‘สะดวก รวดเร็ว ประหยัดแรง’
3 สิ่งที่หลายคนต้องการเมื่อ ‘ซักผ้า’ หนึ่งในกิจกรรมงานบ้านที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะทำทุกขั้นตอนจนเสร็จ ยิ่งในปัจจุบัน วิถีชีวิตของผู้คนมากมายถูกควบคุมด้วยเวลาที่หมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว การจัดการกับผ้ากองโตจึงกลายเป็น ‘ภาระ’ ภาคบังคับที่ต้องรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อการซักผ้ากลายเป็น pain point ของคนที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่างในชีวิต ธุรกิจ ‘สะดวกซัก’ ที่รวมทุกขั้นตอนของการซักผ้าในร้านเดียวจึงถือกำเนิดขึ้น และกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
โดยหนึ่งในแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจนมีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 800 สาขา และมีผู้ใช้งานถึง 18.5 ล้านคน ในปี 2022 คือ ‘Otteri’ ร้านสะดวกซักที่มาพร้อมกับโลโก้ ‘ตัวนาก’ สุดน่ารักสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นมิตรของแบรนด์
การเติบโตของ Otteri และแนวทางการดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจ เปรียบเสมือน ‘ด้ายแดง’ ที่ทำให้ Future Trends มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘กวิน นิทัศนจารุกุล’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ เกี่ยวกับเส้นทางการก่อร่างสร้างธุรกิจจนกลายเป็น ‘Otteri’ ร้านสะดวกซักที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้
เมื่อกวินเดินทางมาถึงสถานที่นัดหมาย (ร้าน Otteri สาขาหนึ่งย่านพระราม 9) เขาก็ทักทายทุกคนด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะให้สัมภาษณ์ด้วยความเป็นกันเอง จนเราพบมุมมองที่น่าสนใจจากชายคนนี้มากมาย โดยเฉพาะการเป็นทุกอย่างให้กับธุรกิจของตัวเองในช่วงแรกราวกับเป็น ‘คุณรุจ’ บทบาทที่โด่งดังบนโลกออนไลน์
กว่าที่ Otteri จะกลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจนสามารถส่งต่อสิ่งดีๆ สู่สังคมได้ ต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลานและเรียนรู้ศาสตร์ที่สำคัญ เพื่อทำให้แบรนด์ยืนหยัดด้วยตัวเอง ซึ่งคำบอกเล่าเกี่ยวกับเฟสธุรกิจของ Otteri ชวนให้เปรียบเปรยกับขั้นตอนการ ‘ซักผ้า’ ที่ต้องพิถีพิถันและใส่ใจรายละเอียดมากกว่าที่คิด
เฟสที่ 1 เตรียมผ้าและอุปกรณ์การซัก : เรียนรู้จาก ‘ความผิดพลาด’ เพื่อก้าวสู่ ‘ความสำเร็จ’
หากเปรียบเปรยเฟสแรกในการทำธุรกิจสะดวกซักของกวินกับขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์ คงคล้ายกับการตามหาผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ชอบ และลองใช้จนกว่าจะเจอแบรนด์ที่ใช่
กวินกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการลงสนามในธุรกิจสะดวกซัก เกิดจากการเห็นเทรนด์ของธุรกิจประเภทนี้ระหว่างท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยในมาเลเซียและสิงคโปร์มีร้านสะดวกซักตั้งอยู่ตามที่ต่างๆ เยอะมาก และต้องเป็นเทรนด์ธุรกิจที่เข้ามาในไทยสักวันหนึ่ง เพราะพบสัญญาณบางอย่างจากวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไปจากในอดีต
