คนยังขาดทักษะ และต้องการโอกาสในการเรียนรู้ เทรนด์ L&D กับโจทย์ใหญ่ขององค์กรต่อจากนี้

Share
  • กว่า 50% ของคนทำงานยังขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับปี 2025
  • 40% ของพนักงานทั้งหมดต้องรีสกิลใน 6 เดือนหรือน้อยกว่านั้น

นี่คือคำกล่าวจากรายงานของ World Economic Forum ใน ‘Future of Jobs Report’ รายงานนี้ระบุให้เราเห็นหลายอย่าง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนจึงต้องขวนขวายการเรียนรู้มากขึ้น

นอกจากเทรนด์การพัฒนาตัวเองที่สำคัญแล้ว สำหรับองค์กรเองก็จะต้องปรับตัวสู่โมเดล L&D (Learning & Development) เพื่อเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ให้กับพนักงานอีกด้วย โดยบทความหนึ่งของประชาชาติธุรกิจ วันที่ 28 สิงหาคม มีเนื้อหาระบุว่า “ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร 200 ท่าน จากกว่า 100 องค์กร โดย “แพคริม กรุ๊ป” พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทชั้นนำเหล่านี้ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถเตรียมพร้อมบุคลากรให้มีความพร้อมรับมือกับโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า”

ทำไมองค์กรจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และเทรนด์ ‘Learning Organization’ ต่อไปจะเป็นอย่างไร มาดูกัน!

5 เหตุผลว่าทำไมการเรียนรู้จึงสำคัญสำหรับองค์กรยุคต่อจากนี้

จากผลสำรวจของเว็บไซต์ Kaltura บอกว่า 93% ของพนักงานจะรู้สึกอยากอยู่กับองค์กรมากขึ้นถ้าองค์กรลงทุนในการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพให้พวกเขา ดังนั้นการเปลี่ยนองค์กรสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ไม่ได้เพียงช่วยพัฒนาคนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คนอยากอยู่กับองค์กรนั้นๆ มากขึ้นอีกด้วย แล้วยังมีเหตุผลสำคัญอะไรอีกบ้าง?

1. พนักงานต้องการโอกาสในการเรียนรู้
จากรายงานของ Gallup ปี 2016 พบว่า 87% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลกล่าวว่าการเรียนรู้และการพัฒนาในที่ทำงานมีความสำคัญ และ 59% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลก็ใช้ข้อนี้ในการตัดสินใจเข้าทำงานแต่ละแห่งด้วย

2. การจ้างงาน ราคาแพงกว่าการรักษาคนไว้
การสูญเสียพนักงานมือดีไปสักคนไม่ใช่เรื่องดีในสถานการณ์แบบนี้สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะคนที่มีศักยภาพ พัฒนาต่อได้ ดังนั้น L&D (learning & development) ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับพนักงาน และความไว้ใจในนายจ้างของเขาด้วย ดังนั้นนี่คือการลงทุนที่คุ้มกว่าการจ้างงาน หรือการตามหาคนใหม่ๆ แน่นอน

3. มากกว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน คือผลกำไรให้บริษัท
‘คน’ คือส่วนขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดในบริษัท จากการศึกษาของ IBM ระบุว่า ทีมที่ได้รับการเทรนเพิ่มสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ถึง 10% และในเว็บไซต์ kaltura บอกว่าสิ่งนี้ยังช่วยให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น 14%-29% โดยการเติมช่องโหว่ทางความรู้และการเพิ่มทักษะให้กับพนักงาน

4. ความไม่รู้ จะพาองค์กรไปสู่ความเสี่ยง
นอกจากเหตุผลสามข้อที่ว่ามาแล้วนั้น การส่งเสริมการเรียนรู้ในองค์กรยังช่วยให้องค์กรลดความเสี่ยง ผ่านการฝึกอบรมในเรื่องต่างๆ ที่จำเป็นด้วย

5. ช่วยเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้
ลูกค้าจะคิดเสมอว่าพนักงานในบริษัทนั้นๆ จะมีความเชี่ยวชาญในสายงานและผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ดังนั้นการอัปเดตเทรนด์ ความรู้ต่างๆ ก็จำเป็นเพราะอาจจะเป็นสิ่งที่ลูกค้ามองหา อีกทั้งยังช่วยคาดการณ์ เดาทางลูกค้าได้อย่างรู้ใจอีกด้วย รายงานระบุว่าลูกค้ามีความพึงพอใจเพิ่มขึ้น 16% ในองค์กรที่มีการใช้การเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี

