ว่าด้วยการมาของ ‘บาร์บีคิว’ รสชาติใหม่ในรอบ 34 ปี ทำไมขนมที่หัวหน้าฮงชอบกินถึงอยู่ได้ทั้งที่มีแค่ 2 รส?

Share

หากเอ่ยถึงขนมอบกรอบที่สมัยเด็กๆ หลายคนมักชอบซื้อมาทานเล่นเป็นประจำ ก็คงมีอยู่ไม่กี่อย่าง

“ขนมตาราง ขนมปูไทย ขนมฮานามิ ขนมไดโนเสาร์..…”

แต่หนึ่งใน Top of mind น่าจะมีขนมซองสีเงินที่มีรูปมะเขือเทศ พริกหยวกอยู่ด้านหน้า หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ขนมมะเขือเทศกับขนมพริกหยวก’ บางทีก็จำชื่อแบรนด์ไม่ได้ และแบรนด์เองก็ไม่เคยใช้พรีเซนเตอร์โฆษณาด้วยซ้ำ

ล่าสุดขนมนี้กลายเป็นกระแสฮือฮาบนโลกโซเชียลอีกครั้ง หลังจากแบรนด์ประกาศออกรสใหม่อย่าง ‘บาร์บีคิว’ ซึ่งเป็นการเปิดตัวในรอบ 34 ปี นับตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2532 และก่อนหน้านี้ หัวหน้าฮงในซีรีส์ Hometown Cha-Cha-Cha หรือคิมซอนโฮ (Kim Seon Ho) นักแสดงเกาหลีชื่อดังก็เพิ่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาขนกลับบ้านเกิดไปเป็นลังเลยทีเดียว

หลายคนอาจสงสัยแบรนด์อะไรเป็นเจ้าของขนมมะเขือเทศกับขนมพริกหยวกนี้ กลยุทธ์ไหนที่ทำให้ขนมในตำนานนี้ยืนหนึ่งมานานกว่าสามทศวรรษ ท่ามกลางสมรภูมิแบรนด์ขนมขบเคี้ยวนับพัน? บทความนี้ Future Trends จะพาไปย้อนรอยกัน

‘เอฟเอฟ’ เจ้าของอาณาจักรขนมอบกรอบ และบะหมี่ขวัญใจวัยรุ่น Y2K

จริงๆ แล้ว แบรนด์ที่เป็นผู้ผลิตขนมที่เราคุ้นเคยกันนี้ คือ ‘ตราเอฟเอฟ’ หรือ ‘บริษัทแฟชั่น ฟู้ด จำกัด’ ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2531 หลังจากนั้นเพียง 1 ปี ก็เริ่มแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งข้าวเกรียบ, ขนมอบกรอบ, คุกกี้, มันฝรั่งอบกรอบ, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และบะหมี่สดอบแห้ง

นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร เอฟเอฟก็เป็นเจ้าแรกๆ ที่ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และยังมีการขยายตลาดไปทั่วโลก ไม่ว่าไต้หวัน, ฮ่องกง, มาเลเซีย, สิงค์โปร์, พม่า, ลาว, กัมพูชา, ออสเตรเลีย, อังกฤษ, ยุโรป (EU), แคนาดา หรือแม้กระทั่งมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาด้วย

‘ไม่ต้องโฆษณา ไม่ต้องเปลี่ยนแพคเกจจิ้ง’ เพราะตัวแม่ไม่แคร์อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนกลับมาไล่เรียงกันจะพบว่า ตลอดการเดินทางอันแสนยาวไกลในช่วง 34 ปี ที่ผ่านมา นอกจาก Line Product ขนมอบกรอบนี้จะมีแค่ 2 รสชาติ ในความเป็นจริง ก็ไม่เคยทำโฆษณา ไม่เคยจ้างพรีเซ็นเตอร์ และไม่เคยเปลี่ยนแพคเกจจิ้งตามโมเดลของ Push Marketing เลยสักครั้ง

