ซาราห์ หญิงสาววัย 36 ปี เผชิญกับโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 5 ปี การรักษาและการใช้ยาต่าง ๆ ในปัจจุบันไม่อาจช่วยรักษาอาการเธอให้ดีขึ้นได้ เธอใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ไม่สามารถมีความสุด มีความคิดฆ่าตัวตายอยู่เสมอ แต่ในท้ายที่สุดก็มีวิธีทางการแพทย์ที่สามารถช่วยให้เธอใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้
ในการรักษาซาราห์ ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงเป็นเวลาต่อเนื่อง ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ใช้การฝังอุปกรณ์เส้นประสาทเทียม ขนาดประมาณกล่องไม้ขีดไฟ ไว้ในกะโหลกของเธอ อุปกรณ์ชิ้นนี้จะปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ เผื่อช่วยยับยั้งอาการซึมเศร้าที่จะเกิดขึ้น
อุปกรณ์ตัวนี้ถูกฝังไว้ในสมองส่วนกลาง บริเวณที่เรียกว่า Ventral striatum ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่สามารถทำงานและช่วยยับยั้งอาการซึมเศร้าได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่อุปกรณ์ตรวจจับได้ว่าซาราห์มีแนวโน้มของอาการซึมเศร้า อุปกรณ์นี้จะปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นให้สมองส่วนนี้ทำงาน และช่วยยับยั้งอาการซึมเศร้า
ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการฝังอุปกรณ์นี้ ก็สร้างความพอใจให้กับซาราห์ เธอกล่าวว่าอุปกรณ์นี้ช่วยให้เธอสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในที่สุด หลังจาก 5 ปีที่เธอต้องเผชิญหน้ากับอาการของโรคซึมเศร้า โดยรูปแบบการรักษาที่ถูกทดลองใช้นี้ก็เป็นลักษณะที่ใกล้เคียงกับที่ใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสันและลมชัก ที่จะเป็นการใช้กระแสไฟฟ้าในการกระตุ้นสมองส่วนที่ช่วยในการยับยั้งโรคนั้น ๆ
ในวันนี้ยังคงมีซาราห์เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพียงรายเดียวที่ได้รับการรักษาในรูปแบบนี้ และทีมวิจัยก็กำลังพยายามทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำวิธีการรักษานี้มาช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรงรายอื่นได้ในวงกว้าง
แน่นอนว่าการค้นพบวิธีการใหม่ในการรับมือกับโรคซึมเศร้านั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกันวิทยาการใหม่ ๆ ก็ยังเป็นสิ่งที่นำพามาซึ่งคำถาม ซึ่งในกรณีนี้ก็ทำให้เราครุ่นคิดได้ถึงอนาคตที่ว่า จะเป็นอย่างไรหากทุกคนสามารถมีความสุขได้อย่างแน่นอนด้วยวิทยาศาสตร์
การได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขย่อมเป็นสิ่งที่คนทุกคนใฝ่หา หรืออาจบอกเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของชีวิตเลยก็ได้ แต่จะเป็นอย่างไรหากต่อไปความสุขเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย ๆ
โดยพื้นฐานก็ควรคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ก็ยังมีนักคิดหลายคนที่มองว่าการได้มีความสุขอย่างแน่นอนอาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป
หนึ่งในแนวคิดนี้ได้ถูกนำเสนอไว้ในวรรณกรรม Brave New World (โลกวิไลซ์/โลกที่เราเชื่อ) โดย อัลดัส ฮักซ์ลีย์ (Aldous Huxley) วรรณกรรมชิ้นนี้ได้เล่าถึงโลกอนาคตที่โลกรวมเป็นหนึ่งอย่างสันติ และใช้ชีวิตอยู่โดยไร้ซึ่งความทุกข์
ในโลกที่ควรเป็นดินแดนอันแสนวิไลซ์นี้ หากเรามองด้วยมุมมองปัจจุบันเราอาจมองมันเป็นความบิดเบี้ยวได้อย่างง่ายได้ เริ่มต้นที่ผู้คนสามารถเข้าถึงความสุขได้ด้วยยา “โซมา” ซึ่งสามารถมอบความสุขให้กับผู้ใช้ได้โดยไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ในโลกนี้ผู้คนถูกแบ่งเป็นลำดับขั้น และมีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนของตนเอง สังคมของโลกนี้สามารถการันตีความสุขให้กับประชาชนได้ และทุกคนก็ดูพอใจกับสังคมนี้
ในเรื่องราวยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างการข้ามผ่านสังคมที่ผู้หญิงจะต้องตั้งครรภ์ ด้วยการใช้กระบวนการหลอดแก้ว ที่ทางทฤษฎีแล้วจะสามารถให้กำเนิดคนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
แม้โลกนี้จะสามารถทำให้ผู้คนมีความสุขได้อย่างแท้จริง และมีระบบการปกครองที่ดูจะสมบูรณ์แบบ แต่งานชิ้นนี้เป็นงานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดโรงงานของฟอร์ด ที่คิดขึ้นโดยเฮนรี ฟอร์ด เจ้าของบริษัทรถยนต์ และผู้ริเริ่มการผลิตแบบสายพาน ในการผลิตแบบสายพานของเฮนรี ฟอร์ด แรงงานไม่จำเป็นต้องฝึกฝนทักษะระดับสูง หรือต้องแบกรับความรับผิดชอบมากมาย ระบบของสายพานช่วยให้แรงงานไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป ด้วยการให้บทบาทที่ชัดเจนแก่แรงงานแต่ละคน
เพียงคนงานทำตามหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย ระบบจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ตรงตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
Brave New World คือการตั้งคำถามว่าหากระบบสังคมสามารถทำงานได้ดีเหมือนโรงงานของฟอร์ด ที่สามารถสร้างผลผลิตได้ ควบคู่กับการทำให้ผู้คนในระบบพึงพอใจ ผู้คนจะเป็นอย่างไรต่อไป
การมีระบบที่มีประสิทธิภาพจะลดทอนคุณค่าของปัจเจกบุคคลไปหรือไม่ การได้มีความสุขอย่างแน่นอนอาจจะไม่ใช่เรื่องดีเสมอไปหรือเปล่า
การมีชีวิตอยู่เพื่อค้นหาความสุขนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ก็ยังมีผู้คนมากมายตั้งคำถามว่าจุดมุ่งหมายอันสูงสุดของชีวิตควรเป็นความสุขหรือไม่ และหากเป็นความสุข จุดมุ่งหมายนั้นความเป็นการหาความสุขของปัจเจกบุคคล หรือความสุขของสังคมโดยรวม
แน่นอนว่าในฐานะปัจเจกบุคคลเราต่างค้นหาความสุข ความพึงพอใจให้กับตัวเอง แต่ต่อไปเราจะทำอย่างไรให้สามารถสร้างสังคมที่ทุกคนมีความสุขได้ และหากวันหนึ่งสังคมของเราสามารถการันตีความสุขให้ทุกคนได้อย่างแน่นอน สังคมนั้นจะเป็นเช่นไร มันจะเป็นสังคมที่เราใฝ่ฝันจริงหรือไม่ และหากวันหนึ่ง ความสุขเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายเพียงแค่การกระตุ้นสารในสมอง อะไรจะเป็นสิ่งที่เราต้องค้นหาต่อไปในชีวิต