“จริงๆ เราดูเรื่องของเทรนด์และคนมาตั้งแต่แรกนะครับ มันจะมีสัญญาณเล็กๆ ที่บอกว่า คนไทยเริ่มมี ‘Lazy Economy’ หรือ ‘เศรษฐกิจคนขี้เกียจ’ เช่น คนอยากมีสุขภาพดี อยากมีร่างกายสวยๆ แต่ขี้เกียจออกกำลังกาย หรืออยากทานอาหารแต่ขี้เกียจต่อแถวซื้อของ สิ่งหนึ่งที่เห็นเลยคืออยากให้บ้านสะอาดแต่ขี้เกียจทำงานบ้าน ซึ่งหลายๆ บ้านก็เป็นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เรามองว่า ธุรกิจประเภทนี้มีหน้าที่เพื่อลดระยะเวลาในการการซักผ้าหรือ Daily Chores ต่างๆ ตรงนี้แหละเป็นสัญญาณเล็กๆ ที่เราจับเจอ”
แม้ธุรกิจสะดวกซักจะตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของผู้คน แต่ธุรกิจกลับไม่ประสบความสำเร็จดั่งใจหวัง เพราะ ‘การคิดเร็วทำเร็ว’ คือจุดเริ่มต้นที่ผิดพลาดในการทำธุรกิจ
“เป็นคนคิดเร็วทำเร็ว คิดปุ๊บก็ทำเลย ปรากฏว่า ทำไปแล้วก็ผิดพลาดหมด วาง target market ก็ผิด brand position ก็ผิด location ก็ผิด ทำให้ drive ธุรกิจด้วยอีโก้ต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องอาศัย data การทำการตลาด และ research อย่างจริงจังมากขึ้น”
จนกระทั่งหลักสูตร ‘B2B Franchise’ หรือการขยายธุรกิจแบบ ‘แฟรนไชส์’ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เข้ามาเปลี่ยนแนวคิดในการทำธุรกิจของกวิน และทำให้เขามองภาพธุรกิจของตัวเองใหม่ จากที่เคยจับกลุ่มแรงงานต่างชาติใน จ.สมุทรสาคร ก็หันมาจับกลุ่มนักศึกษาและคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครแทน
เฟสที่ 2 ซักฟองและน้ำเปล่า : ปฏิบัติการมัดใจ ‘ลูกค้า’ ด้วยจุดยืนที่ชัดเจนและองค์กรที่มีพลัง
หลังจากวางโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ เส้นทางธุรกิจของ Otteri จึงเริ่มต้นขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะเข้ามาดิสรัปต์ตลาดเครื่องซักผ้าฝาบน และสร้างการรับรู้ว่า เครื่องซักผ้าฝาหน้าสามารถซักได้สะอาดกว่า พร้อมทั้งเข้ามาแก้ปัญหาการตากผ้าที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงด้วยเครื่องอบผ้าที่สามารถอบผ้าให้แห้งในเวลาอันรวดเร็ว
นอกจากนี้ Otteri ยังวาง position เป็น ‘Premium Self-Service Laundry’ ที่มีที่นั่งรอระหว่างซักผ้าและอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานฟรี พร้อมทั้งระบบการจ่ายเงินแบบออนไลน์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักได้อย่างดี
ด้วยเป้าหมายทางธุรกิจที่ต้องการให้ ‘ได้กำไร เติบโต และยั่งยืน’ Otteri จึงออกแบบแนวคิดทางธุรกิจของตัวเองออกมาเป็น 3 ประการ ได้แก่ Functional Benefit, Emotional Benefit และ Social Benefit
“เรามองว่า ตอนนี้ Otteri เป็น thrid place ที่อยากให้เป็นร้านซักล้างหลังบ้าน คือเวลาตั้งเครื่องซักผ้าที่บ้าน ส่วนใหญ่จะอยู่หลังบ้านหรือที่แคบๆ ที่นั่งไม่ได้ ที่นี่จึงเป็นร้านซักล้างหลังบ้านที่คุณจะเอาหนังสือมาอ่านก็ได้ มานั่งเล่น ทำงาน หรือติวหนังสือ อยากให้ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่สะดวกสบายสำหรับคนที่มาใช้บริการ เราเลยใส่ใจเรื่องการดีไซน์ จะเห็นว่า ร้านเรามีดีไซน์ที่สวยงามตามสไตล์ญี่ปุ่น อันนี้คือเรื่องของ Emotional Benefit เราต้องการให้ร้านของเราเป็นพื้นที่แบบ Instagramable มาถ่ายรูปมุมไหนก็สวย”
