‘เซโรโทนิน ออกซิโตซิน โดพามีน’ 3 สารเคมีสำคัญในสมอง หัวใจของความสุขในงานและชีวิต

Share

“ความสุขคืออะไร?” นิยามที่ชัดเจนจับต้องได้และเป็นวิทยาศาสตร์คืออะไรกันแน่ ความรู้สึกประเภทดีใจ โล่งใจ พอใจ ตื่นเต้น สนุก ตลกขบขัน หรือซาบซึ้ง เหล่านี้เป็นความสุขหรือไม่? สิ่งที่เราเคยรู้สึกเป็นความสุขในชีวิตจริงๆ หรือเปล่า เราแน่ใจแค่ไหนว่าเรามีความสุขอยู่จริงๆ

ปัจจุบัน อาจยังไม่ได้มีการชี้ชัดในนิยามของความสุขอย่างเป็นทางการหรือแนวทางในการสร้างความสุขที่ชัดเจน ต่างสำนักความคิดก็ให้ความหมายและแนวทางที่ต่างกันไป คำถามที่ว่า “ความสุขคืออะไร” จึงเป็นหัวข้อยอดนิยมในการศึกษาวิจัยเสมอมาและยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน

หนึ่งในแนวคิดของความสุขที่น่าสนใจคือ แนวคิดความสุขในเชิงประสาทวิทยาที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองที่มีส่วนสัมพันธ์กับกิจกรรมและความรู้สึกของมนุษย์ โดย ชิอน คาบาซาวะ (Shion Kabasawa) จิตแพทย์และนักวิชาการด้านประสาทวิทยา (Neuroscience) ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยด้านจิตวิทยาคาบาซาวะ (เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในการป้องกันการเกิดโรคจิตเวช) ได้เสนอแนวคิด ‘พีระมิดสามสุข’ ซึ่งเป็นความสุข 3 รูปแบบ จากสารเคมีสำคัญ 3 ชนิด รายละเอียดดังต่อไปนี้

ความสุข 3 รูปแบบ

เมื่อมนุษย์รู้สึกมี ‘ความสุข’ จะมี ‘สารเคมีแห่งความสุข’ หลั่งออกมามากกว่า 100 ชนิด โดยมีสารสำคัญที่เป็นส่วนประกอบของความสุขในชีวิตประจำวัน 3 ชนิด คือ ‘เซโรโทนิน’ (serotonin) ‘ออกซิโตซิน’ (oxytocin) และ ‘โดพามีน’ (dopamine) หากทราบเงื่อนไข ภาวะ พฤติกรรม หรือการกระทำที่ทำให้สารเคมีทั้งสาม หลั่งออกมาเพียงพอ จะสามารถมีความสุขได้นั่นเอง (ขณะที่ เอนดอร์ฟิน อะดรีนาลิน และนอร์อะดรีนาลิน จะหลั่งออกมาเมื่อเจอสถานการณ์พิเศษ เช่น ภาวะที่มีการบีบคั้นหรือคับขันเท่านั้น ไม่ค่อยพบในชีวิตประจำวัน)

จากสารเคมีทั้ง 3 ชนิด จะแบ่งความสุขได้เป็น 3 แบบ คือ

  1. ความสุขแบบเซโรโทนิน คือ ความสุขจากการมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ
  2. ความสุขแบบออกซิโตซิน คือ ความสุขจากความรัก ผูกพัน มิตรภาพ หรือความสัมพันธ์กับผู้คน สังคม หรือสัตว์เลี้ยง
  3. ความสุขแบบโดพามีน คือ ความสุขจากทรัพย์สิน ความสำเร็จ การทำงาน การบรรลุเป้าหมาย ชื่อเสียง เกียรติยศ

ความสัมพันธ์ของความสุข 3 รูปแบบ

ความสุขทั้ง 3 รูปแบบ ไม่ได้แบ่งแยกกันออกอย่างชัดเจน แต่มีความสัมพันธ์หรือส่งผลต่อกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยจำเป็นต้องรู้ลำดับความสำคัญของทั้ง 3 รูปแบบ คือ ความสุขแบบเซโรโทนิน ออกซิโตซิน และโดพามีน ตามลำดับ

หากให้ความสำคัญกับสุขภาพ ดูแลให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรง ย่อมส่งผลต่อการทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คนที่ไม่ให้ความสำคัญกับความสุขแบบเซโรโทนิน แต่มุ่งหวังกับความสุขแบบโดพามีนอย่างเดียว จะประสบปัญหาความเจ็บป่วยทั้งกายและใจ แม้จะมีความสุขกับหน้าที่การงาน แต่เมื่อร่างกายทรุดโทรม ก็ไม่สามารถมีสุขได้ หรืออาจจะป่วยจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้เช่นกัน

ลองนึกดูว่า คุณพยายามทำงานอย่างหนักจนสามารถเลื่อนตำแหน่งได้ตามต้องการแล้ว แต่ปรากฏว่า หลังจากนั้นไม่นานตรวจพบมะเร็ง ความสุขคงหายไป

