะสามารถช่วยชีวิตคนได้มากมาย ฉันไม่เปลี่ยนไปทำเรื่องอื่นแน่”

และนั่นคือการตัดสินใจของเคทลิน คาริโก ผู้คิดค้นเทคโนโลยี mRNA ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ (Pfizer-BioNTech) รวมถึงโมเดอร์นา (Moderna) ซึ่งเป็นวัคซีนตัวที่ถูกฉีดให้กับประธานาธิดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา และเป็นการใช้เทคโนโลยี mRNA ที่ได้รับการรับรองให้ใช้กับมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก 

credit photo: https://www.wfla.com/community/health/coronavirus/biden-gets-2nd-vaccine-dose-as-team-readies-covid-19-plan/

คาริโกถูกลดตำแหน่งและตัดเงินเดือน ทำให้เธอได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ช่วยของเธอเสียอีก 

คนอื่นที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเธอ คงเลือกที่จะเลิกทำงานวิจัยและหันไปทำอาชีพอื่นแทน แต่เธอมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า mRNA คือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ 

หลักคิดของเทคโนโลยี mRNA คือ การที่นักวิทยาศาสตร์สามารถเขียนโปรแกรมในรูปของ mRNA แล้วฉีดเข้าร่างกายเพื่อไปสั่งการให้เซลล์ผลิตโปรตีนส่วนที่เป็นหนามปลายแหลม (spike protein) ของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ร่างกายรู้จัก และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อต่อสู้กับไวรัสได้ด้วยตัวเอง เปรียบได้กับการฝึกนักมวย ด้วยการส่งคู่ซ้อมที่มีทักษะและรูปร่างคล้ายคู่แข่งที่ต้องเจอในวันชกจริง อย่างโปรตีนส่วนที่เป็นหนามปลายแหลมไวรัสโควิด-19 มาให้ซ้อมชกก่อน พอได้เรียนรู้วิธีการต่อสู้ที่จะสามารถเอาชนะคู่ซ้อมได้แล้ว เมื่อถึงวันขึ้นสังเวียนชกจริง ก็สามารถเอาชนะได้โดยง่าย 

โดย mRNA สามารถเริ่มสร้างได้ทันทีที่ได้รับรหัสพันธุกรรมของไวรัส ทำให้การผลิตวัคซีนเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก จากแต่เดิมที่ใช้เวลานานเป็น 10 ปี กว่าจะผลิตวัคซีนที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยได้

ตอนที่เธอและผู้ร่วมวิจัยทำการวิจัยประสบความสำเร็จ ตีพิมพ์ผลงาน และยื่นจดสิทธิบัตรโดยมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (The University of Pennsylvania) นั้น ชื่อของคาริโกอยู่ในลำดับที่สองแถมไม่มีคำว่า ดร. นำหน้า ทำให้เธอทักท้วงอย่างหนัก เพราะเชื่อมั่นว่า เธอคือผู้คิดค้น nMRA มาเองกับมือ และชื่อเธอสมควรต้องเป็นชื่อแรกในสิทธิบัตร 

เธอไม่เคยได้รับการคืนตำแหน่งเดิมก่อนที่จะถูกลดตำแหน่งอีกเลย นอกจากนี้ ตอนที่เธอไปแจ้งลาออก หัวหน้ายังหัวเราะเยาะเธอว่า BioNTech บริษัทที่เธอกำลังจะไปร่วมงานนั้น แม้แต่เว็บไซต์ยังไม่มีเลย 

วิดีโอที่โปรโมต mRNA Technology ของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียก็แทบไม่มีการกล่าวถึงคาริโก โดยเน้นพูดถึงแต่ดร.ดรู ไวส์แมน (Dr. Drew Weissman) ผู้ร่วมวิจัย โดยกล่าวถึงคาริโกแบบผ่านๆ เท่านั้น 

https://www.youtube.com/embed/X8gAIS8lugM

คาริโกเป็นนักเคมีชาวฮังการี ในปี 1985 เธอเดินทางมายังสหรัฐฯ พร้อมลูกสาววัย 2 ขวบ ไม่มีโทรศัพท์มือถือและเครดิตการ์ดติดตัว ในสมัยนั้น รัฐบาลฮังการรีอนุญาตให้ถือเงินไปต่างประเทศได้เพียง 100 เหรียญ หรือราวๆ 3,000 บาทเท่านั้น เธอต้องซ่อนเงินที่ได้มาจากการขายรถของครอบครัวในตลาดมืด ไว้ในตุ๊กตาเทดดี้ แบร์ ของลูกสาว และเธอไม่รู้จักใครในสหรัฐฯ เลย 

