“ผมเชื่อว่าคำถามที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง” เข้าใจ Learning Design สู่การเรียนรู้ยุคใหม่ กับ คุณตะวัน เทวอักษร

Share

“เด็กยุคนี้ต้องครีเอทีฟ สื่อสารเป็น ทำงานเป็นทีมได้” ประโยคหนึ่งจากบทสนทนาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีคนถามว่าอะไรคือสิ่งที่เด็กยุคนี้ต้องมี…ประโยคบอกเล่านี้ได้พาเราย้อนกลับไปถึงภาคการศึกษา ที่หลายคนมองว่าจะต้องเป็น ‘ผู้ผลิต’ เด็กรุ่นใหม่ให้ตอบรับกับความต้องการดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องเป็นเช่นนั้น 

แต่คำถามคือ แล้วโรงเรียนจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์นั้น?

อาจฟังดูเหมือนง่าย ๆ ไม่เห็นมีอะไร เป็นเรื่องที่สถาบันศึกษาต้องทำอยู่แล้ว แต่ด้วยพฤติกรรม และไลฟ์สไตล์หลาย ๆ อย่างตอนนี้เปลี่ยนไป ผู้เรียนก็ไม่ได้ยึดติดกับตำรา มองหาความสนุกในการเรียนรู้มากขึ้น ผู้สอนก็ต้องอัพเดทกับความรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอด จึงทำให้ห้องเรียนต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบรับกับ New Normal อีกด้วย 

คุณตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จํากัด (มหาชน)

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันในชื่อ ‘อักษร เจริญทัศน์’ ซึ่งปัจจุบันได้พลิกบทบาทองค์กรจากบริษัทด้านการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ถึงประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนห้องเรียน พัฒนาวิธีการสอนของครู ไปจนถึงการทำ Learning Design ที่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนมากกว่าแค่ตำรา และ Presentation

Learning Design เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างไรในยุคนี้

ต้องเล่าก่อนว่าหลายคนมักจะชอบพูดว่า การศึกษาไทยต้องเปลี่ยน ต้องยกระดับ…คำถามคือ แล้วทำอย่างไรล่ะ? ผมคิดว่าถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเราต้องลงมือทำ ดังนั้นเราซึ่งอยู่ใน Position ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้ จึงได้ออกแบบเข้ามาทำตรงนี้ร่วมกับคุณครูของโรงเรียนต่าง ๆ ในออกแบบการเรียนรู้ในห้องเรียนรูปแบบใหม่ ให้สนุกขึ้น มีส่วนร่วมกันมากขึ้น

Learning Design ก็เลยเกิดขึ้นมา บางครั้งเรียน 1 คลาสอาจได้ความรู้มากกว่า 1 วิชาด้วยซ้ำ มีตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบมากคือ คุณครูให้นักเรียนมอต้นหาคำตอบว่าเราจะไปอังกฤษกัน ลงที่ลอนดอนตอน 6 โมงเช้า ต้องบินออกจากกรุงเทพฯตอนกี่โมง? นักเรียนก็จะต้องมาหาคำตอบด้วยตัวเอง ได้กางทั้งแผนที่ คำนวณเวลา ไหนจะโจทย์เสริมที่ให้ดูว่า ณ ตอนนี้เนี่ยเวลาของกรุงเทพฯห่างจากลอนดอนกี่ชั่วโมง ก็จะมีเรื่องของฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้องอีก กลายเป็นว่าในคลาสนั้นเด็กได้เรียนทั้งดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ไปในตัวเลย

เราเอา Learning Process ไป Transform เขา ให้นักเรียนได้สัมผัสประสบการณ์จริง ได้แลกเปลี่ยน ได้ลงมือทำ แล้วนักเรียนก็ได้ทักษะหลายอย่าง ได้ทำงานเป็นทีม ได้คิด ได้แสดงความคิดเห็น มันทำให้ห้องเรียนสนุกขึ้น ได้ยกระดับคุณครู และวิธีการสอนให้ดีขึ้น

แล้ว Learning Design ที่ดีมันต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

องค์ประกอบสำคัญคือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเยอะ ๆ  ครูเป็นคนถาม นักเรียนเป็นคนตอบ แต่การถามที่ว่ามันไม่ใช่แบบเดิมอย่างที่ผมบอก 

ครูไม่ได้ถาม What Where When แต่เน้นถาม Why กับ How

ผมเชื่อว่าคำถามที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง จุดประกายให้เกิดจินตนาการ ความอยากรู้อยากเห็น ต่อยอดไปได้ไม่รู้จบ นี่คือเรื่องรากฐานเลย นอกนั้นก็จะเป็นส่วนประกอบอื่น ๆ ที่อยู่ใต้ร่มใบเดียวกัน โดย Learning Design ที่ผมนำมาใช้ก็ได้จากการไปลงพื้นที่นะ ผมไปดูโรงเรียนในไทยเพื่อศึกษาบริบทต่าง ๆ และก็เดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูการเรียนการสอนของพวกเขา ว่าทำกันอย่างไรบ้าง แล้วเราก็ไปจับจุดที่น่าสนใจ น่าจะนำกลับมาใช้ที่ประเทศไทยมาประยุกต์ มาผสมผสานกัน 

