รู้จัก ‘GPPPA’ บัญชีสำหรับนักการเมืองบน TikTok เครื่องมือจัดระเบียบการหาเสียงเลือกตั้งทางโซเชียลมีเดีย

Share

ในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นทุกอย่างของคนรุ่นใหม่ นอกจากธุรกิจต่างๆ จะใช้ช่องทางออนไลน์นี้เพื่อทำการตลาด นักการเมืองก็ไม่พลาดใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของตนเอง รวมถึงสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของพรรคตนเองเช่นกัน

ในการเลือกตั้งรอบใหม่ของไทย ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ตามคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขวัญใจคนรุ่นใหม่อย่าง TikTok ก็ออกมาประกาศนโยบายใหม่ เพื่อรองรับการหาเสียงเลือกตั้งผ่านแพลตฟอร์มของตนเองด้วยเช่นกัน

นโยบายดังกล่าว เจ้าของแพลตฟอร์มระบุว่า สร้างขึ้นมาเพื่อการันตีเรื่องความปลอดภัยและความถูกต้องของเนื้อหา หนึ่งในนั้น คือ การสร้างบัญชี GPPPA (Government, Politician and Political Party Account) ขึ้นมา สำหรับรองรับหน่วยงานรัฐ นักการเมือง และพรรคการเมือง แยกจากบัญชีผู้ใช้งานทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3kfNFLe)

หลายคนอาจยังไม่รู้จักบัญชี GPPPA มากนัก บทความนี้ของ Future Trends สรุปข้อควรรู้เบื้องต้นมาให้ทราบ ดังต่อไปนี้

GPPPA ประกอบด้วยส่วนใดบ้าง

  1. หน่วยงานระดับชาติ/หน่วยงานที่ดำเนินการโดยรัฐบาลกลาง เช่น หน่วยงาน/กระทรวง/สำนักงาน
  2. หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น และระดับจังหวัด/ระดับรัฐ
  3. ผู้สมัครรับเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับเลือกตั้งในระดับสหพันธรัฐ/ระดับชาติ
  4. เจ้าหน้าที่รัฐในระดับสหพันธรัฐ/ระดับชาติ เช่น รัฐมนตรีและเอกอัครราชทูต
  5. โฆษกอย่างเป็นทางการหรือสมาชิกเจ้าหน้าที่อาวุโสของผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับชาติ/ระดับรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับเลือกตั้ง/ได้รับการแต่งตั้ง เช่น หัวหน้าคณะทำงาน ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์หาเสียง หรือผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัล
  6. โฆษกอย่างเป็นทางการ สมาชิกเจ้าหน้าที่อาวุโส หรือผู้บริหารระดับสูงของพรรคการเมือง เช่น ประธานพรรคหรือผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน
  7. พรรคการเมือง
  8. สมาชิกราชวงศ์ที่มีอำนาจบริหารราชการ
  9. สมาคมทางการเมืองของเยาวชน (สำหรับพรรคการเมืองหลักตามดุลยพินิจของนโยบายสาธารณะระดับภูมิภาค)
  10. อดีตประมุขของรัฐ/หัวหน้ารัฐบาล
  11. คณะกรรมการปฏิบัติการทางการเมือง (PACs) หรือเทียบเท่าเฉพาะประเทศ
  12. ผู้สมัครรับเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับเลือกตั้งในระดับรัฐ/จังหวัดและท้องถิ่นตามที่กำหนดโดยนโยบายสาธารณะระดับภูมิภาคตามปัจจัยทางการตลาด
  13. เจ้าหน้าที่รัฐในระดับรัฐ/จังหวัดและท้องถิ่นตามที่กำหนดโดยนโยบายสาธารณะระดับภูมิภาคตามปัจจัยทางการตลาด

GPPPA ห้ามทำอะไรบน TikTok

1. บุคคลหรือองค์กรที่อยู่ในบัญชี GPPPA ไม่สามารถให้หรือรับเงินผ่านฟีเจอร์การสร้างรายได้ของ TikTok ซึ่งรวมถึงการให้ทิป, อีคอมเมิร์ซ, Creator Marketplace และกองทุนผู้สร้างของ TikTok