ในขณะที่เธอทำงานวิจัยเรื่อง mRNA ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย หนูทดลองทุกตัวที่ได้รับการฉีด mRNA จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากร่างกายยังเข้าใจว่า mRNA ที่ฉีดเข้าไปเป็นสิ่งแปลกปลอม ภูมิคุ้มกันร่างกายจึงเข้าไปทำลาย ก่อนที่จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างโปรตีนที่ต้องการได้สำเร็จ แถมยังทำให้เกิดการอักเสบซึ่งเกิดความเสี่ยงต่อร่างกายอีกด้วย ทำให้ผู้ให้ทุนต่างๆ ต่างหวาดกลัว และไม่มีใครเชื่อว่า mRNA จะถูกนำมาใช้งานจริงได้ เธอถูกปฏิเสธการให้ทุนครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งบริษัทยาขนาดใหญ่ รัฐบาล หรือแม้แต่ Venture Capital Firm จนในที่สุด เจ้านายของเธอก็เรียกเข้าไปพบ 

“ที่มหาวิทยาลัยเราคาดหวังให้นักวิจัยสามารถหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนงานวิจัย และความอดทนของเราต่อความไร้ประสิทธิภาพของคุณกำลังจะหมดลงแล้ว” 

“นี่คุณจะไล่ฉันออกเหรอ”

“เปล่า แต่ผมจะให้ทางเลือกคุณนะ เปลี่ยนไปทำวิจัยเรื่องอื่นที่มีโอกาสหาเงินทุนได้มากกว่านี้ หรือจะยอมถูกลดตำแหน่ง” 

คาริโกที่เพิ่งถูกวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็ง แถมสามีเธอจะติดอยู่ที่ฮังการีเพราะปัญหาเรื่องวีซ่า หยุดคิดครู่หนึง

“ลดตำแหน่งฉันได้เลย mRNA จะสามารถช่วยชีวิตคนมากมาย ฉันไม่เปลี่ยนไปทำเรื่องอื่นแน่”

หากวันนั้น เคทลิน คาริโก ตัดสินใจอีกทางหนึ่ง วันนี้โลกอาจจะไม่มี mRNA อิสราเอลหรือสหรัฐฯ ที่ใช้ mRNA เป็นหลัก อาจจะยังคงมีการระบาด และยังมีผู้เสียชีวิตรายวันอยู่มากมาย ถือเป็นบทเรียนที่ให้กำลังใจผู้คนที่พยายามสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกว่า อย่าท้อถอยยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่ถาโถมเข้ามา ขอให้ฟังเรื่องราวที่เต็มไปด้วยบททดสอบของ คาริโกผู้ที่กำลังถูกคาดหมายว่า จะได้รับรางวัลโนเบลคนต่อไป

ในปี 1997 เธอพบกับดร.ดรู ไวส์แมน ที่เพิ่งเข้ามาเริ่มงานที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียในตำแหน่งนักภูมิคุ้มกันวิทยา และมีความสนใจเรื่อง mRNA เช่นกัน ต่อมา ทั้งคู่ตัดสินใจทำงานร่วมกัน เวลาผ่านไปหลายปี จนในที่สุดเธอก็ค้นพบวิธีที่ทำให้ร่างกายไม่ต่อต้าน mRNA ได้ 

ตอนที่เธอทำการทดลอดฉีด mRNA ให้หนูทดลอง และหนูยังไม่แสดงอาการใดๆ เธอยังคิดว่าเธอทำอะไรพลาดไปหรือเปล่า เพราะปกติฉีดเมื่อไหร่หนูทดลองจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว จึงทำการทดลองซ้ำอีกครั้ง และเธอก็พบว่า มันไม่ใช่ความผิดพลาด แต่วิธีใหม่ของเธอได้ผลจริงๆ เธอทำสำเร็จแล้ว

“คาริโกกับลูกสาวที่เป็นนักกีฬาโอลิมปิคเหรียญทองของสหรัฐ”

ปัจจุบัน คาริโกอายุ 65 ปี เป็นผู้บริหารที่ดูแลด้าน mRNA protein replacement ที่ BioNTech บริษัทด้านไบโอเทคจากเยอรมนีที่ทำงานร่วมกับไฟเซอร์ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 หรือที่เรามักจะรู้จักในชื่อไฟเซอร์อย่างเดียว 

ในช่วงเริ่มต้นของการระบาด ทั่วโลกต่างตกอยู่ในความหวาดกลัว วัคซีนกลายเป็นความหวังเดียวที่จะช่วยหยุดยั้งการระบาดได้อย่างแท้จริง และ BioNTech ทราบดีว่า เทคโนโลยี mRNA ที่มีอยู่ในมือนั้นคือทางออกของวิกฤติครั้งนี้ แต่ด้วย Scale การผลิตวัคซีนในระดับมหาศาลขนาดนี้ BioNTech จำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์ จึงได้ติดต่อไปที่ไฟเซอร์

