เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินคำนี้กันมานานแล้ว และรู้กันดีว่าเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยเราต่างยินดีจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ เช่น การลดใช้ถุงพลาสติก หรือการประหยัดพลังงานง่ายๆ ในรูปแบบต่างๆ
แต่ในวันนี้เราอาจต้องหันมาดูปัญหานี้อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะดูเหมือนว่าภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อโลกของเราอย่างต่อเนื่อง และมีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้นด้วย
เพราะสถานการณ์ ‘โลกร้อน’ อาจรุนแรง และกระทบชีวิตมากกว่าที่คิด
รายงานการสำรวจจาก World Economic Forum ระบุว่า ใน 34 ประเทศตั้งแต่เม็กซิโกไปจนถึงจีน รวมถึงฝั่งแอฟริกาใต้ไปจนถึงสวีเดน ผู้ให้ข้อมูลกว่า 56% กล่าวว่าพวกเขาได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว โดยอีก 70% ของผู้ให้ข้อมูลในเม็กซิโก ฮังการี ตุรกี โคลอมเบีย และสเปนได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในระดับรุนแรงเลยทีเดียว
ทั้งนี้ หนึ่งในส่วนประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจก และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาวะโลกร้อนยังคงส่งผลกระทบต่อโลกอยู่ ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็น ‘ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ นั่นเอง
ด้านสำนักข่าว CNBC ให้ข้อมูลไว้ว่า ณ ตอนนี้ระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกนั้นสูงที่สุดในรอบ 3.6 ล้านปี และ IPCC ได้พบว่า การปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และจากภาคอุตสาหกรรม เป็นสัดส่วนกว่า 89% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2018
เพื่อหยุดปัญหา ‘ภาวะโลกร้อน’ การรับมือระดับโลกจึงเกิดขึ้น
ในปี 2015 ได้มีการจัดประชุมในชื่อ COP21 โดยกว่า 194 ประเทศได้ร่วมลงนามใน ‘ความตกลงปารีส’ เพื่อยืนยันว่าจะร่วมแก้ไขปัญหาสภาพอากาศของโลก และรักษาระดับอุณหภูมิให้อยู่ในกรอบ 1.5 องศาเซลเซียส
หนึ่งในข้อตกลงสำคัญในความร่วมมือครั้งนี้ คือทุกประเทศจะตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือที่เราอาจเคยได้ยินกันว่า Net Zero Emission ทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการลดใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอันเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือน กระจก และหันมาใช้พลังงานสะอาดแทนอย่างจริงจัง
สำหรับไทยเราเองก็ได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้ ในการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยจะทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2065
เพื่อเป็นการผลักดันนโยบาย Net Zero Emission และสนับสนุนการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ทาง GPSC หรือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า และพลังงานอัจฉริยะในกลุ่ม ปตท. ได้เปิดตัวโครงการ ‘GPSC Greenovation Startup Sandbox’ พื้นที่แห่งโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงไอเดียในการประกวด ‘การพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาด’ ภายใต้โจทย์ “เราจะพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไร? โดยใช้นวัตกรรมพลังงานสะอาดที่คุณสามารถเข้าถึงได้”
เมื่อไอเดียคนรุ่นใหม่ อาจเป็นหัวใจสำคัญในการกู้คืนสภาพอากาศโลก
ตลอดระยะเวลากว่า 5 เดือน ในโครงการ ‘GPSC Greenovation Startup Sandbox’ ผู้เข้าแข่งขันได้รับการดูแลให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและทีมผู้บริหารระดับสูงของ GPSC เพื่อพัฒนาต่อยอดไอเดียให้โครงการของตัวเองสามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืน และนำมาใช้ได้จริง
โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ ‘Electron+’ เจ้าของไอเดีย FTE Cooling in Auto Motive ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทำความเย็นในรถยนต์ไฟฟ้าแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีเทคโนโลยี ‘Flexible Thermo Electric’ หรือ FTE เป็นตัวชูโรง ที่ทางทีม Electron+ ได้ทำการพัฒนาต่อยอดจนสามารถตอบโจทย์การเป็นระบบทำความเย็นแบบกรีนเอเนอร์จี และไม่เพิ่มภาระด้านพลังงานให้ระบบโดยรวมของตัวรถยนต์
เพราะจริงๆ แล้วระบบทำความเย็นในรถยนต์นั้นกินพลังงานไม่น้อยเลย เพราะทำให้รถยนต์แบบทั่วไปต้องใช้พลังงานมากขึ้นถึง 30% และลดระยะเวลาการวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้าไปกว่า 40% แถมสารทำความเย็นจากระบบแบบเก่ายังสามารถหลุดเข้าไปในอากาศ และเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
หลังจากศึกษาวิจัยมายาวนานกว่า 8 ปี จนในที่สุดระบบทำความเย็นแบบ FTE ก็ถือกำเนิดขึ้นโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งจ่ายไฟหลัก และไม่รบกวนพลังงานจากแบตเตอรี่ ทั้งนี้ Electron+ มองว่าหากได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาเทคโนโลยีตัวนี้ต่อ ภายใน 5-7 ปีนี้ FTE จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นพอจนเป็นที่สนใจ และสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างแพร่หลายขึ้น พร้อมมุ่งมั่นพัฒนา FTE ต่อ ให้สามารถแข่งขันในระดับตลาดสากลได้อีกด้วย ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจได้นำระบบทำความเย็นแบบใหม่นี้มาใช้กับเครื่องทำความเย็นรูปแบบอื่นนอกเหนือจากรถยนต์ก็ได้
GPSC ตั้งเป้า เดินหน้าขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ส่งเสริมนโยบาย Net Zero แบบเป็นรูปธรรม
ทางทีม Electron+ ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า พร้อมแล้วที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบาย Net Zero Emission ให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ ซึ่งตรงกับสิ่งที่ GPSC ได้ทำมาตลอด และเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์กรภายในปี 2060 โดย GPSC จะส่งเสริมการลดใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อย่างยั่งยืน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และทดแทนแหล่งพลังงานหลักที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกเราเอาไว้ต่อไป
การประกวดในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นว่าคนรุ่นใหม่นั้น ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น และอยากให้โลกของเราเป็นบ้านสำหรับทุกชีวิตต่อไปในอนาคต โครงการ ‘GPSC Greenovation Startup Sandbox’ จึงนับเป็นก้าวที่ดีในการส่งเสริมให้พลังงานสะอาดให้เป็นพลังงานทางเลือกแห่งอนาคตสำหรับทุกคน และเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงไอเดียความคิดอยู่เสมอ ทาง GPSC จะยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนและพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้คิดค้นสร้างสรรค์ไอเดีย เพื่อค้นหานวัตกรรมพลังงานเพื่ออนาคตต่อไป
Sources:
https://bbc.in/2F2lZEj
https://cnb.cx/3hEKFGx
https://bit.ly/3hKPhv4