ทุกวันนี้เราน่าจะคุ้นเคยกับนิยามของความเป็น Introvert และ Extrovert กันว่า Introvert จะต้องเป็นคนชอบเก็บตัว ชอบอยู่คนเดียวไม่ชอบพบปะผู้คน และ Extrovert คือคนที่ชอบการสังสรรค์ อยู่ท่ามกลางผู้คน ชอบทำกิจกรรมต่าง ๆ
แต่ย้อนกลับไปเมื่อ คาร์ล ยุง (Carl Jung) นักจิตวิทยาคนแรกได้นำนิยามของ Introvert และ Extrovert มาใช้ในการอธิบายจิตวิทยา คาร์ลไม่ได้อธิบายรูปแบบของการเป็น Introvert และ Extrovert จากการเชื่อมโยงกับพฤติกรรมเท่าไหร่นัก แต่ Introvert และ Extrovert เป็นลักษณะบุคลิกภาพทางการคิดที่คนแต่ละคนจะมี
Introvert ในทฤษฎีของคาร์ล ยุง คือคนที่คิดเข้าสู่ภายใน หรือชอบเก็บงำความคิดไว้กับตัวเอง เมื่อเข้าได้เจอสิ่งใหม่ ๆ เขาไม่ได้อยากที่จะป่าวประกาศให้ผู้อื่นรู้ แต่จะขบคิดอยู่กับมัน ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เราเห็นภาพของคนที่มีบุคลิกแบบ Introvert เป็นคนเงียบ ๆ ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจา แต่ความจริงแล้วพวกเขาก็สามารถเป็นคนพูดมากได้ เพียงแต่ในกระบวนการคิด เขาชอบที่จะนำสิ่งต่าง ๆ เข้ามาคิดในหัวมากกว่า
Extrovert ในทฤษฎีของคาร์ล ยุง ก็คือขั้วตรงกันข้ามของการเก็บความคิดไว้ข้างในเลย เพราะคนที่มีรูปแบบการคิดนี้จะชอบในการนำเสนอความคิดขของตัวเองออกมา และเมื่อคนประภทนี้พบเจอสิ่งใหม่ ๆ เขาก็ชอบที่จะบอกเล่าสิ่งนั้นให้ผู้อื่นได้เห็นด้วย เราจึงมีภาพของ Extrovert เป็นคนที่กระตือรือร้น ชอบอยู่กับผู้คน กล้าแสดงออก
ในทฤษฎีของคาร์ล ยุงนั้น ทั้งการเป็น Introvert และ Extrovert ต่างเชื่อมโยงกับรูปแบบการคิด มากกว่าพฤติกรรมของตัวบุคคล ว่าพวกเขาคิดและตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างไร
Introvert คือผู้ที่ชอบเก็บความคิดของตัวเองไว้ข้างใน Extrovert คือผู้ที่ชอบนำเสนอความคิดของตัวเองออกมา
แม้จะเป็นเช่นนั้น นิยามของ Introvert และ Extrovert ที่เราเข้าใจกันอยู่ในปัจจุบัน ที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรม และความชอบในการเก็บตัว หรือชอบสังสรรค์ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะด้วยรูปแบบการคิดที่ต่างกันของทั้งสองกลุ่มนี้ ก็ทำให้พวกเขาต่างมีแนวโน้มที่จะชอบเก็บตัว หรือชอบสังสรรค์ได้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว
นอกจากนี้แล้ว คาร์ล ยุงยังบอกอีกว่าเราต่างไม่มีใครเป็น Introvert หรือ Extrovert โดยสมบูรณ์ เพียงแต่ว่าเรานั้นเอนเอียงไปทางด้านไหนมากกว่าเท่านั้น จึงเป็นเรื่องปกติมากที่ใครหลายคนในวันนี้จะรู้สึกว่านิยามของ Introvert หรือ Extrovert ไม่ได้ตรงกับตัวเอง คุณอาจเป็นคนเงียบที่สนุกสนานกับการได้พบปะคนใหม่ ๆ หรือคุณอาจเป็นคนที่มีความมั่นใจตัวเอง ชอบแสดงผลงานของตัวเองให้คนอื่นได้เห็น แต่ความจริงแล้วทุกสิ่งที่คุณแสดงออกไปต้องผ่านการคิดตริตรองมาอย่างดีแล้วทั้งนั้น
เราต่างมีความเป็น Introvert และ Extrovert อยู่ในตัว และรูปแบบการคิดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในบุคลิกภาพของเราเท่านั้น คำสองคำนี้เพียงอย่างเดียวจึงอาจไม่สามารถนิยามตัวตนของเราได้โดยสมบูรณ์
ที่จริงแล้ว นอกเหนือจากการคิดแบบ Introvert และ Extrovert แล้ว คาร์ล ยุง ได้แบ่งบุคลิกภาพของเราออกเป็น 4 มิติ ที่มี 2 ด้าน ซึ่งได้แก่
- คิดเข้าไปข้างใน (Introvert) / คิดออกไปข้างนอก (Extrovert)
- ใช้สิ่งที่จับต้องได้ (Sensing) / ใช้การคาดการณ์ (iNtuition)
- ใช้ความคิด (Thinking) / ใช้ความรู้สึก (Feeling)
- ชอบตัดสิน (Judgement) / ชอบรับฟัง (Perception)
หากใครได้เห็นบุคลิกภาพทั้ง 4 มิติของคาร์ล ยุงนี้แล้วรู้สึกคุ้นกับมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ล ยุง ได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญให้กับการแบ่งบุคลิกภาพของไมเยอร์ บริกส์ (Myers-Briggs) หรือ MBTI ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน
source: simplypsychology