นาทีนี้ หากพูดถึงคนดังที่มีข่าวเต็มฟีดไม่เว้นสัปดาห์แล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้นมหาเศรษฐีที่รวยติดอันดับโลก ผู้พัฒนานิวรอลลิงก์ (Neuralink) เจ้าของเทสลา (Tesla) สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และกำลังจะเข้าซื้อแพลตฟอร์มนกน้อยสีฟ้าทวิตเตอร์ (Twitter) ที่มีชื่อว่า ‘อีลอน มัสก์ (Elon Musk)’ อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม แม้มัสก์จะขึ้นชื่อว่า เป็นหนึ่งในบุคคลที่ประสบความสำเร็จมาก แต่ในความเป็นจริง หลายๆ อย่างกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะว่ากันตามตรงก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมการเป็นผู้นำของเขา
แล้วมัสก์นำบริษัทยังไง นำแบบไหนจนเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน
หลังจากที่พนักงานเทสลา Work from home มาร่วม 2 ปี ล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เขาก็ได้ส่งอีเมลคำสั่งไปยังพนักงานระดับสูงให้กลับเข้าออฟฟิศได้แล้ว เรียกได้ว่า ทำเอาบรรดาพนักงานที่อยาก Work from anywhere ถึงกับฝันสลายเป็นแถว เพราะในใจความได้ระบุด้วยว่า หากไม่กลับมาทำงานให้เห็นที่ออฟฟิศอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะถือว่า พนักงานคนนั้น ‘ลาออก’ จากบริษัทเรียบร้อย
ทั้งนี้ เขาก็ได้มีการขยายความคำว่า ‘ออฟฟิศ’ ในอีเมลว่า หมายถึงสำนักงานของเทสลาที่ตนสังกัดเท่านั้น ไม่ใช่สำนักงานสาขาย่อยในรัฐอื่น อีกทั้ง ยังกำชับว่า ยิ่งตำแหน่งอาวุโสมากเท่าไร ก็ยิ่งจำเป็นต้องกลับมาทำงานในออฟฟิศมากขึ้น
ในทางกลับกัน ล่าสุดสำนักข่าวดิ อินฟอร์เมชัน (The Information) ก็ได้เปิดเผยว่า เมื่อพนักงานจำนวนหนึ่งทำตามนโยบายดังกล่าว กลับไปทำงานที่โรงงานเทสลาในเมืองฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนียกลับพบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงาน ที่จอดรถไม่เพียงพอจากจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือแม้กระทั่งสัญญาณ Wi-Fi ที่อ่อนเกินไปจนไม่สามารถทำงานได้
จริงๆ แล้ว พฤติกรรมการควบคุม ออกคำสั่ง โดยไม่รับฟัง และไม่มองว่า ‘One size will not fit all.’ ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของเขาก็แทบไม่ต่างกับผู้นำแบบเผด็จการหรือ ‘Authoritarian Leader’ ที่มีแบบแผนชัดเจนในการพาบริษัทก้าวไปข้างหน้า ชี้นกต้องเป็นนก ชี้ไม้ต้องเป็นไม้นัก
สอดคล้องกับในปี 2018 อดีตพนักงานคนหนึ่งเคยเปิดเผยกับสำนักข่าวบิสซิเนสอินไซต์เดอร์ (Business Insider) ว่า รูปแบบการทำงานในเทสลาของมัสก์นั้นเต็มไปด้วย ‘ความคลั่งไคล้ในการควบคุม’ ผู้มีอำนาจตัดสินใจที่เทสลาคือ อีลอน มัสก์ ‘แต่เพียงผู้เดียว’
อย่างไรก็ตาม หากเราไล่เรียงไปดูที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิล (Apple) ที่ก่อนหน้านี้ประกาศเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศแบบเดียวกัน ก็จะพบว่า ได้สูญเสีย Talent เก่งๆ ระดับแถวหน้าไป ยกตัวอย่างเช่น เอียน กู๊ดเฟลโลว์ (Ian Goodfellow) ผู้อำนวยการฝ่าย Machine Learning ที่ตัดสินบอกลา ขอย้ายไปทำงานที่กูเกิล (Google) แทน
โดยก็มีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ เทสลาเองก็อาจจะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันจากการนำแบบเผด็จการของมัสก์ก็ได้ เพราะอย่างที่รู้กันว่า โควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และสร้างค่านิยม บรรทัดฐานใหม่ของการทำงาน การกลับออฟฟิศจึงไม่ใช่คำตอบที่ใช่ของหลายๆ คนอีกต่อไป
นอกจากนี้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงก็มีนิยาม ‘การทำงานแบบ Result-oriented’ ที่เกิดขึ้นใหม่ด้วย ซึ่งก็เป็นการโฟกัสที่ผลลัพธ์มากกว่าชั่วโมงการทำงาน ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น และมีชั่วโมงการทำงานที่เรียกว่า ‘Flexible hours’
ผลสำรวจพนักงานในไทยของจ็อบสดีบี (JobsDB) ระบุว่า การต้องทำงานที่ออฟฟิศถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักทำให้บางคนเลือกไม่สมัครงานกับบริษัทนั้นๆ และผู้ที่มีทักษะทางดิจิทัลพร้อมจะเปลี่ยนงานอยู่เสมอ โดย 95 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานบอกว่า ต้องการให้บริษัท Work from home หรือมีนโยบายการทำงานแบบ Hybrid working ที่ทำงานที่ออฟฟิศแค่บางวัน
เพราะฉะนั้น ความคาดหวังที่สูง ความใส่ใจที่ต่ำของมัสก์เลยทำให้พนักงานส่วนหนึ่งรู้สึกอึดอัดใจ แถมยังเป็นการบ่อนทำลายประสิทธิภาพของการทำงาน และการมีส่วนร่วม รวมไปถึงยังสะท้อนวัฒนธรรมแห่งความไม่ไว้วางใจของตัวผู้นำ และเป็นเหมือนการ ‘ตัดแข้งตัดขาตัวเอง’ ให้ Talent เก่งๆ โบกมือลาโดยไม่รู้ตัวด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว คนเราก็มีข้อดี-ข้อเสียด้วยกันหมด มัสก์เองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ถึงบางครั้งจะดูบงการไปหน่อย แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เขาก็เป็นผู้นำที่เต็มไปด้วยพลัง ความตั้งใจดีที่จะพาทีมสู่ความสำเร็จ เหมือนที่เขาเคยมีโควตความตั้งใจเท่ๆ ว่า “เราจะไม่หยุดจนกว่ารถทุกคันบนท้องถนนจะใช้ไฟฟ้า” นั่นเอง
Sources: https://bit.ly/3abmpJ3
งานแถลงข่าว SURVEY TO SURVIVE : เจาะ INSIGHT แนวโน้มตลาดงาน โดย JobsDB