2. ห้ามการโฆษณาทางการเมือง รวมถึงโฆษณาที่ต้องชำระเงินและการจ่ายเงินให้ผู้สร้างเพื่อสร้างเนื้อหาทางการเมืองที่กล่าวถึงแบรนด์ รวมถึงการใช้เครื่องมือส่งเสริมการขาย เช่น การโปรโมต หรือ TikTok Shop อย่างไรก็ตาม บางกรณีหน่วยงานรัฐอาจมีความจำเป็นในการโฆษณาบน TikTok เช่น เพื่อโปรโมตโครงการส่งเสริมวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น ซึ่ง TikTok จะอนุญาตให้โฆษณาได้ในสถานการณ์ที่จำกัด โดยต้องทำงานร่วมกับตัวแทนของ TikTok เป็นรายกรณีไป

3. ไม่อนุญาตให้ชักชวนเพื่อระดมทุนรณรงค์หาเสียง รวมถึงเนื้อหา เช่น วิดีโอจากนักการเมืองที่ขอรับบริจาค หรือพรรคการเมืองที่เชื้อเชิญผู้คนไปยังหน้าเว็บไซต์ขอรับบริจาคของพรรค เป็นต้น

4. GPPPA จะถูกจำกัดการใช้งาน คลังดนตรีเชิงพาณิชย์ (CML) CML คือ แหล่งรวมแทร็กเพลงแบบไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์และได้รับอนุมัติล่วงหน้ากว่า 160,000 รายการ ซึ่ง GPPPA ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้แทร็กเพลงเพื่อสร้างเนื้อหาสำหรับแพลตฟอร์มอื่น และไม่ได้รับอนุญาตให้รีมิกซ์ หรือแก้ไขแทร็กเพลงไม่ว่ารูปแบบใด อย่างไรก็ตาม เนื้อหา TikTok อาจถูกรีโพสต์ซ้ำบนแพลตฟอร์มอื่น และผู้ใช้ TikTok สามารถรีโพสต์และแชร์เนื้อหา GPPPA ได้อย่างอิสระ

หากบุคคลหรือองค์กรที่เข้าข่ายเป็น GPPPA สามารถส่งเรื่องเพื่อรับการตรวจสอบยืนยันกับทาง TikTok ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบได้ที่ http://bit.ly/3kn3Vdl

สรุปภาพรวมคือ บัญชี GPPPA จะไม่สามารถยิงโฆษณาหาเสียงบน TikTok หรือจ้างให้ทำเนื้อหาช่วยหาเสียง และไม่สามารถใช้หารายได้ ขายสินค้า ระดมทุน หรือรับบริจาคด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy ของ TikTok ประเทศไทย ยืนยันว่า บัญชี GPPPA ยังสามารถหาเสียงหรือสื่อสารนโยบายทางการเมืองได้ แต่ต้องไม่ผิดเงื่อนไขที่บัญชีนี้ห้ามทำ รวมถึงไม่ผิดหลักเกณฑ์สำหรับชุมชน (Community Guideline) ที่ TikTok กำหนด (เช่น ห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่มีความรุนแรงทางเพศ อันตรายต่อร่างกายและจิตใจ การกินที่ผิดปกติ ทำร้ายตัวเอง เปลือย ข่มเหงรังแกและคุกคาม เหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง อุดมการณ์สุดโต่งรุนแรง ยั่วให้เกิดความรุนแรง แอบอ้างบคคลอื่น กระทำผิดกฎหมาย สิ่งของผิดกฎหมาย หลอกลวง พนัน ฉ้อโกง ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น) ดูหลักเกณฑ์ฉบับเต็มได้ที่ http://bit.ly/3IK6zn6

หากพบการกระทำผิดข้อกำหนดหรือเงื่อนไข TikTok จะลบวิดีโอหรือแบนบัญชีผู้ใช้งานนั้นทันที โดยมีเครื่องมือและเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบ 24 ชม. ทั้งนี้ ประชาชนสามารถช่วยสอดส่องปัญหาได้ด้วยเช่นกัน ผ่านการรายงานการกระทำที่เข้าข่ายผิดข้อกำหนดดังกล่าวได้ที่ ปุ่ม Election Report Button ซึ่งเป็นปุ่มรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นฟีเจอร์สำหรับช่วงเลือกตั้งโดยเฉพาะ

เขียนโดย Phoothit Arunphoon

Sources: http://bit.ly/41kLW8m

https://bit.ly/3kfNFLe

http://bit.ly/3kn3Vdl

http://bit.ly/3IK6zn6