ตอนที่ได้เอามาลองที่ประเทศไทยความจริงเราลองผิดลองถูก ปรับปรุง Learning Design , คู่มือการเรียนรู้การสอนมาหลายหน เราได้ทำ Workshop ร่วมกับคุณครูมากมาย ได้ต่อยอดจากฟีตแบ็คของพวกเขา และพวกเขาก็ได้เรียนรู้การสอนอีกรูปแบบหนึ่งที่เขาก็รู้สึกว่ามันดี ดีแล้วก็น่าจะนำสิ่งดี ๆ นี้ไปส่งต่อให้เก็บนักเรียนได้

ทางอักษรออกแบบ Learning Design ไว้อย่างไร

มันมี 2 Pain Point ที่เรานึกถึงก่อนจะเริ่มทำตัว Learning Design ข้อแรกก็คือเดิมทีครูสอนหนังสือเสร็จ ครูรู้ว่าต้องใช้สื่อมากมาย ต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลมาสอนมากขึ้นเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดีขึ้น แต่ครูต้องไปเสิร์ชและทำการบ้านเยอะมาก ถูกหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ซึ่งครูเองก็ไม่ได้มีเวลาทำแบบนี้ในทุกวันก่อนสอน เราก็เลยคิดว่าเราจะทำตรงส่วนนี้ให้ เราเสิร์ชให้ เราคอนเฟิร์มข้อมูลว่ามันถูกแน่นอน เพราะฉะนั้นครูใช้มันได้ เราไม่ต้องการให้ครูขี้เกียจนะ แต่เราต้องการให้คุณครูเอาเวลาที่มีจำกัดเนี่ย ไปให้ความสำคัญกับลูกศิษย์เขา

ปัญหาข้อที่สองก็คือครูไม่รู้ว่าจะสอนยังไงดีอย่างที่ได้เล่าไปตั้งแต่ตอนต้น เราก็มี Functional Guide ที่บอกให้ทำกิจกรรมเพิ่มตรงนี้ พูดเสริมตรงนั้นอะไรแบบนี้ แค่นี้ผมก็เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ที่เข้ามาจะทำให้ครูทำงานกันง่ายขึ้น มีเวลาโฟกัสกับเด็กมากขึ้น ครูไม่ต้องแบกภาระในการ Transformation เอาไว้คนเดียว เราเลย Simplify ทั้งหมดให้มันทำงานง่ายขึ้น มีด้วยกัน 3 รูปแบบ

  • Class Connect : Digital Platform ที่ร้อยเรียงสื่อประกอบการสอนเข้ากับกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ สร้างการสอนอย่างมืออาชีพ ลดเวลาในการจัดเตรียมการสอน และยังสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนได้อย่างเต็มที่
  • Interactive3d  :  สื่อการเรียนรู้เสมือนจริงในรูปแบบ 3 มิติ ที่มาพร้อมความสามารถในการคลิก เลื่อน ขยาย หมุน ถ่ายภาพในขณะใช้งาน เสริมสร้างความรู้นอกเหนือบทเรียน และช่วยขยายความเข้าใจในหัวข้อที่ยาก สอดแทรกอยู่ในหนังสือเรียนและสื่อประกอบการเรียนรู้จากอักษรผ่าน QR-Code ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน
  •  Aksorn On-Learn : ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้สำหรับทุกคน ปฏิรูปห้องเรียนไทยด้วยพื้นที่การเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์ มาในรูปแบบ e-book และคลิปวิดีโอ  ตอบโจทย์พฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนในโลกยุคใหม่ เรียนสนุก เข้าใจง่าย เรียนได้บ่อยเท่าที่ต้องการ

อะไรที่ทำให้อักษรพัฒนาจากหนังสือ มาเป็นสื่อการเรียนรูปแบบอื่น ๆ

หลาย ๆ เรื่องที่มันใช้เวลาอธิบายยาว ๆ บางเรื่องมันไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากขนาดนั้นเมื่อเราไปสอนในรูปแบบที่แตกต่างออกไป เช่น คุณจะต้องอธิบาย 18 บรรทัดเกี่ยวโครงสร้างพืชใบเลี้ยงคู่ ใบเลี้ยงเดี่ยว แต่เราสามารถโชว์รูปเดียว ออกมาเป็นภาพ 3D เห็นภาพแล้วเข้าใจทั้งหมดได้เลย สิ่งที่เราทำมันเป็นสื่อที่ช่วยขยายความเข้าใจควบคู่กับ Functional Guide ของคุณครู  แล้วมันไม่ได้จำกัดเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์นะ วิชาที่เป็นนามธรรมมาก ๆ ก็สามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น เจอโจทย์ 3,500+X = 10,000 ให้หาคำตอบ X บางทีแค่อธิบายเฉย ๆ มันไม่เข้าใจ พอมันเป็นภาพมันก็สนุกขึ้นเข้าใจง่ายขึ้น พอเป็นแบบนี้เด็กเองก็จะชอบในคณิตศาสตร์มากขึ้น เพราะเขาเข้าใจมากกว่าแค่ท่องสูตรเฉย ๆ