4 เทรนด์ L&D ที่น่าจับตาต่อจากนี้โดย Forbes

1. การเรียนรู้แบบ Agile
จากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นำไปสู่การทำงานทางไกลที่ทำให้พนักงานต้องรีสกิล และอัปสกิลกันทันที เทรนด์ของการเรียนรู้ในองค์กรตอนนี้คือการเรียนรู้แบบ Agile learning methodologies ก็คือเรียนรู้แบบเร็ว มีความยืดหยุ่นคล่องตัว ซึ่งจะช่วยให้พนักงานปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลง และมีองค์ความรู้พร้อมกับการทำงานต่อจากนี้

2. การเรียนรู้ จะเป็นกิจวัตรหนึ่งขององค์กร
เทรนด์ที่น่าสนใจคือแต่ก่อนอาจจะมีการเรียนรู้แล้วแต่โอกาส ที่องค์กรส่งพนักงานไปตามงานเสวนา หรืองานอบรมต่างๆ นอกสถานที่ แต่ต่อไปจะเกิดแพลตฟอร์มการเรียนรู้เฉพาะขององค์กร มีการทำอย่างเป็นกิจลักษณะ มีการวัดผลที่ชัดเจน และเป็นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในทุกวัน เพื่อให้พนักงานได้เติมความรู้ในทุกวัน

3. การเรียนรู้จะผสมผสานระหว่าง Virtual และดิจิทัลมากขึ้น
การเรียนรู้จะไม่ได้จำเพาะแค่การเรียนออนไลน์ทั่วไป แต่มีการเรียนรู้แบบเสมือนเข้ามาผสมโรง มีเทคโนโลยีเข้ามาทำให้การเรียนรู้สนุก และสมจริงมากขึ้น ที่สำคัญคือจะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนได้มากขึ้นด้วย

“บางครั้งการเรียนรู้ การมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การมีแพลตฟอร์มและองค์ความรู้ที่เราเข้าถึงได้ง่ายมาช่วย ก็จะทำให้พวกเรามีความสนุกสนานในการเรียนรู้มากขึ้น” – คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และ Intouch และกรรมการ บริษัท เลิร์นดิ จำกัด

4. การเรียนรู้ที่ถูกออกแบบโดย ‘Data’
เทรนด์ใหญ่ที่สุดคือการ ข้อมูลหรือ Data ที่แทบจะแทรกเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมของธุรกิจ และการจัดการองค์กร การเรียนรู้ในองค์กรก็เช่นเดียวกัน มีการคาดการณ์ว่าต่อไปการเรียนรู้ของพนักงานจะถูกออกแบบผ่านข้อมูลต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการของพนักงานและผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการให้มากที่สุด

จากเทรนด์ สู่การสร้างแหล่งเรียนรู้ในองค์กร

อย่างที่บอกไปก่อนหน้า ว่าต่อไปองค์กรจะต้องปรับตัวสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่จะช่วยผลักดันทั้งคนและองค์กรให้เติบโตไปพร้อมกัน

ตัวอย่างหนึ่งขององค์กรในไทยที่เริ่มสร้างระบบการเรียนรู้ข้างในองค์กรอย่าง AIS ที่มีการจัดตั้ง AIS Academy และสร้าง Learning Community ให้กับพนักงานเพื่อให้พนักงานสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา โดยเริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนความรู้ เสวนาต่างๆ ต่อมาก็มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘LearnDi’ และ ‘ReadDi’ ให้พนักงานในปี 2016 โดยเสริมกิจกรรมอื่นเข้าไปในการเรียนรู้เหล่านั้นด้วย

นอกจากนี้ในปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์นี้ก็ได้ต่อยอดออกมาเป็นโปรเจกต์ ‘AIS ACADEMY for THAIs : ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย’ เพื่อช่วยผลักดันคน และองค์กรให้ก้าวไปพร้อมกันด้วย เพราะการเติบโตแต่เพียงผู้เดียวสำหรับองค์กร ไม่น่าจะใช่การเติบโตอย่างยั่งยืน แต่การทำให้สังคมไทยเข้มแข็งและแข็งแรงขึ้นเป็นการเติบโตอย่างถาวร

องค์กรสนใจใช้แพลตฟอร์ม LearnDi และ Digital Library ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aisacademy.com/