ปัญหาก็เหมือน ‘ลิง’ เทคนิคจัดการปัญหาลูกน้องแบบลิงเกาะหลัง

Share

‘ลิง’ คือสัตว์ที่มักถูกเข้าใจผิดว่า เป็นบรรพบุรุษหรือต้นกำเนิดของมนุษย์ แต่ความเป็นจริง มันกลับเป็นเพียงแค่สิ่งมีชีวิตที่เป็นญาติหรือมีบรรพบุรุษเดียวกับเราเท่านั้น นอกจากนี้ ลิงยังเป็นตัวแทนความซุกซนวุ่นวาย โดยในโลกของการทำงานก็ถูกนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องสุดคลาสสิกอย่าง ‘ปัญหาของลูกน้อง’ ที่คนเป็นหัวหน้ามักต้องคอยจัดการ

แล้วลิงที่ว่าเป็นยังไง เราจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร? บทความนี้ Future Trends จะพาไปดู ‘Who’s got the Monkey?’ เทคนิคการจัดการปัญหาแบบลิงเกาะหลังของโดนัลด์ แอล วาสส์ (Donald L. Wass) และวิลเลียม ออนเคน จูเนียร์ (William Oncken, Jr.) ผู้แต่งหนังสือ The One Minute Manager Meets the Monkey กัน

เทคนิคการจัดการปัญหาแบบ ‘ลิงเกาะหลัง’ คืออะไร?

Image by rawpixel.com on Freepik

‘Who’s got the Monkey?’ คือเทคนิคที่เปรียบเปรยว่า ปัญหาของลูกน้องนั้นไม่ต่างอะไรจากลิง และอย่างที่รู้กันดีว่า หัวหน้าเป็นที่พึ่งสำคัญที่พวกเขามักจะเดินเคาะประตูเข้ามาขอความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น ปัญหาเหล่านี้จึงกลายเป็นปัญหาของหัวหน้าไปโดยปริยาย คล้ายกับลิงที่มาเกาะหรือขี่บนหลังนั่นเอง

เทคนิคการจัดการปัญหาแบบ ‘ลิงเกาะหลัง’ ใช้ยังไง?

1. นัดหมายกับลิง

อย่าจับปลาสองมือ ทำหลายอย่างไปพร้อมกัน นัดหมายเป็นกิจจะลักษณะไปเลย เพราะนอกจากจะช่วยให้มีโอกาสได้พูดคุยกันตัวต่อตัว หาแนวทางแก้ร่วมกัน ก็ยังส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายด้วย

อย่างเช่น ถ้าเรา Take time รับฟังพวกเขาด้วยความตั้งใจจริง ก็มีแนวโน้มว่า พวกเขารู้สึกดี ผูกพันกับองค์กรมากยิ่งขึ้น ซึ่งบางทีก็อาจจะถึงขั้นที่ว่า พวกเขาเอ่ยปากว่า “ไม่อยากเปลี่ยนงานใหม่เพราะหัวหน้าดี” ด้วยซ้ำ

2. ปิดประตูตีลิง

หลังจากนัดหมายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมา ให้เจาะจงให้ชัดเจนว่า มีลิงกี่ตัว ลิงตัวนั้นควรถูกกำจัดหรือไม่? โดยหลักๆ แล้ว เรามีวิธีจัดการอยู่ 5 แบบด้วยกัน

– ให้ลูกน้องรอคำสั่งจากหัวหน้าอย่างเดียว

– ให้ลูกน้องถามว่า จะทำอย่างไร?

– ให้ลูกน้องเสนอแนวทาง จากนั้น เมื่อได้รับความยินยอมจากหัวหน้าค่อยลงมือทำอีกทีหนึ่ง

– ให้ลูกน้องลงมือแก้ด้วยตัวเอง เพียงแต่หัวหน้าเป็นผู้ให้คำแนะนำเท่านั้น

– ให้ลูกน้องลงมือแก้ด้วยตัวเอง แล้วคอยรายงานหัวหน้าเป็นระยะ

กฎเหล็กของเทคนิคการจัดการปัญหาแบบ ‘ลิงเกาะหลัง’ มีอะไรบ้าง?

Image by creativeart on Freepik

กฎข้อที่ 1 : เจอลิงแบบ ‘ตัวต่อตัว’ เท่านั้น เพราะการทำแบบนี้จะช่วยให้เราจับสัญญาณต่างๆ และรับรู้ถึงปัญหาของลูกน้องได้ดีมากยิ่งขึ้น

กฎข้อที่ 2 : เจอลิง ‘แค่ในเวลานัดหมาย’ ไม่ควรใช้เกิน 15 นาที เนื่องจากเป็นเวลาที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้น้อยจนเกินไป

กฎข้อที่ 3 : ควรเด็ดขาดเลยว่า ลิงตัวไหนสมควรถูกกำจัดทิ้งบ้าง? ไม่ใช่จับมาทุกตัวแล้วให้อาหารพวกมันหมด

กฎข้อที่ 4 : พยายามควบคุมจำนวนลิงให้อยู่ในระดับต่ำกว่าเวลาที่หัวหน้ามี

แม้ทุกที่ก็มีปัญหาเหมือนกันหมดอาจจะเป็นคำกล่าวหนึ่งที่จริงในโลกการทำงาน แต่หากรู้จักจัดการให้เป็น ไม่ปล่อยให้มันมาเกาะหลังจนเสียศูนย์ เราก็จะได้ขึ้นชื่อว่า เป็นพนักงาน High Performance ขององค์กรอย่างแน่นอน!

Source: https://bit.ly/3uXCSav