ระหว่างการเจรจา ผู้บริหารที่ดูแลด้านการผลิตของไฟเซอร์ขอเวลา 18 เดือนในการผลิตแบบ ‘mass production’ ให้ได้ตามเป้าคือ 100 ล้านโดส แต่ BioNTech ยืนกรานว่า ต้องเสร็จใน 7 เดือน ซึ่งถือเป็นความเร็วระดับประวัติศาสตร์ของการสร้างวัคซีน ตั้งแต่งานวิจัยไปจนถึงการผลิตแบบ mass production ในเวลาไม่ถึงปี จากปกติใช้เวลาหลายปี 

เมื่อผู้บริหารของไฟเซอร์ขอให้ทีมกฎหมายร่างสัญญา ทางผู้บริหารของ BioNTech ก็เบรคทันทีว่า 

“เราจะรอให้ทีมกฎหมายมาร่างสัญญาให้สมบูรณ์ทุกอักษรไม่ได้หรอกนะ เราต้องเริ่มทันที” 

“แต่เราต้องแชร์ข้อมูลชั้นความลับให้กันนะ”

“ใช่ เราต้องเชื่อใจกันและกัน เราร่าง term sheet แล้วเริ่มงานกันเลยดีกว่า เพราะเรามีชีวิตผู้คนเป็นเดิมพัน”

3 วันหลังจากนั้น ไฟเซอร์และ BioNTech ก็แถลงข่าวเรื่องความร่วมมือต่อสื่อ 

credit photo: https://www.france24.com/en/europe/20201202-uk-first-to-approve-pfizer-biontech-covid-19-vaccine-for-rollout-next-week

ย้อนเวลากลับไป เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2020 ประมาณบ่ายโมงครึ่ง มีกล่องเหล็กถูกส่งมาที่แลป  Shanghai Public Health Clinical Center ภายในกล่องบรรจุหลอดทดลองที่ถูกแพ็กด้วยน้ำแข็งแห้ง ด้านในมีตัวอย่างเชื้อที่ได้มาจากกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบแปลกประหลาด ที่พบในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งขณะนั้นโลกยังไม่รู้จักไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ 

ศาสตราจารย์ Zhang Yongzhen นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา และทีมทำงานอย่างหนักสองคืนติดต่อกัน โดยตีสองของวันที่ 5 มกราคม เขาได้ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส SARS-CoV-2 เสร็จสมบูรณ์ ใช้เวลาน้อยกว่า 40 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเร็วมาก 

หลังจากนั้น Zhang รีบโทรหา Dr.Zhao Su หัวหน้าศูนย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลอู่ฮั่น เพื่อขอข้อมูลทางคลินิกของคนไข้เพิ่มเติม และแจ้งให้ทราบถึงความน่ากลัวของไว้รัสสายพันธุ์ใหม่นี้ 

วันที่ 8 มกราคม Zhang กล่าวว่า 

“คำวินิจฉัยของผมมีสองอย่างนะ อย่างแรกคือมันเป็นไวรัสที่มีลักษณะคล้ายซาร์ และอันที่สอง ไวรัสสามารถติดต่อได้ทางระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น ผมมีข้อเสนอแนะสองข้อ คือเราจะต้องมีมาตรการฉุกเฉินทางสาธารณสุขเพื่อป้องกันโรคนี้ทันที และต้องหาวิธีการรักษาอย่างเร่งด่วน”

วันที่ 10 มกราคม ระหว่างที่ Zhang อยู่ที่สนามบินเซี่ยงไฮ้ เขาได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนร่วมงาน ศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด โฮล์มส์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ซึ่ง Zhang ได้ส่งรหัสพันธุกรรมให้ก่อนหน้านี้ 

“ผมขอโพสต์ข้อมูลรหัสพันธุกรรม (genome) ไวรัสขึ้นเว็บให้ทุกคนได้รู้ได้ไหม” 

Zhang ขอเวลาคิดสักครู่ ในใจเขาทราบดีว่า หากปล่อยข้อมูลรหัสพันธุกรรมออกสู่สาธารณะก็จะมีผลตามมาแน่นอน เพราะเขายังไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐบาล แต่อีกใจหนึ่งเขาก็ตระหนักดีว่า รหัสพันธุกรรมนี้คือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ทางออกในการแก้ปัญหา นั่นคือการผลิตวัคซีน ซึ่งต้องเริ่มต้นให้เร็วที่สุด และทุกนาทีที่ผ่านไปหมายถึงชีวิตผู้คน 

“ตกลงปล่อยเลย” 

และนี่คือโพสต์ประวัติศาสตร์ที่ทำให้โลกได้รู้จักรหัสพันธุกรรมของไวรัส SAR-CoV-2 coronavirus สร้างแรงกระเพื่อมในชุมชนนักวิทยาศาสตร์ไปทั่วโลก

