เลือกจ้างคนที่ใช่ ‘ไม่ใช่หัวกะทิ’ วิถีความสำเร็จแบบ Jack Ma ขั้วตรงข้ามของ Netflix

Share

เวลาคิดจะจ้างใครสักคน ‘หัวกะทิ’ มักเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่บรรดานายจ้าง และ HR ต่างนึกถึง เพราะที่แน่ๆ พวกเขาเหล่านี้มักมาพร้อมกับความเก่งกาจที่พอจะมั่นใจในระดับหนึ่งได้ว่า ยังไงซะก็คงทำให้ธุรกิจคุ้มทุน และล้มเหลวน้อย

นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ยักษ์ใหญ่อย่างเน็ตฟลิกซ์ (Netflix), กูเกิล (Google) และบิทคับ (Bitkub) ก็มีแนวคิดนี้เช่นกัน กล่าวคือ คนที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นพนักงานก็ล้วนแต่เป็น ‘ที่สุด’ หรือ ‘Top Performance’ ในเรื่องนั้นๆ

ในทางกลับกัน หากเราย้อนมาดูช่วงเริ่มแรกของอาลีบาบา (Alibaba) แล้ว จะพบว่า ที่ผ่านมา แจ็ค หม่า (Jack Ma) ก็ไม่ได้เจาะจงจ้างเฉพาะบรรดากลุ่มคนหัวกะทิที่ว่าแต่อย่างใด แต่แท้จริงแล้ว เขากลับเลือกจ้างคนที่เก่งใน ‘ลำดับรอง’ ลงมาด้วยซ้ำ

แล้วทำไมเขาถึงไม่จ้างคนเก่งกว่าค่าเฉลี่ยมาร่วมงานด้วย เพราะอะไรเขาถึงคิดแบบนี้? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

ถึงแม้คนเก่งเหล่านี้จะมาพร้อมกับผลงานที่ดีเยี่ยม เพอฟอร์แมนซ์ระดับสุดยอด มักเป็นที่ถูกอกถูกใจของนายจ้างมากกว่าพนักงานธรรมดา แต่มีบทความหนึ่งของต่างประเทศพูดถึงความคิดเห็นของแจ็ค หม่าไว้อย่างน่าสนใจว่า ในโลกของการจ้างงาน การเฟ้นหาคนร่วมทีม ให้หลีกเลี่ยงการจ้างที่ ‘ดีที่สุด’ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เป็น ‘the best’ ในเรื่องนั้น

เนื่องจาก การเลือกจ้างคนประเภทนี้ก็เป็นเหมือนการวางเครื่องยนต์เครื่องบินโบอิง 747 ลงในแทรกเตอร์โดยไม่รู้ตัว แถมก็มักจะเป็นผู้เชี่ยวชาญของเมื่อวาน ‘ไม่ใช่อนาคต’ ด้วย และแน่นอนว่า หากพวกเขาต้องเจอกับความโหดร้ายหรือความยากลำบาก ก็มีแนวโน้มจะรู้สึกหงุดหงิด ผิดหวัง และสิ้นหวังได้ ‘ง่าย’

ดังนั้น สิ่งที่อาลีบาบาต้องการจึงไม่ใช่คนเก่งกาจ ความฉลาดเหนือมนุษย์มนา อะไรพวกนี้เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็หาได้จากการทำงานหนักที่มากพอ เพราะฉะนั้น ปัญญา (Wisdom) จึงกลายมาเป็นตัวแปรที่สำคัญมาก

หม่าเผยว่า การจ้างคนก่งระดับหัวกะทิไม่ใช่สิ่งจีรังยั่งยืน ทำให้ภาพรวมของบริษัทดีขึ้นในระยะยาว คนที่มีความฉลาดในการจัดการกับอารมณ์ (Emotional Quotient หรือ EQ) และความฉลาดทางการเรียนรู้ (Intelligence Quotient หรือ IQ) ต่างหาก คือคนที่เขาจะเลือก เนื่องจาก ถ้าไม่มี 2 สิ่งนี้ ต่อให้เก่งกาจแค่ไหน ก็ไม่อาจเป็นผู้เล่นในทีม และผู้นำที่ดีได้ในอนาคต รวมไปถึงคนที่มองโลกแง่ดีถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนหลักสร้างให้อาลีบาบากลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้

โดยก่อนหน้านี้ เขาเคยแนะนำเคล็ดลับแก่บรรดาเจ้าของธุรกิจไว้ว่า ให้หาทีมที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน และอยากจะทำงานร่วมกัน การจ้างคนที่ใช่มาทำงานด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ดีที่สุดในโลกเสมอไป แต่ในความเป็นจริง คนที่ดีที่สุดอยู่ในทีมอยู่แล้ว ไม่มีคนที่ดีที่สุดในตลาดหรอก คนที่ดีที่สุดของคุณนั้นคือ ‘คนที่ฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ’

นอกจากนี้ ในแง่มุมของการจ้างคนเก่ง หากมองให้ลึกลงไป ก็แน่อยู่แล้วว่า ใครๆ องค์กรไหนๆ ก็อยากจะได้หัวกะทิมาเสริมทัพความแกร่งเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมค่าตัวพวกเขาถึงสูงลิ่ว และเต็มไปด้วยทางเลือกมากมาย พอเวลามีที่ไหนดีกว่า พวกเขาก็พร้อมเดินจากไปทุกเมื่อนั่นเอง

และนี่ก็คือมุมมองของอดีตเจ้าพ่อแห่งอาลีบาบาที่เรานำมาฝากกัน แต่ก็ไม่อาจสรุปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า การเลือกจ้างหัวกะทินั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีเสมอไป เงื่อนไข เป้าหมาย และความจำเป็นของแต่ละองค์กรต่างกัน เอาเป็นว่า เอาที่สบายใจทั้ง 2 ฝ่ายดีกว่า

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบไปหมดหรอก การตั้งธงว่า จะมองหาคนที่เป็น ‘The best’ หรือ ‘Perfect match’ อาจไม่มีอยู่จริง เหมือนกับที่โลกใบนี้ไม่มีอะไรเพียบพร้อมไปซะทุกอย่างก็เป็นได้…

Sources: https://bit.ly/3NuQu4I

https://bit.ly/3GRLOmG

https://bit.ly/38Sub9Z

https://cnb.cx/3mkPUum

หนังสือทำไม Netflix ถึงมีแต่คนโคตรเก่ง

หนังสือ Work Rules! Google

https://bit.ly/3xi4YPA