เรียกได้ว่า ยังคงความคลาสสิก และเอกลักษณ์เอาไว้ได้ดี ขณะเดียวกัน ก็สามารถสร้างยอดขายได้ต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องทุ่มงบการตลาด ไม่ต้องปรับเปลี่ยนดีไซน์ถุงให้โดดเด่นสะดุดตาเพิ่ม หรือสาธยายคุณงามความดีให้ยืดยาว เพื่อสู้รบตบมือกับแบรนด์นับพัน ทั้งในไทย และต่างประเทศ

เมื่อความอร่อยซ้ำ และการมีแค่ไม่กี่รสคือ ‘ท่าไม้ตายสำคัญ’

แม้จะมีแค่ 2 รสชาติ ไม่ได้มีให้เลือกมากถึง 8 รสชาติหลัก เช่นเดียวกับเลย์ ขนมมันฝรั่งทอดกรอบที่ทุกๆ ปีจะมีการออกรสชาติใหม่ให้ผู้บริโภคได้ลองอะไรที่ไม่จำเจ แต่ในมุมการตลาด การทำแบบนี้ก็นับเป็นข้อได้เปรียบด้วย เนื่องจากบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้ง่าย ต้นทุนมีแนวโน้มต่ำลง อารมณ์เดียวกับเวลาซื้อของยกโหล รวมไปถึงยังเป็นการสร้างภาพจำที่ง่ายในระยะยาวด้วย

‘คุ้มค่าทุกคำ’ ทุกครั้งที่หยิบเข้าปาก

บรรดาสาวกน่าจะทราบกันเป็นอย่างดีว่า ขนมดังกล่าวมีแพคเกจหลากหลายขนาด ตั้งแต่เล็ก กลาง ใหญ่ ไปจนถึงบิ๊กแพ็ค ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกินเล่น กินกับเพื่อน หรือแม้กระทั่งการกินอย่างจริงจัง อีกทั้ง ภายในก็มีปริมาณที่สมเหตุสมผลกับราคาที่จ่ายไป

จีบลูกค้าให้ติดด้วย ‘Pull Marketing’ หมัดเด็ดของเจ๊ดัน

จริงๆ แล้ว ขนมมะเขือเทศกับขนมพริกหยวกไม่ได้วางขายแค่ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น แต่ยังขายที่ร้านโชห่วยในตลาด และชุมชนตามโมเดลของ Pull Marketing ด้วย โดยการหาซื้อได้ง่าย ขายคล่อง และกระจายสินค้าที่ครอบคลุมนี้ถือเป็นแต้มต่อชั้นดีที่ช่วยให้ผู้บริโภคจดจำได้เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะซื้อไปกินมากขึ้นนั่นเอง

ข่าวไวรัลของหัวหน้าฮงหรือคิมซอนโฮที่ขนขนมมะเขือเทศกลับเกาหลีไปเป็นลังเป็นสิ่งที่สะท้อน ‘ความน้อย แต่เอาอยู่’ ของเอฟเอฟได้เป็นอย่างดี และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ที่จริง เราไม่จำเป็นต้องเข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม รีแบรนด์ดิ้ง รีแพจเกจจิ้ง และจ้างพรีเซ็นเตอร์ระดับซุปตาร์ด้วยซ้ำ หากรักษาคุณภาพ ใช้ไพ่ในมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราก็สามารถเอาชนะคู่แข่งได้เช่นกัน

สำหรับวัยรุ่นยุค Y2K ที่เติบโตมาพร้อมกับขนมมะเขือเทศ และขนมพริกหยวก ถึงจะดีใจกับการมาของรสบาร์บีคิว แต่ที่แน่ๆ คือ อาจรู้สึกเครียดว่า แล้วรสชาติถัดไป เมื่อถึงเวลานั้น เราจะยังมีฟันเคี้ยวหรือมีชีวิตอยู่ให้ได้กินทันอีกรึเปล่า?

Source: https://bit.ly/3KgXAuQ