เขียนโดย ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ (ผู้อำนวยการหลักสูตร DNAbySPU.com คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม)
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้อุตสาหกรรมธุรกิจทุกภาคส่วน ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน ในทุกวงการต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหม่ แน่นอนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้ธุรกิจที่มีหน้าร้านจำเป็นต้องปิดตัวลง และเหล่าบรรดานักขายต้องหันมาพึ่งการค้าขายแบบออนไลน์กันมากขึ้น แต่ทุกอย่างก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ระบบปฏิบัติการ IOS ได้อัปเดตเป็นเวอร์ชัน 14.5 ทำให้การโฆษณาใช้ตาม pixel ไม่ได้ในอุปกรณ์ของแอปเปิล ซึ่งนั่นก็ยิ่งทำให้การทำการตลาดออนไลน์ด้วยการซื้อโฆษณาในเฟซบุ๊กไม่ง่ายเหมือนอดีต ภายใต้ข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้กระแสการตลาดแบบสตรีมมิงไลฟ์สด กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ในการทำการตลาดออนไลน์ เพื่อเข้าถึงลูกค้า ซึ่งลูกค้าเองก็สามารถเลือกสินค้าของจริงได้แบบเรียลไทม์ผ่านรูปแบบวิดีโอ กลายเป็นกระแสมาแรงในโลกออนไลน์อีกครั้ง นอกจากผู้ประกอบการรายย่อยที่เคยเป็นกลุ่มหลักในการไลฟ์ขายของในประเทศไทย วันนี้ สินค้าแบรนด์ชั้นนำต่างๆ ล้วนเปิดประสบการณ์ มุ่งหน้าสู่การไลฟ์สดผ่านโลกออนไลน์แล้วเช่นกัน และผมขออนุญาตรวบรวมเคล็ดลับเด็ดๆ มาให้ได้ชมกัน ดังนี้
ค้นหานักสตรีมเมอร์ที่ใช่
นักสตรีมเมอร์ หรือผู้นำด้านการไลฟ์สดผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ดึงดูดผู้คนในโลกออนไลน์ได้ดีมาก หากเปรียบเทียบกับแพลตฟอร์มที่เป็นหน้าร้านขายของแล้ว สตรีมเมอร์หรือนักไลฟ์สด ก็ไม่ต่างอะไรกับพนักงานหน้าร้าน แม้บางครั้งสินค้านั้นจะดูธรรมดา แต่เมื่อได้รับการพูดชักชวนและคารมที่เป็นต่อของเหล่านักขาย ลูกค้าก็มักจะหยิบไปจ่ายเงินอย่างง่ายดาย
ดังนั้น การเลือกนักสตรีมหรือแขกรับเชิญเข้ามาร่วมสตรีมมิงไลฟ์สดร่วมกับแบรนด์จึงมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งในเรื่องของความสามารถในการโน้มน้าวใจ การใช้ภาษาที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย บุคลิกภาพ การแต่งตัว และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนดู หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ส่วนตัวของพวกเขา ก็ควรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสไตล์ของแบรนด์ มีทักษะการโน้มน้าวใจที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้อย่างลงตัว
เลือกกลุ่มเป้าหมายให้ตรงกับแบรนด์
โดยปกติแล้ว การสตรีมมิงไลฟ์สดในไทยนั้น กลุ่มเป้าหมายมักจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ให้ความสนใจในเรื่องของการชอปปิงออนไลน์ มากกว่าวัยผู้ใหญ่ที่มักจะยึดติดกับรูปแบบการชอปปิงแบบออฟไลน์ แต่หากสินค้าที่เป็นแบรนด์ต่างๆ เริ่มลงมาเล่น ก็ต้องมีการวางโจทย์ที่ชัดเจนขึ้นว่ากลุ่มลูกค้าเป็นใคร หากระดับกลุ่มเป้าหมายเป็นแบรนด์ระดับไฮเอนด์ ที่เน้นเจาะกลุ่มผู้ชมที่มีกำลังซื้อสูง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่ต้องสร้างความแตกต่าง และตอบสนองความสนใจของพวกเขาด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย โดยแบรนด์อาจเลือกใช้กลยุทธ์ที่สร้างความพิเศษให้กับลูกค้า ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น Frieze New York ที่เปิดให้ลูกค้าวีไอพีได้เข้าไปสัมผัสกับงานศิลปะเสมือนจริงได้ก่อนใคร ซึ่งแบรนด์ต่างๆ ก็อาจเลือกใช้วิธีนี้ด้วยการเชิญลูกค้าระดับวีไอพี เข้าร่วมชมสตรีมมิงไลฟ์สด ในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายในไลฟ์สด กลุ่มลูกค้าที่มาดูไลฟ์สดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่แบรนด์คัดเลือกมา ควรจะมีระดับของราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ตอบโจทย์กับกลุ่มของผู้ชมส่วนใหญ่ให้สามารถซื้อได้ในราคาที่เอื้อมถึง ตัวอย่างเช่น การไลฟ์สดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของแบรนด์หลุยส์ วิคตอง (Louis Vuitton) ที่สาธิตการพันผ้าพันคอคอลเลคชันล่าสุดของแบรนด์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเครื่องประดับก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กลุ่มวัยรุ่นมีกำลังซื้อได้มากที่สุด ด้วยราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ก็เป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้พวกเขาตัดสินใจที่จะซื้อสินค้าชิ้นนั้นได้มากขึ้น
ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด
บรรยากาศการสตรีมมิงไลฟ์สดถือเป็นพื้นฐานของความสำเร็จ ที่แบรนด์ไม่ควรมองข้าม การถ่ายทอดสดขายสินค้าในแต่ละครั้งถือเป็นภาพลักษณ์ที่สำคัญของแบรนด์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าและคุณภาพของสินค้า โดยเฉพาะกับแบรนด์ที่ควรใส่ใจในทุกรายละเอียดของการสตรีมมิงไลฟ์สดในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฉากหลังการถ่ายทำ ความเชื่อดั้งเดิมของแบรนด์ที่มักเชื่อว่า ฉากหลังการถ่ายทำไม่ควรจะรกตาจนเกินไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในบริบทของประเทศไทย การสตรีมมิงไลฟ์สด ควรสร้างบรรยากาศให้ลูกค้าเป็นสภาพความเป็นจริงของสถานที่ ให้ลูกค้าเห็นภาพสต๊อกสินค้า บรรยากาศการแพ็คสินค้า ภาพสินค้ารอจัดส่ง จะเป็นการเร้าอารมณ์ให้ลูกค้าที่ดูอยู่มีอารมณ์ร่วมอยากซื้อทันที
นอกจากนั้น บรรยากาศในการไลฟ์สดควรมีความสนุกสนานและเป็นกันเอง ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงความเป็นมืออาชีพและคงความน่าเชื่อถือไว้ให้กับลูกค้า ปรับแต่งมุมภาพด้วยเทคนิคเฉพาะหรือการใช้กล้องที่มากกว่าหนึ่งตัว เพื่อให้เห็นสินค้าในมุมที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของคุณภาพเสียง ความต่อเนื่องของการถ่ายทำ และบทพูดที่เหมาะสม รวมถึงการใช้คำพูดและโทนเสียงที่ใช้อย่างระมัดระวัง ก็เป็นอีกเรื่องที่แบรนด์ไม่ควรมองข้าม
ทั้งหมดนี้ เป็นเคล็ดลับการสตรีมมิงไลฟ์สดในขั้นต้นที่แบรนด์ควรนำไปต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการค้าขนาดเล็ก หรือแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียงก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน ซึ่งไม่เพียงแต่การสตรีมมิงไลฟ์สดเท่านั้น แต่คุณภาพของสินค้า รวมถึงรูปแบบแพ็จเกจจิ้งในการจัดส่งยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่แบรนด์จำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อรักษาฐานลูกค้าที่เคยซื้อสินค้ากลับมาซื้อซ้ำต่อไป
ติดตามคอลัมน์ Future Leader ได้ทางเว็บไซต์ และ Facebook ของทาง Future Trends