โดยโฮล์มส์ได้โพสต์ลงบนเว็บไซต์ Virological ซึ่งเปรียบได้กับ Github ของชุมชนนักพัฒนาโปรแกรม ที่เป็นแหล่งแชร์ข้อมูลทางการแพทย์ให้นักพัฒนาทั่วโลกได้นำไปศึกษาต่อยอด หรือให้เข้าใจง่ายมากขึ้นอีกหน่อย ก็คือเหมือนเว็บพันทิปของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมาแชร์ความรู้ด้านรหัสพันธุกรรมไวรัสกัน 

เมื่อมีรหัสพันธุกรรมไวรัสซึ่งถือเป็นวัตถุดิบที่สำคัญที่สุด บวกกับความสามารถของเทคโนโลยี mRNA เพียงเวลาแค่สัปดาห์เดียว ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ก็สามารถสังเคราะห์ mRNA ของ SARS-CoV-2 ได้สำเร็จ และสามารถเริ่มกระบวนการทดลองวัคซีนได้ทันที

รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแผน Operation Warp Speed ที่ให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ผลิตวัคซีนทุกเจ้า ซึ่งด้วยเงินทุนก้อนนี้ ทำให้บริษัทวัคซีนสามารถเดินทางผลิตวัคซีนแบบ mass production โดยไม่ต้องกังวลว่า ผลการทดลองในช่วง human trial จะสำเร็จหรือไม่ และจะได้รับการอนุมัติให้ใช้งานได้จริงจาก Food and Drug Administration (FDA) หรือไม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ช่วยเอกชนได้มาก เพราะช่วยตัดความเสี่ยงจากการขาดทุน ในกรณีที่วัคซีนไม่ผ่านการทดลองหรือไม่ได้รับการอนุมัติจาก FDA ได้ 

credit photo: https://www.businessinsider.com/operation-warp-speed-us-coronavirus-vaccine-program-pfizer-moderna-2020-11

เรื่องนี้ถือเป็น ‘สำนึกแห่งความเร่งด่วน’ (Sense of Urgency) ที่คนที่เป็นผู้นำต้องมี โดยเฉพาะภาครัฐในฐานะผู้มีอำนาจ ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ที่ยอดผู้ติดเชื้อสูงต่อเนื่องและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มทุกวันเช่นนี้ 

“ทุกการตัดสินใจถูกเดิมพันด้วยชีวิตผู้คน ซึ่งหลายครั้งเราไม่สามารถคาดการณ์ด้วยล่วงหน้า”

ลองนึกดูว่า หากวันนั้น เคทลิน คาริโก ยอมแพ้และเปลี่ยนไปทำงานวิจัยเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ mRNA 

ถ้า Zhang ไม่ยอมให้โพสต์รหัสพันธุกรรมขึ้นเว็บสาธารณะ รอหน่วยงานภาครัฐที่เชื่องช้าให้ความเห็นชอบ รวมถึงเสี่ยงที่จะถูกลงโทษ 

ถ้าไฟเซอร์กับ BioNTech ไม่กล้าที่จะเริ่มงานทันที โดยยอมรอในฝ่ายกฎหมายตกลงเรื่องข้อสัญญาให้เสร็จก่อน 

ถ้ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนเงินวิจัย งบประมาณซื้อวัคซีนล่วงหน้ากว่า 10 ล้านเหรียญ 

โลกก็จะมีวัคซีนช้ากว่านี้ และจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้อีกมาก 

หากประเทศอยู่ในช่วงวิกฤติ แต่ยังคงใช้วิธีคิดและปฏิบัติแบบสถานการณ์ปกติ ยึดถือกฎระเบียบข้อบังคับ พิธีการเป็นที่ตั้ง ในขณะที่ผู้คนล้มตายรายวัน 

หากรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์เพอเฟ็กต์ก่อนเริ่มทำงาน มองข้ามเป้าหมายสำคัญเร่งด่วนคือการช่วยชีวิตคน และปกป้องผู้ประกอบการ หากเป็นเช่นนี้ ปัญหาก็คงไม่ได้รับการแก้ไขได้ทันการณ์

ขอให้ทุกคนผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ครับ ไม่มีปัญหาใดที่แก้ไม่ได้ด้วยมือน้อยๆ ของมนุษย์ ขอเพียงเราร่วมแรงร่วมใจกัน 


sources:
https://www.businessinsider.com/mrna-vaccine-pfizer-moderna-coronavirus-2020-12
https://en.wikipedia.org/wiki/Katalin_Karik%C3%B3
https://podcasts.apple.com/gb/podcast/business-wars/id1335814741
https://billypenn.com/2020/12/29/university-pennsylvania-covid-vaccine-mrna-kariko-demoted-biontech-pfizer/
https://time.com/5882918/zhang-yongzhen-interview-china-coronavirus-genome/