อย่างวิชาประวัติศาสตร์เราก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาทำเป็นภาพไทม์ไลน์ ให้เข้าใจเรื่องของประวัติศาสตร์ได้ง่ายขึ้น หรือแม้กระทั่งวิชาพละศึกษา การอธิบายกติกาของกีฬาพอทำเป็นรูปมันง่ายขึ้นเยอะเลย ไปนั่งดูแต่ข้อความลองนึกถึงเราซื้อเกมมาแล้วอ่านวิธีเล่นแล้วไม่เข้าใจจนมาเจอภาพที่อธิบายนั่นแหละ 

เราพยายามทำให้การสอนที่เป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ ให้จับต้องได้ง่ายมากขึ้น 

สุดท้ายแล้วการเรียนแบบออนไลน์ กับออฟไลน์ก็ยังต้องมาคู่กัน

ผมว่า Digital Transformation มันเป็นแค่อุปกรณ์หนึ่งในการเปลี่ยนวิถี อาจจะเล็กกว่าคำว่า Learning Process Transformation ที่เราคุยกันมาเสียอีก สมมุติว่านักเรียนต้องทำงานกลุ่ม เดิมทีเขาอาจจะมองว่าต้องนัดกันมาที่โรงเรียนเพื่อนั่งทำงาน แต่พอมีดิจิทัลก็ย้ายไปทำงานกันใน Google Doc มันก็ง่ายขึ้น แต่ว่า Learning Process Transformation ต้องมาก่อน เด็ก ๆ ต้องถูก Assign ให้ทำงานด้วยกัน ต้องได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ไม่ว่าจะห้องเรียนแบบออฟไลน์หรือออนไลน์มันต้องมาคู่กัน ลองคิดดูนะถ้ามันสุดโต่งไปสักทาง อย่างออนไลน์งี้ เด็กสิบขวบต้องไปเรียนหน้าจอตลอด คุณคิดดูสิ เขาจะไปนั่งเรียนหน้าจอทั้งวันไหวได้อย่างไร เขาต้องเล่นกับเพื่อน ต้องได้คุยกับเพื่อนบ้าน 

แปลว่าต่อไป ‘ครู’ ก็จะกลายเป็น ‘โค้ช’ มากกว่า

ผมว่างานของครูมันเปลี่ยนไปมากนะ เดิมทีครูมายืนสอนหน้าห้องเปิดเทป เปิดหนังสืออ่าน เปิด Presentation โดยที่อาจจะไม่ได้สนใจว่าเด็กโฟกัสไหม ตั้งใจฟังรึเปล่า เธอไม่เข้าใจแปลว่าเธอเรียนไม่รู้เรื่องเองนะ…มันต้องเอาใหม่ ตอนนี้ครูต้องใช้ตามากขึ้น ใช้ปากลดลง ใช้หูมากขึ้น ต้องเกิดการสื่อสาร 2 ทางมากขึ้น ผมคิดว่าถ้าครูเปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ช ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดกันมากขึ้น ครูคอยเช็กพฤติกรรมนักเรียน บทสนทนา ห้องเรียนไหน ๆ ก็สามารถดีขึ้นได้ 

สุดท้ายคุณตะวันมองว่าเทรนด์ของการเรียนรู้จะเป็นอย่างไรต่อไป

มี 2 เรื่องที่ผมหวังก็คือผมหวังว่ากระบวนการเรียนรู้มันจะเปลี่ยนไปโดยที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในลักษณะที่ครูเป็น ‘โค้ช’ ของกระบวนการเรียนรู้มากขึ้น ครูตั้งคำถาม Why และ How มากขึ้น ครูเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูด ส่วนนักเรียนจากเดิมที่เอา Content มาใส่หัวไปสอบ นักเรียนจะต้องเป็น Generate ไอเดียมากขึ้น สร้าง Solution มากขึ้น และสุดท้ายคือมีการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับการเรียนรู้ได้น่าสนใจมากขึ้น 

 โลกต่อไปมันเป็น Connection World เด็กที่จะออกสู่ตลาดแรงงาน ต้องดูว่าเขาคิดเองเป็นไหม, สร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ไหม สื่อสารกับคนอื่นได้หรือเปล่า และทำงานกับคนอื่นได้ไหม