ถึงแม้ position ที่ชัดเจนจะเป็น ‘หัวใจ’ ของการทำธุรกิจ แต่องค์กรที่เต็มไปด้วย ‘พลัง’ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน กวินกล่าวว่า การทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ที่มีความฝันและพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม ทำให้เขาได้รับไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดให้กลายเป็นจริงได้ด้วยการเติมเต็มทักษะและประสบการณ์ทำงานของทีมบริหารลงไป
“บริษัทเราโชคดีมากที่อายุเฉลี่ยของพนักงานในบริษัทไม่เกิน 30 ปี เรียกได้ว่า บริษัทนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่หมดเลย เป็นรุ่น Gen Y กับ Gen Z เยอะมาก เด็กๆ รุ่นนี้สนใจว่า ทุกบาทที่เขาจ่ายต้องมีความหมาย จ่ายเงินไปแล้วไม่ได้แค่ซื้อของอย่างเดียว แต่ต้องตอบแทนอะไรบางอย่างคืนกลับสู่สังคมด้วย”
เฟสที่ 3 อบผ้าพร้อมใส่ : ต่อยอดความสำเร็จทางธุรกิจด้วยหัวใจที่ปรารถนาดีต่อ ‘สังคม’
เมื่อ Otteri เดินทางมาถึงจุดที่ธุรกิจอยู่ตัวและสร้างรายได้ด้วยตัวเอง กวินก็เริ่มมองหาหมุดหมายต่อไปให้กับธุรกิจ โดยเขาเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับสังคม และเติมเต็มส่วนที่ขาดหายด้วยความแข็งแกร่งของแบรนด์
การเป็นธุรกิจที่ทำประโยชน์ต่อสังคมของ Otteri เริ่มจากการบริจาคเครื่องซักผ้าให้กับกรมพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตมนุษย์ เพื่อส่งต่อไปยังบ้านที่รับดูแลคนไร้บ้าน ก่อนจะต่อยอดความร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงาและกรุงเทพมหานครผ่านโครงการ ‘Laundry Move’ หรือบริการรถซักผ้าอาบน้ำได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนไร้บ้าน
นอกจากนี้ กวินยังขยายขอบเขตการทำประโยชน์ต่อสังคมมาที่ประเด็นความเป็นอยู่ของ ‘ผู้สูงอายุ’ โดยจัดตั้งบริษัทที่รับผิดชอบโครงการ ‘ชูมณี’ บริการฝากผ้าให้คุณป้าดูแลที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ
“ชูมณี คือบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องของกลุ่มคนเปราะบางด้านผู้สูงอายุนะครับ เราเริ่มเห็นแล้วว่า สังคมผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่น่ากังวลมาก เพราะจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อัตราการเกิดของประชากรลดลง สิ่งที่เราทำขึ้นมาคือการเชิญชวนผู้สูงอายุ และว่าจ้างให้มาประจำที่ร้านครับ ให้มาคอยพับผ้า เอาผ้าออกให้ลูกค้า ก็คือฝากผ้าไว้ที่ป้าเลย ป้าจะดูแลผ้าให้เหมือนที่คุณแม่ดูแลเสื้อผ้าให้หลานๆ ลูกๆ นี่คือคอนเซ็ปต์ของชูมณี”
แต่โครงการเพื่อสังคมของ Otteri ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะกวินตั้งใจขยายขอบเขตการส่งต่อสิ่งดีๆ ผ่านความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์อีกมากมาย โดยหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือการร่วมมือกับ SC Grand ในการนำผ้าที่ไม่ใช้แล้วไปปั่นเป็นผง ตีเป็นด้าย และถอเป็นผืน ก่อนส่งให้ GQ กับ Mc JEANS ตัดเย็บเป็นเสื้อและนำไปบริจาคต่อ ถือเป็นโครงการที่ไม่ได้ช่วยแค่สังคม แต่ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านแนวคิดของ Circular Economy อีกด้วย
จากพูดคุยกับกวินในครั้งนี้ เราพบสิ่งที่ทำให้การเติบโตของ Otteri มีมนต์เสน่ห์ยิ่งกว่าการเรียนรู้ข้อผิดพลาด นั่นคือวิธีการดำเนินธุรกิจที่เกิดจากการหล่อหลอมตัวตนและแนวคิดเรื่อง ‘การแบ่งปัน’ ซึ่งสะท้อนผ่านการเป็นองค์กรที่เต็มด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ และการเป็นธุรกิจที่ทำประโยชน์ต่อสังคม