แปลว่า เราควรใส่ใจเรื่องสุขภาพ เพื่อจะบรรลุเป้าหมายความสุขแบบเซโรโทนิน พร้อมกับมีความมานะพยายามอย่างเหมาะสมในการทำงาน เพื่อให้ร่างกายไม่ป่วยและสามารถทำงานได้

เมื่อการทำงานของร่างกายและจิตใจมีประสิทธิภาพจะสามารถสร้างผลลัพธ์ตามมา นั่นคือ ความสุขแบบโดพามีน ในรูปแบบของความสำเร็จในหน้าที่การงาน เงินทอง ชื่อเสียง หรือการได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นต้น

ขณะเดียวกัน หากให้คุณค่ากับความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่าดูแลความสัมพันธ์ของครอบครัว ก็อาจส่งผลให้ความรักและความอบอุ่นของ พ่อแม่ ลูก คนรัก มีปัญหาได้ คุณอาจจะได้เลื่อนขั้น แต่กลับมาบ้านอาจพบว่า ลูกไม่อยากคุยด้วยเพราะไม่เคยมีเวลาให้เขามานานหลายปี เป็นต้น

ดังนั้น ความรักความผูกพันต้องมาก่อนความสำเร็จ หรือเรียกได้ว่า “ความสุขแบบออกซิโตซินสำคัญกว่าความสุขแบบโดพามีน”

สุขภาพที่ดีเป็นพื้นฐานของความสุขทุกรูปแบบ

ดังที่กล่าวมาสรุปได้ว่า ‘สุขภาพที่ดี’ เป็นพื้นฐานของ ‘ความสุข’ ในชีวิต และไม่ใช่แค่สุขภาพที่ดีของคุณเท่านั้น คุณจำเป็นต้องส่งเสริมให้คนในครอบครัวมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจด้วย อาจเป็นการเลือกอาหารที่เหมาะสม ทำกิจกรรมออกกำลังกายด้วยกัน หรือท่องเที่ยวผ่อนคลายด้วยกันในวันหยุด เป็นต้น “ความสุขแบบเซโรโทนินจะเกิดขึ้น”

เมื่อสุขภาพของคุณและครอบครัวดี ต่อมาคือการดูแลความรักความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่ทำงาน เพื่อน และสังคมให้ดี (รวมถึงสัตว์เลี้ยงด้วย) อาจเป็นการทำงานที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พบปะเพื่อนฝูงเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิต เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน หรือร่วมชมรมกีฬาหรืองานอดิเรกที่ชื่นชอบ เป็นต้น “ความสุขแบบออกซิโตซินจะเกิดขึ้น”

อย่าลืมที่จะมุ่งมั่นทำงานให้มากพอ โดยที่ไม่เสียสุขภาพทั้งกายและใจ และยังรักษาความสัมพันธ์อันดีดีกับผู้คนและสังคมไปด้วย เมื่อนั้นความสำเร็จ การยอมรับ หรือชื่อเสียงเงินทองจะตามมา “ความสุขแบบโดพามีนจะเกิดขึ้น”

สรุป

ความสุขทั้ง 3 รูปแบบ คือ ความสุขจากการมีสุขภาพกายใจที่ดี ความสุขจากความรักความสัมพันธ์ที่ดี และความสุขจากการประสบความสำเร็จหรือการได้รับการยอมรับ

ทั้ง 3 รูปแบบ ที่สำคัญที่สุดคือ สุขภาพ ความสัมพันธ์ และความสำเร็จ ตามลำดับ ดังนั้น วิธีที่จะมีความสุขได้ ต้องเริ่มจากการดูแลสุขภาพกายใจให้ดีก่อน ตามด้วยดูแลความสัมพันธ์ให้ดี จากนั้นจึงมุ่งมานะสู่ความสำเร็จ สำคัญที่สุดคือทำให้ความสุขทั้ง 3 รูปแบบ สมดุลกันในชีวิตให้ได้ ไม่ใช่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหากต้องเลือกในบางสถานการณ์ โดยทั่วไป ให้เลือกสิ่งที่มีความสำคัญกว่าก่อน (จากลำดับความสำคัญที่กล่าวไป)

โอกาสต่อไป จะเป็นการลงรายละเอียดความสุขในรูปแบบต่างๆ รวมถึงวิธีสร้างความสุขให้เกิดขึ้น โปรดติดตามตอนต่อไป

เขียนโดย ภูธิชย์ อรัญพูล

Source: หนังสือ ‘สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วย “พีระมิดสามสุข”’ (Seishinkai Ga Mitsuketa Mittsu No Kofuku Saishinkagaku Kara Saiko No Jinsei Wo Tsukuru Hoho) เขียนโดย Shion Kabasawa แปลโดย นิพดา เขียวอุไร สำนักพิมพ์ howto