“พนักงานกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ คาดหวังว่า นายจ้างจะพิจารณาถึงค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่พนักงานเกือบ 73 เปอร์เซ็นต์ พร้อมหางานใหม่ หากการขึ้นเงินเดือนไม่สูงกว่าระดับเงินเฟ้อ”
นี่คือข้อมูลเกี่ยวกับตลาดการจ้างงานในประเทศไทย ปี 2565 และแนวโน้มในปี 2566 ของโรเบิร์ต วอลเตอร์ส (Robert Walters) ที่ปรึกษาด้านการจัดหางาน ซึ่งสะท้อนถึงความหวังและความต้องการของแรงงานไทย
ขณะที่บริษัทกว่า 92 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 1 – 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นสัญญาณที่ดีของคนทำงาน และเป็นสัญญาณเชิงบวกในแง่การปรับขึ้นค่าตอบแทนของกำลังแรงงาน หลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้หลายภาคส่วนชะลอการเติบโตลง
อย่างไรก็ตาม แต่ละปีมีคนที่เพิ่งจบการศึกษาในระดับต่างๆ เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก ตลาดในปัจจุบันจะมีที่ว่างสำหรับพวกเขาเหล่านี้แค่ไหน? (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ‘ขึ้นเงินเดือนสูงสุด 30%’ ส่องทิศทาง – ความหวังคนทำงานปี 2566 ได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3Wui5Yc)
[ แรงงานจบใหม่ เตรียมเข้าสู่การทำงาน ]
แรงงานที่เพิ่งจบการศึกษาเตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือที่เรียกว่า ‘First Jobber’ กรมการจัดหางาน ประมาณการว่า ในปี 2566 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 373,488 คน โดยแบ่งเป็น
- ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมฯ ต้น 48,453 คน (12.97 เปอร์เซ็นต์)
- มัธยมฯ ปลาย 12,063 คน (3.23 เปอร์เซ็นต์)
- ปวช. 60,680 คน (16.25 เปอร์เซ็นต์)
- ปวส. 87,176 (23.34 เปอร์เซ็นต์)
- ปริญญาตรี 165,115 คน (44.21 เปอร์เซ็นต์)
[ อัตราการว่างงาน สิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม ]
ข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงาน รวม 40.09 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 39.57 ล้านคน และว่างงาน 4.91 แสนคน
ผู้ว่างงานเกือบ 5 แสนคนดังกล่าว คิดเป็นอัตราว่างงาน ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม และผู้ว่างงานทั้งหมดเป็นคนที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมากกว่า 2.56 แสนคน โดยผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีว่างงานมากที่สุด 1.8 แสนคน
นั่นหมายความว่า ในปี 2566 จะมีคนที่เพิ่งจบการศึกษาเตรียมเข้าสู่การทำงานรวมกันกว่า 6 แสนคน เมื่อรวมทั้งคนว่างงานและคนที่เพิ่งจบการศึกษา จะมีจำนวนกว่า 8.64 แสนคน ที่กำลังรอเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยเมื่อเทียบกับกำลังแรงงานในตลาดปัจจุบัน
กรมการจัดหางาน ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 412,466 คน ซึ่งมากกว่าปี 2566 แสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรและกำลังแรงงานที่มากขึ้น
ผู้คนจำนวนเกือบล้านดังกล่าว จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ต้องให้ความสำคัญ แรงงานจบใหม่ที่ยังไม่เคยทำงานรวมกันกว่า 6 แสนคน จะอยู่ตรงไหน และอีกกว่า 4 แสนคน ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในปีถัดไป จะทำอย่างไร เป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนอาจมองข้ามไม่ได้ จะมีมาตรการช่วยเหลือให้พวกเขามีงานทำและสามารถเลี้ยงปากท้องได้อย่างไร ทุกฝ่ายต้องช่วยกันจับตามอง
เขียนโดย: Phoothit Arunphoon
Sources: สำนักงานสถิติแห่งชาติ